Perspectives

มีเงิน 100,000 บาทลงทุนอะไรดี ? เริ่มง่าย ๆ กับสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ

by
PeerPower Team
January 13, 2023

มีเงิน 100,000 บาทลงทุนอะไรดี? เริ่มง่าย ๆ กับสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ

คำถามว่ามีเงินเท่านั้นเท่านี้ ลงทุนอะไรดี เป็นคำถามที่เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ บางคนมีเงินเย็นหลักหมื่น หลักแสนก็อยากหาทางลงทุนต่อยอดให้เงินงอกเงย แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปลงหุ้นตัวไหน กระจายความเสี่ยงยังไงดี แถมในสภาวะที่ตลาดผันผวนแบบนี้จะวางเงินลงทุนแต่ละทีก็ใจหาย 

บล็อกนี้ PeerPower เลยจะมาตอบคำถามว่า ถ้ามีเงิน 100,000 บาท นอนอยู่ในบัญชีเฉย ๆ คุณจะสามารถลงทุนอะไรได้บ้าง และลงทุนอะไรดีที่สุดสำหรับคุณ เคสนี้อาจเป็นแนวทางให้ลองไปประยุกต์เป็นวิธีของตัวเองได้ 

สเต็ปการเริ่มลงทุน อาจแบ่งคร่าว ๆ ได้ประมาณนี้

1. ก่อนเริ่มลงทุน โปรดแบ่งเงินสำรอง

2. เลือกลงทุนอะไรดี ?  คำถาม checklist ตั้งเป้าหมายการลงทุน 

3. สินทรัพย์นอกกระแส ตัวเลือกลงทุนที่ดี

1. ก่อนเริ่มลงทุน โปรดแบ่งเงินสำรอง

แน่นอนว่าทุกคนต้องการรวยเร็ว ลงทุนหลักแสนทั้งทีก็อยากที่จะรวยไวเลยเทหมดหน้าตัก ซึ่งเสี่ยงมากเพราะเรื่องเงินทองไม่มีอะไรแน่นอน อาจมีเรื่องฉุกเฉินต่าง ๆ ที่ทำให้ต้องเสียเงินอย่างไม่คาดฝัน

ดังนั้นก่อนที่จะลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ ก็ตาม แม้จะมีความเสี่ยงน้อยแค่ไหน โปรดออมเงินสำรอง

บางคนแนะนำให้ออมไว้ 20% จำนวนเท่านั้นอาจเห็นภาพยาก โดยส่วนตัวเราขอแนะนำให้กันเงินสำรองไว้ส่วนหนึ่งโดยคำนวณไว้เผื่อสัก 3-6 เดือน 

เช่น หากโดยเฉลี่ยคุณมีรายจ่ายประจำราว 10,000 บาท คุณอาจจะกันเงินส่วนนี้สำรองไว้สัก 3 เดือน คิดเป็น 30,000 ซึ่งเงินจำนวนนี้ต้องเก็บเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินจริง ๆ ไม่ควรเอามาจ่ายตามใจ 

2. เลือกลงทุนอะไรดี ? คำถาม checklist ตั้งเป้าหมายการลงทุน

มีเงิน 100000 ลงทุนอะไรดี?เริ่มง่าย ๆ ที่สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ

สมมุติถ้าหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว คุณเหลือเงินที่พร้อมลงทุนทั้งสิ้น 100,000 บาท ขั้นตอนต่อมาคือคุณต้องตั้งคำถามว่าจะลงทุนไปทำไม เราขอแนะนำให้คุณลองตั้งคำถามเหล่านี้เพื่อที่จะสโคปลงได้ว่าสินทรัพย์ประเภทไหนที่น่าจะตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนของคุณ

1. ลงทุนไปเพื่ออะไร ?

คำตอบแรกที่เราได้ยินบ่อย ๆ คือ ลงทุนเพราะอยากรวย อันนี้เราเห็นด้วย แต่ควรตอบให้ได้ด้วยว่า “รวย” ในที่นี้หมายถึงอะไร 

สำหรับบางคน “รวย” อาจหมายถึงมีเงินใช้ไม่ขาดมือ ดังนั้นการลงทุนประเภทที่น่าจะตอบโจทย์คือการสร้างกระแสเงินสดเพื่อความยั่งยืนทางการเงินให้กับตัวเอง เน้นลงทุนระยะสั้น  สินทรัพย์ที่สามารถลงทุนได้อาจเป็นหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงที่ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยทุกเดือน หรือ กองทุนรวมประเภท Income Fund ต่าง ๆ 

สำหรับบางคน “รวย” อาจหมายถึงมีเงินใช้หลังเกษียณแบบที่อยู่ได้ไม่ลำบาก ดังนั้นคุณอาจจะต้องการลงทุนระยะยาวใน ตราสารหนี้ หรือ พันธบัตรรัฐบาล รอเก็บเงินทบต้นทบดอกให้ผลตอบแทนงอกเงยในเวลา 10-20 ปี พอเกษียณก็มีเงินก้อนใช้ เราเขียนบล็อกวางแผนลงทุนรับมือเกษียณด้วยนะ ลองอ่านได้ที่นี่

สำหรับบางคน “รวย” อาจหมายถึงมีเงินกองท่วมหัว สมมุติคุณต้องการที่จะรวยแบบนี้ ลองถามข้อต่อไปกับตัวเอง 

2. รับความเสี่ยงได้แค่ไหน ?

การลงทุนมีความเสี่ยง 3 ประเภท คือ ความเสี่ยงจากตลาด ความเสี่ยงจากธุรกิจเอง และความเสี่ยงที่เป็นผลมาจากเวลาหรือการคาดการณ์ต่าง ๆ สินทรัพย์แต่ละประเภทมีความเสี่ยงต่างกัน เคยเล่าไปแล้วก่อนหน้า อ่านรายละเอียดต่อที่นี่ 

สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนมากมักต้องแลกกับความเสี่ยงมาก แต่ละคนสามารถรับความเสี่ยงได้ต่างกัน นักลงทุนบางคนรับได้ที่จะเสียหลักแสนแลกกับผลตอบแทนหลักล้าน ในขณะที่บางคนเงินหลักพันยังเสียดาย ลองถามตัวเองว่าจะรับได้แค่ไหนถ้าต้องเสียเงินไปเปล่า ๆ จะยังหลับสบายเหมือนเดิมหรือกินข้าวอร่อยมั้ย? เพราะหากลงทุนในสินทรัพย์ที่ต้องลุ้นตลอดเวลาว่าจะเป็นยังไงต่อไป อนาคตการลงทุนคุณอาจจะหาความสบายใจยาก 

คุณอาจลองเลือกดูว่ามีสินทรัพย์อะไรบ้างที่คุณลงทุนได้ตามความเสี่ยงที่คุณที่รับไหว ซึ่งภาพข้างล่างอาจตอบได้ส่วนหนึ่งว่าคุณควรลงทุนอะไรดี

ลงทุนอะไรดี ระดับความเสี่ยงของสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ
ระดับความเสี่ยงของสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เรียงขึ้นจากน้อยไปมาก

สมมุติในกรณีที่คุณยินดีรับความเสี่ยงได้สูงมาก ตราสารอนุพันธ์อาจตัวเลือกลงทุนที่เหมาะสม แต่ถ้าคุณรับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ - กลาง สินทรัพย์อื่น ๆ ก็อาจจะตอบคำถามได้ว่าคุณควรลงทุนอะไร

เราลองทำตารางมาว่า ถ้าลงทุน 100,000 บาท ถ้วน คุณสามารถลงทุนอะไรและสินทรัพย์แต่ละตัวมีความเสี่ยงอะไร ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์เหล่านี้คลาดเคลื่อนตลอด แต่อย่างน้อยที่สุดคุณอาจจะพอเห็นภาพว่าควรลงทุนอะไรดี และมีอะไรเป็นตัวเลือกให้คุณได้บ้าง 

มีเงิน 100,000 บาทลงทุนอะไรได้บ้าง ระยะเวลาลงทุนโดยเฉลี่ย ความเสี่ยง
ตราสารอนุพันธ์ 12 เดือน มีความเสี่ยงสูงมากเพราะอ้างอิงกับราคาในอนาคตของสินค้าที่มีความผันผวนสูง
พันธบัตรรัฐบาล 12 เดือน ออกโดยรัฐบาล มีความคล่องตัวต่ำและอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม หากซื้อระยะยาวยัง ผลตอบแทนอาจไม่คุ้มค่า
ฝากประจำ 12 - 36 เดือน มีความปลอดภัยสูง ผลตอบแทนต่ำ
ตราสารหนี้ (หุ้นกู้) 3-5 ปี ออกโดยเอกชน โอกาสผิดนัดชำระสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล
กองทุนรวม ไม่กำหนด ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่ลงทุน ผันผวนตามตลาด
หุ้น ไม่กำหนด ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่ลงทุน ผันผวนตามตลาด
หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงของ PeerPower 2-18 เดือน บริษัทขนาดเล็กกว่าในตลาดหลักทรัพย์ มีความเสี่ยงมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป

ทั้งนี้ ตารางนี้เป็นแค่ข้อมูลคร่าว ๆ เพราะในประเภทสินทรัพย์เดียวกัน ก็ยังมีโอกาสได้ผลตอบแทนและความเสี่ยงไม่เท่ากัน

เช่น หุ้นหรือกองทุนรวมที่อยู่ในตลาดเกิดใหม่หรือ emerging market (นึกถึงกองทุนจีน เวียดนาม) หรือบริษัทขนาดเล็ก (small-cap) นั้นมีโอกาสขึ้นเร็วลงแรง อาจจะกำไรมหาศาลหรือขาดทุนได้ในพริบตา จึงเหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มาก ในขณะที่นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยกว่าก็อาจจะเลือกลงทุนในหุ้นบริษัทประเภท defensive ที่เติบโตแบบช้าแต่ชัวร์มากกว่า

พอรู้ข้อมูลความเสี่ยงกับอัตราผลตอบแทนแบบนี้แล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของเราในฐานะนักลงทุนว่าจะเลือกแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ไหน ในสัดส่วนเท่าไหร่บ้าง ที่จะให้ผลตอบแทนอย่างที่เราต้องการ โดยไม่เสี่ยงเกินกว่าที่เรารับไหว ที่สำคัญอย่าลืมศึกษาข้อมูลสินทรัพย์ที่เราจะลงทุนอย่างละเอียด เพราะนั่นจะทำให้เราลงทุนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

3.สินทรัพย์นอกกระแส ตัวเลือกลงทุนที่ดีเหมือนกัน

นอกจากสินทรัพย์ที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีสินทรัพย์ทางเลือกหรือสินทรัพย์นอกกระแสอื่น ๆ ที่สามารถลงทุนได้เหมือนกัน เช่น 

คราวด์ฟันดิง

คราวด์ฟันดิงจัดเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ผันผวนตามตลาด และเป็นสินทรัพย์ private asset นอกตลาดหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ตลอดอายุสัญญา ดอกเบี้ย fix rate และเป็นงวดรายเดือนจึงเหมาะเป็นสินทรัพย์ลงทุนเพื่อสร้างกระแสเงินสด

ข้อดีคือเมื่อไม่ผันผวนก็ไม่ต้องมาลุ้นว่าวันนี้จะขึ้นจะลงเท่าไหร่ แต่ข้อเสียคือสินทรัพย์ประเภทมีความเสี่ยงเหมือนหุ้นกู้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ผู้ออกหุ้นกู้อาจไม่สามารถชำระได้ตามวันที่กำหนด

ทองคำ

เงิน 100,000 ลงทุนซื้อทองคำได้ประมาณ 2 บาทกว่า ๆ (ถ้าตีว่าทองคำบาทละ 34,600 บาท ตามสถิติเดือน มี.ค. 67) แต่ถ้าซื้อวันนี้ขายวันนี้ ทองรูปพรรณราคาจะตกลงทันทีเกือบ 1,000 บาท เพราะทองเป็นสินทรัพย์ประเภทที่ออกจากร้านเมื่อไหร่ก็จะขาดทุนในวันนั้นทันที กรณีของทองคำแท่ง ราคาขายจะถูกหักไปน้อยกว่า และมูลค่าของทองคำขึ้นอยู่กับน้ำหนัก ซึ่งน้ำหนักของทองสามารถหายไปได้ถ้าเก็บไว้นาน ๆ หรือมีการหยิบจับใช้งานบ่อย ๆ

ดังนั้นถ้าเลือกจะลงทุนกับทองคำ เลือกเป็นทองคำแท่งจะเสียโอกาสน้อยกว่า และถ้าดูสถิติราคาทองคำย้อนหลัง จะพบว่าในระยะสั้น ๆ เช่น 1 ปี การลงทุนกับทองคำมีโอกาสจะขายถูกกว่าซื้ออยู่มาก การลงทุนกับทองจึงน่าจะเหมาะกับการลงทุนระยะยาว คือเก็บไว้ 3 - 5  ปีขึ้นไปมากกว่า แต่ทั้งนี้ด้วยสภาพคล่องของทองคำที่ดีมาก การลงทุนกับทองจึงได้รับความนิยมในทุกยุคทุกสมัย

อสังหาริมทรัพย์

เงิน 100,000 บาท อาจจะดูน้อยเกินไปหากจะซื้อที่ดินหรือคอนโดมิเนียมให้ปล่อยเช่า แต่เงินจำนวนนี้สามารถใช้เป็นการลงทุนระยะสั้นจากการซื้อใบจองอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมแล้วปล่อยขายต่อได้ ซึ่งการขายใบจองสามารถทำกำไรได้ราว 10 - 15% แล้วแต่ทำเลที่คอนโดแห่งนั้นตั้งอยู่ 

สินทรัพย์ Niche Market 

Niche Market คือตลาดเฉพาะกลุ่ม มีทั้งกลุ่มเล็ก - กลุ่มใหญ่ และมีกำลังซื้อมากพอจะผลักดันให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นไปอย่างคุ้มค่า การลงทุนในลักษณะนี้คือการลงทุนในของสะสมหรือของฟุ่มเฟือยต่าง ๆ เช่น ตลาดพระเครื่อง รถยนต์ซูเปอร์คาร์ นาฬิกาหรู ของแบรนด์เนม งานศิลปะ กระเพาะปลา (กระเพาะปลาเก่ามีมูลค่าได้หลักล้าน!) ฯลฯ

ข้อดีของสินทรัพย์ประเภทนี้คือ ถ้าเจอคนซื้อที่มี Passion ในสิ่งนั้น พร้อมจ่าย (แถมถ้าเก็งราคาเก่ง คุณจะได้ผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ) แต่ในขณะเดียวกัน ความยากของการลงทุนในลักษณะนี้คือต้องมีความรู้ในสิ่งนั้นจริง ๆ เพราะไม่ใช่ว่านาฬิกาแบรนด์เดียวกันจะให้ผลตอบแทนในระดับเดียวกันทุกรุ่น และต้องหาให้เจอว่าคนซื้อของคุณคือใคร

ทำธุรกิจส่วนตัว

หมายถึงลงทุนโดยการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นการลงทุนพร้อม ๆ กับลงแรง ความเสี่ยงของการลงทุนทำธุรกิจมีเท่ากับความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ สมมุติถ้ามีเงิน 100,000 ลงทุนทำธุรกิจแบบร้านกาแฟที่เป็น Kiosk เล็ก ๆ หรือซื้อเฟรนไชน์ร้านก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนได้ (เราเคยเขียนเกี่ยวกับการเริ่มต้นธุรกิจ เผื่อใครสนใจลองอ่านได้)

หรือถ้าหากไม่อยากลงแรงตัวเอง ก็สามารถลงเงินให้ผู้ประกอบการในแพลตฟอร์มของ PeerPower ไปต่อยอดธุรกิจก็ได้เช่นกัน 

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของสินทรัพย์ที่น่าจะตอบคำถามได้ว่าคุณควรลงทุนอะไรดี คุณสามารถลองปรับสัดส่วนการลงทุน จัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงเพื่อให้เหมาะกับคุณได้ หรือจะลองลงทุนในหลาย ๆ อย่าง สร้าง multi asset class ก็ได้อีกเช่นกัน 

สุดท้ายนี้ และเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อย่าลืมลงทุนในตัวเอง การศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ในสิ่งที่ลงทุน และตัดสินใจโดยอ้างอิงจากข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนได้เป็นอย่างดี

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร