Credit Rating บอกอะไรบ้าง ลงทุนหุ้นกู้ต้องรู้
การลงทุนหุ้นกู้นั้น Credit Rating เป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยนักลงทุนตัดสินใจ หุ้นกู้ตัวไหนยิ่งได้เครดิตเกรดสูง ๆ คนยิ่งสนใจเพราะดูน่าเชื่อถือ แต่ก็จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าหุ้นกู้ที่เครดิตเกรดต่ำกว่า
แต่ Credit Rating ไม่ใช่สิ่งเดียวที่บอกความเสี่ยงในการลงทุนหุ้นกู้ และแม้ผู้ประเมินจะตัดเกรดเครดิตหุ้นกู้บนข้อมูลที่มีอย่างแม่นยำแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเวลาผ่านไปหุ้นกู้จะคงอยู่ที่ความเสี่ยงระดับเดิมตลอด
สิ่งที่นักลงทุนอย่างเราจะทำได้ก็คือทำความเข้าใจว่าการประเมิน Credit Rating มีวิธีการอย่างไร ใช้ข้อมูลอะไรมาพิจารณาบ้าง และมีความเสี่ยงอะไรอีกบ้างที่ไม่ได้สะท้อนอยู่ในเครดิตเกรดของหุ้นกู้เสมอไป เพื่อให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนหุ้นกู้ได้โดยเข้าใจข้อมูลรอบด้าน
ในบทความนี้เราจะพูดถึง
- Credit Rating คืออะไร มีไว้ทำไม
- การจัด Credit Rating ของหุ้นกู้ทั่วไป
- การจัด Credit Rating หุ้นกู้ Crowdfunding ของ PeerPower
- ธุรกิจแบบไหนมีแนวโน้มได้ Credit Rating สูง
- ความเสี่ยงหุ้นกู้ที่ Credit Rating ไม่ได้บอก
Credit Rating หรือการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ คือการประเมินความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้แต่ละตัวว่ามีความเป็นไปได้ที่จะชำระหนี้ได้ครบตรงตามเวลามากน้อยแค่ไหน ซึ่งความน่าเชื่อถือนี้มีผลต่ออัตราดอกเบี้ยอย่างที่เข้าใจกันว่า “high risk, high return” ยิ่งสินทรัพย์มีความเสี่ยงมาก ก็ยิ่งให้ผลตอบแทนสูงเพื่อดึงดูดนักลงทุน หุ้นกู้ที่ได้เครดิตเกรด B ต้องให้อัตราดอกเบี้ยเยอะกว่าหุ้นกู้เครดิตเกรด A เป็นธรรมดา ดังนั้น Credit Rating จึงเป็นตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ด้วย
สรุปคือ Credit Rating จึงเป็นข้อมูลให้นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุนหุ้นกู้ ว่านักลงทุนรับความเสี่ยงได้เท่าไหร่ และต้องการผลตอบแทนมากแค่ไหน
หุ้นกู้หรือตราสารหนี้ (bond) ที่ซื้อขายกันในตลาดทั่วไป มีข้อกำหนดว่าต้องผ่านการประเมิน Credit Rating จากบริษัทจัดอันดับเครดิต (credit rating agency หรือ CRA) ที่ได้รับการรับรองโดยสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยมีอยู่ 2 เจ้า นั่นคือบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยจะจัดอันดับเป็นเกรดตั้งแต่สูงสุดคือ AAA+ ไปจนถึงต่ำสุดคือ D
Credit Rating ของหุ้นกู้ในตลาดทั่วไปอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
- Investment Grade หรือ “ระดับลงทุน” คือหุ้นกู้ที่ได้เรตติงตั้งแต่ AAA+ จนถึง BBB-
- Non-investment grade หรือ “ต่ำกว่าระดับลงทุน” คือหุ้นกู้ที่ได้เรตติงตั้งแต่ BB+ จนถึง D
การลงทุนหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงนั้น ก.ล.ต. มีข้อกำหนดให้ผู้ให้บริการคราวด์ฟันดิงป็นผู้จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้เอง โดยใช้โมเดลการประเมินเครดิตที่ ก.ล.ต. รับรอง
สำหรับ PeerPower เราจัดอันดับเครดิตเกรดหุ้นกู้โดยผู้เชี่ยวชาญ แบ่งเป็น 5 เกรดดังนี้
- เครดิตเกรด A ดอกเบี้ย 9-12% ต่อปี
- เครดิตเกรด B ดอกเบี้ย 12.5-14.5% ต่อปี
- เครดิตเกรด C ดอกเบี้ย 14.5-16.5% ต่อปี
- เครดิตเกรด D ดอกเบี้ย 17.5-20.5% ต่อปี
- เครดิตเกรด HR(High Risk/ ความเสี่ยงสูง) ดอกเบี้ย 21.5 - 22% ต่อปี
เครดิตเกรดของหุ้นกู้ PeerPower ประเมินจากอะไรบ้าง
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าสิ่งที่ใช้พิจารณาจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Credit Rating ของหุ้นกู้นั้นล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลที่วัดได้เป็นตัวเลขชัดเจนตามเอกสารทั้งสิ้น
ลองนึกถึงตอนที่คุณจะเปิดบัตรเครดิตใบใหม่ หลักฐานที่คุณต้องยื่นโดยทั่วไปแล้วก็คือสลิปเงินเดือน หรือ bank statement จากนั้นบริษัทบัตรเครดิตก็จะไปเช็กคะแนนเครดิตของคุณจากศูนย์เครดิตบูโร ดูว่าที่ผ่านมาคุณจ่ายหนี้บัตรเครดิตตรงเวลาไหม ในการพิจารณาเครดิตของหุ้นกู้ก็เช่นกัน เจ้าหน้าที่จะพิจารณาจากรายได้ของบริษัท กับประวัติการชำระหนี้ของบริษัทเป็นหลัก
การประเมินเครดิตเกรดของหุ้นกู้ PeerPower พิจารณาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ
- ความสามารถในการชำระหนี้ (ability to pay)
- ความตั้งใจในการชำระหนี้ (willingness to pay)
ความสามารถในการชำระหนี้
วัดจากการหมุนเวียนเงินสดและการเดินบัญชีของบริษัทผู้กู้ โดยอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ธุรกิจที่มีเงินหมุนเข้าออกต่อเนื่อง ก็มีแนวโน้มจะมีรายรับเพื่อนำมาชำระหนี้ได้มากกว่า ในทางกลับกัน ธุรกิจที่มีรายรับก้อนใหญ่ แต่นาน ๆ จึงจะมีเข้ามาซักก้อน แบบนี้มีความเสี่ยงมากกว่าเพราะในช่วงที่ธุรกิจไม่มีรายรับเลยก็อาจไม่สามารถชำระหนี้ได้
หลักฐานที่ใช้ประกอบการพิจารณา Credit Rating ในด้านนี้ เช่น งบการเงินของบริษัท รายการเดินบัญชี แบบแสดงรายการสรุปภาษีซื้อ-ภาษีขาย (ภ.พ. 30) ซึ่งเอกสารเหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีกระแสเงินสดเข้ามามากน้อยและบ่อยแค่ไหน
นอกจากนี้ PeerPower ยังพิจารณาข้อมูลการซื้อขายในช่วงที่ผ่านมาของบริษัทเพื่อประเมินความแข็งแกร่งทางการเงินของธุรกิจที่มาขอออกหุ้นกู้ด้วยข้อมูลที่อัพเดทที่สุด
ตัวอย่าง
ธุรกิจ A ขายของออนไลน์ มียอดขายทุกวัน วันละประมาณ 40,000 บาท แต่มีกำไรแค่วันละ 10,000
ธุรกิจ B รับเหมาก่อสร้าง มีโครงการเข้ามา 6 เดือนครั้ง โครงการละ 20 ล้านบาท ได้กำไรโครงการละ 10 ล้านบาท
คุณคิดว่าถ้าธุรกิจทั้งสองเจ้านี้มาออกหุ้นกู้ เจ้าไหนน่าจะได้เครดิตเกรดดีกว่ากัน
คำตอบคือธุรกิจ A ครับ เพราะถึงแม้จะมีกำไรแค่เดือนละ 300,000 บาท แต่เนื่องจากมีรายรับสม่ำเสมอ จึงน่าจะมีความสามารถชำระหนี้ได้มากกว่าธุรกิจ B ที่ถึงแม้จะมีกำไรทีละหลัก 10 ล้านบาท แต่อาจมีช่วงว่างที่จะไม่มีรายได้เลยยาวเป็นเวลาหลายเดือน เป็นความเสี่ยงว่าอาจจะไม่มีเงินมาชำระหนี้ตามกำหนด
ความตั้งใจในการชำระหนี้
ตัวเลขในกระดาษอาจจะบอกเราไม่ได้ว่าบริษัทที่มาขอกู้นี้ตั้งใจจะเบี้ยวหนี้หรือไม่ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการดูประวัติการชำระหนี้ที่ผ่าน ๆ มาของบริษัท ถ้าหากบริษัทนี้ที่ผ่านมาตลอด 5 ปีชำระหนี้ตรงเวลาทุกครั้ง ก็มีแนวโน้มว่าครั้งนี้บริษัทคงจะชำระหนี้ตรงเวลาเช่นกัน
นี่เป็นสาเหตุที่ว่าบริษัทใหม่ ๆ หรือแม้แต่บริษัทที่เปิดมานานแล้วแต่ไม่เคยมีประวัติการกู้เงินเลย การจะขอสินเชื่อครั้งแรกอาจได้วงเงินไม่สูง หรือเงื่อนไขการกู้ไม่ดีเท่าไหร่ นั่นเพราะว่าการไม่มีประวัติชำระหนี้ทำให้นักวิเคราะห์เครดิตไม่สามารถให้คะแนนส่วนนี้ได้ Credit Rating ที่ได้จึงต่ำกว่าบริษัทที่มีประวัติการชำระหนี้ต่อเนื่อง และชำระตรงเวลามาตลอด แต่ผู้ประกอบการที่เพิ่งจะเริ่มกู้เงินครั้งแรกก็ไม่ต้องกลัวไป เพราะเมื่อคุณเริ่มมีประวัติการชำระหนี้ที่ดีแล้ว การกู้ครั้งต่อ ๆ ไปก็ไม่ใช่เรื่องยาก
หลักฐานที่ใช้ประกอบการพิจารณาในด้านนี้ก็คือประวัติการชำระหนี้ หรือรายงานเครดิตบูโรของบริษัท ซึ่งสามารถขอได้จากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าศูนย์เครดิตบูโร นอกจากนี้หากเป็นบริษัทที่เคยออกหุ้นกู้กับ PeerPower มาก่อน เราก็จะนำประวัติการชำระคืนหุ้นกู้ที่ผ่านมามาใช้ประกอบการพิจารณาเครดิตเกรดของหุ้นกู้ตัวใหม่ด้วย
อย่างที่ได้อธิบายไปว่าปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้นั้นวัดจากการหมุนเวียนเงินสด ดังนั้นธุรกิจที่มีแนวโน้มจะได้คะแนนสูงในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจึงมักมีลักษณะดังนี้
- ธุรกิจที่มีกระแสรายรับเข้าบริษัทอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสได้เครดิตเกรดสูงกว่าธุรกิจที่รับงานเป็นโครงการ (project-based) หรือมีรายรับเข้ามาเป็นก้อน ๆ ไม่แน่ไม่นอน
- ธุรกิจที่มีอำนาจต่อรองกับลูกค้าและคู่ค้าสูง เช่น สามารถกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินกับคู่ค้าได้ด้วยตัวเอง หรือสามารถต่อรองให้ลูกค้าจ่ายเงินสดเป็นค่าสินค้า/บริการได้ก่อนจัดส่ง
- ธุรกิจที่มีหลักฐานแสดงให้เห็นรายรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
- ธุรกิจที่มีฐานลูกค้าใหญ่และหลากหลาย ยิ่งจำนวนลูกค้ามีมากและหลากหลาย ก็ยิ่งกระจายความเสี่ยงได้ดีเพราะไม่ต้องพึ่งพาลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นธุรกิจที่พึ่งพาลูกค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า ถึงแม้จะทำกำไรได้ดี แต่ถ้าลูกค้าหายไปซักเจ้า อาจหมายถึงรายได้ที่หายไปครึ่งหนึ่งเลยก็ได้
ทำไมบางธุรกิจดูงบขาดทุนตลอด แต่ยังได้ Credit Rating สูง ?
นักลงทุนหุ้นกู้มักมีคำถามว่าทำไมบริษัทนี้งบการเงินขาดทุนตลอดแต่ยังได้เครดิตเกรดสูง แต่หากพิจารณาปัจจัย 4 ข้อด้านบนสำหรับธุรกิจที่มีแนวโน้มได้เครดิตเกรดสูงแล้วก็จะพบว่าบริษัทที่มีทั้ง 4 ข้อนี้อาจไม่จำเป็นต้องทำกำไรก็ได้
อย่างที่เราได้อธิบายไปว่าการจัดอันดับ Credit Rating นั้นจัดตามประวัติการชำระหนี้และกระแสเงินสดของบริษัท ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับผลกำไรหรือขาดทุนของธุรกิจ ต่อให้ธุรกิจมีตัวเลขกำไรเยอะ แต่ถ้าไม่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ก็ไม่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ ในทางกลับกันธุรกิจที่มีกระแสเงินสดสม่ำเสมอ แม้จะขาดทุนติดต่อกันหลายปีแต่ก็สามารถนำเงินไปใช้ทำธุรกิจได้ต่อเนื่องโดยไม่เจ๊ง
หุ้นกู้ที่ได้ Credit Rating A แปลว่าน่าลงทุนกว่าหุ้นกู้เกรด C เสมอไปหรือเปล่า ?
คำตอบสั้น ๆ คือไม่เสมอไป
การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้นั้นวัดจากข้อมูลที่วัดได้เป็นตัวเลขชัดเจนเท่านั้น (เช่น งบการเงิน รายงานเครดิตบูโร) แต่อันที่จริงยังมีปัจจัยความเสี่ยงอื่น ๆ ที่นักลงทุนควรพิจารณาให้รอบคอบอีก ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการบริหาร (บริษัทมีการบริหารงานเป็นระบบหรือไม่) ลูกค้าของบริษัทมีสถานะทางการเงินแข็งแรงดีหรือเปล่า หรือเรื่องความโปร่งใสในองค์กร
ปัจจัยที่ว่ามานี้ล้วนมีผลต่อความเสี่ยงของบริษัท แต่เนื่องจากไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างตรงไปตรงมาจึงไม่สามารถนำมาตัดเกรดได้ ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่นักลงทุนหุ้นกู้ควรใช้วิจารณญาณตัดสินใจด้วยตัวเองโดยอาศัยข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนที่ PeerPower มีรวบรวมไว้ให้สำหรับหุ้นกู้ทุกตัวที่ขึ้นระดมทุน
ความเสี่ยงของอนาคต
สุดท้ายแล้ว อย่าลืมว่าการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ก็เหมือนกับการตรวจสุขภาพ (ทางการเงินของบริษัท) ตรงที่ข้อมูลที่เราได้มาเป็นเพียงข้อมูล ณ เวลาที่เราทำการประเมินเท่านั้น โดยไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าข้อมูลเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
ลองนึกดูว่าถ้าบริษัทที่เราลงทุนหุ้นกู้ด้วยเผชิญสถานการณ์บางอย่างที่เปลี่ยนไป ความสามารถในการหารายได้ของบริษัทจะเปลี่ยนไปหรือไม่ เช่น
- ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไป
- สถานการณ์คู่แข่งในตลาดเปลี่ยนไป
- ข้อกำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนไป
- รูปแบบการขนส่งและความสามารถในการจัดขายจัดส่งเปลี่ยนไป
นอกจากนี้ยังมีอีก 7 ปัจจัยที่นักลงทุนอาจสนใจอยากพิจารณาเพื่อดูว่าบริษัทที่เราลงทุนด้วยมีแนวโน้มจะเติบโตได้ดีหรือไม่ เราได้รวบรวมมาไว้ให้อ่านเพิ่มเติมได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น PeerPower ขอย้ำเสมอว่านักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทผู้ออกหุ้นกู้อย่างละเอียดด้วยตนเอง เพราะสุดท้ายแล้วการลงทุนทุกชนิดก็มีความเสี่ยงทั้งสิ้น อยู่ที่เราจะเลือกความเสี่ยงที่เหมาะสมกับเราแค่ไหน
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนได้ลงทะเบียนและผ่านการทำแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว