DCA คืออะไร? ได้ผลจริงไหม? ลงทุนยังไงให้เวิร์ก?
ในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวนรุนแรง เราจะเห็นคอนเท้นต์เกี่ยวกับ “กลยุทธ์ DCA” กันบ่อยขึ้นในทำนองว่า ทำแบบนี้ดีกับการลงทุนระยะยาวเพราะเป็นการสร้างวินัย ฯลฯ แต่พอจะทำจริง ๆ อาจจะยังไม่เห็นภาพว่ามันทำงานยังไง จะเอามาประยุกต์ลงทุนแบบไหนเวิร์ก
บล็อกนี้ PeerPower เราจะขออธิบายสรุปง่าย ๆ ว่า DCA คืออะไร ลงทุนยังไงที่ไหนให้ได้ผล นอกจากข้อดีแล้วเราจะพูดถึงข้อควรระวังให้ชั่งน้ำหนัก เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกคนไปปรับใช้วางแผนการลงทุนให้มีประสิทธิภาพ
TLDR: ทางลัดนักอ่าน
ทดลองลงทุนแบบ DCA กับหุ้นบริษัทผลไม้ชื่อดัง
การลงทุนแบบ DCA มีข้อเสียอะไรบ้าง ควรระวังอะไรเป็นพิเศษ?
เปรียบเทียบการลงทุน DCA กับการลงทุนแบบ Lump Sum
DCA (Dollar-Cost Average) คือ วิธีการลงทุนแบบ “ถัวเฉลี่ย” โดยใส่เงินลงทุนจำนวนเท่าเดิมในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่สนว่าราคาจะขึ้น-ลงเท่าไหร่ ในบางช่วงที่สินทรัพย์แพงกว่าปกติเราก็อาจจะซื้อได้น้อยลง หรือถ้าช่วงไหนที่สินทรัพย์ถูกเราก็อาจซื้อได้มากขึ้น
เมื่อลงทุนต่อเนื่องนาน ๆ แล้วเอาราคาที่ลงทุนทั้งหมดกับสินทรัพย์ที่มีมาถัวเฉลี่ยจะเห็นว่าต้นทุนที่ใช้ไปมีแนวโน้มที่จะถูกกว่าราคาประเมินของตลาด ณ ตอนนั้น
หมายเหตุ funfact สนุก ๆ: ที่เรียก Dollar เพราะทฤษฎีนี้คิดในอเมริกาโดยนาย Benjamin Graham ไม่เกี่ยวว่าต้องใช้เงินดอลลาร์ลงทุน ถ้าทฤษฎีนี้คิดในไทยคงเป็น Baht-Cost Average
สมมติตัวอย่างให้ หุ้นบริษัทผลไม้ชื่อดังราคา 100 บาท/หน่วย แล้วนายโทนี่ลงทุน 200 บาทในหุ้นนี้ทุกเดือน แสดงว่าใน 1 เดือน นายโทนี่จะซื้อหุ้นบริษัทนี้ได้ประมาณ 2 หน่วย
ที่นี้ในความเป็นจริงตลาดผันผวนมาก ๆ บางเดือนมีข่าว บางเดือนออกโปรดักซ์ใหม่ หุ้นเลยขึ้นเป็น 120-150 บาท เพราะฉะนั้นบางเดือนนายโทนี่อาจจะมีหุ้นบริษัทนี้ประมาณ 1-1.5 หน่วยมากน้อยตามราคา แต่ใน 12 เดือนถ้าเอาราคาที่จ่ายมาถัวเฉลี่ยกับจำนวนหุ้นที่มี นายโทนี่มีแนวโน้มที่จะลงทุนในราคาถูกกว่าตลาด
ลองดูตารางคำนวณคร่าว ๆ จากสถิติราคาหุ้นบริษัทผลไม้ปี 2023 (สมมติหน่วยเป็นเงินบาท)
จะเห็นว่าใน 1 ปี นายโทนี่มีหุ้นบริษัทนี้ทั้งหมด 13.806 หน่วยในราคาทั้งสิ้น 2,400 บาท
เทียบกัน หากนายโทนี่ต้องการจะมีหุ้นทั้งหมด 13.806 หน่วยทีเดียว นายโทนี่ต้องใช้เงินประมาณ 2,661.15 บาท (เอาจำนวนหุ้นที่ต้องการ x ราคา ณ ตอนนั้น) แพงกว่าเกือบสองร้อย
กรณีนี้การลงทุนแบบ DCA ทำให้ต้นทุนถูกกว่าการลงทุนแบบซื้อเหมาทีเดียว aka. Lump Sum ฟังแล้วดูได้ประโยชน์ แต่การลงทุนแบบ DCA ก็มีจุดอ่อนที่ไม่เวิร์กเหมือนกัน
ได้ผลเมื่อลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์ที่ผันผวนขึ้น-ลงและมีแนวโน้มที่จะเติบโต แต่ไม่ใช่การลงทุนที่ดีที่สุด
การลงทุนแบบ DCA เหมือนสร้างวินัยบังคับตัวเองให้ทยอยลงทุน ข้อดีคือเราจะอยู่ในวัฎจักรการลงทุนตลอดโดยไม่ต้องมาดูโพยว่าเดือนไหนอะไรจะขึ้น-ลงยังไง เรื่องที่ต้องคิดต่อจะมีแค่ลงทุนอะไรด้วยเงินเท่าไหร่ วิธีนี้สามารถลดความเสี่ยงได้ในแง่ที่เราเลือกกระจาย ทยอยใส่ทยอยซื้อ ไม่ใช่ใส่ทีเดียวล้มทีเดียว
แต่ไม่ใช่ว่าทำวิธีนี้แล้วจะไม่มีวันขาดทุนเลย ตลาดหุ้นย่อมมีขึ้นลงตามวัฎจักรแต่ตราบเท่าที่เราทยอยลงทุน ในสินทรัพย์ที่มาตรฐานดี มีแนวโน้มเติบโต เช่น กองทุนดัชนี หุ้น Blue chip ฯลฯ การลงทุนแบบ DCA จะทำให้เรามีโอกาสกลับมาทำกำไร
ซื้อถูกตอนขาลง แล้วขายแพงตอนขาขึ้นเป็นวิธีที่เวิร์กเสมอ
เพื่อให้กลไก DCA ทำงานอย่างเต็มที่ ควรลงทุนระยะยาวหลักปี ลงทุนสม่ำเสมอ และกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลายประเภทควบคู่กัน เผื่อในช่วงไหนสินทรัพย์ที่ลงทุนแบบ DCA ให้ผลตอบแทนต่ำ จะได้มีสินทรัพย์อื่น ๆ มาช่วยประคอง
ศักยภาพของสินทรัพย์มีผลต่อการลงทุนแบบ DCA
เราจะขาดทุนถ้าดันทุรัง DCA ในสินทรัพย์ที่มีช่วงขึ้นสั้น ๆ และลงต่อเนื่อง เช่น พวกหุ้น speculative หรือ NFT (ที่ตอนนี้ไม่รู้เป็นอย่างไรบ้าง) พวกนี้ถือก็ไม่คุ้มแถมขายก็ยาก
หรือถ้าสินทรัพย์นั้นราคาขึ้นตลอดแถมผลตอบแทนก็เพิ่มขึ้นเป็น bull market แล้วเรายังลงทุนแบบ DCA เท่าเดิม อันนี้จะทำให้เราพลาดโอกาสทำผลตอบแทนทบต้น เพราะเหมือนไปจำกัดเงินตั้งแต่แรก (อ่านหลักการผลตอบแทนทบต้นที่นี่ คลิก)
DCA เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เวลานานและต้องลงทุนสม่ำเสมอกว่าจะเห็นผล อาจพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์ที่ใช้เวลาลงทุนน้อยควบคู่กันเพื่อเพิ่มกระแสเงินสด เช่น หุ้นกู้ระยะสั้น คราวด์ฟันดิง ฯลฯ
นอกจากนั้นแล้วการลงทุนแบบ DCA ควรมีกำหนดเวลาชัดเจนเพื่อตรวจสอบผลตอบแทนและประเมินความเติบโตของสินทรัพย์นั้น ๆ และที่สำคัญคืออย่างลืมกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลากหลายประเภทเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อลงทุน
เแถมตารางเปรียบเทียบระหว่างการลงทุนเทรวดเดียวแบบ Lump Sum กับ DCA เปรียบเทียบให้ดูว่าแบบไหนจะได้ผลตอบแทนเป็นอย่างไร
จากตารางจะเห็นว่าในกรณีที่สินทรัพย์โตคงที่สม่ำเสมอ การลงทุนแบบ Lump Sum จะทำให้ผลตอบแทนโตทบต้นได้ดีกว่า DCA ดังนั้นก่อนลงทุนควรพิจารณาผลข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลัง เผื่อจะได้ไม่พลาดผลตอบแทนทบต้น
อย่าลืมว่าในความเป็นจริงเราไม่สามารถคาดเดาตลาดหรือผลตอบแทนได้ เช่นตลาดหุ้นหรือกองทุนที่แม้จะมี bottomline แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะเป็นอย่างนั้นได้จริง ๆ DCA จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนได้เพื่อป้องกันไม่ให้พอร์ตได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์ความผันผวน และอย่าลืมพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระยะเวลาลงทุนสั้นเพื่อเพิ่มกระแสเงินสดให้เพียงพอและกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนได้ลงทะเบียนและผ่านการทำแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว