วิธีลงทุนกระจายความเสี่ยงแบบคุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์
นอกจากบทบาทการเป็นผู้บริหารแพลตฟอร์มหนังสือออนไลน์ยอดนิยมอย่าง Ookbee และ Joylada แล้ว อีกหนึ่งบทบาทที่หลายคนอาจยังไม่รู้จักของ คุณหมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ คือการเป็น ผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks และนักลงทุน Angel Investor ให้กับบริษัทสตาร์ทอัพหลายเจ้าในไทย
ไม่ว่าจะในบทบาทนักลงทุนหรือนักธุรกิจ การลงทุนของคุณหมูเรียกได้ว่าทั้ง “ไม่หมู” และ “ไม่ธรรมดา” บล็อกนี้ PeerPower จะเล่าเกี่ยวกับแนวคิดการลงทุนของคุณหมูว่าคืออะไร และเขามีแนวคิดอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกระจายความเสี่ยง
ลงทุนเพื่อชนะเงินเฟ้อ: หลักการลงทุนพื้นฐานที่ทุกคนควรทำความเข้าใจ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงานอัตราเงินเฟ้อทั้งปีของไทย 2566 อยู่ที่ 1.2% ดูน้อยนิดและไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ขึ้นเฉลี่ยแทบจะปีละ 3-10% ด้วยซ้ำหากลองคำนวณดู
“นึกถึงอำนาจการซื้อที่ลดลงในแต่ละปี ลองคำนวณว่าเงิน 1,000 ล้านก็อาจมีค่าที่ 550 ล้านแค่ใน 5 ปีด้วยซ้ำถ้าสมมุติให้เงินเฟ้อขึ้นปีละ 10%”
วิธีชนะเงินเฟ้อที่ดีที่สุดคือการลงทุน ซึ่งก็ต้องมาพิจารณาว่า asset class หรือ สินทรัพย์ประเภทไหนที่จะให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อได้ คุณหมูให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “เงินฝากธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยน้อยอาจแพ้เงินเฟ้อในระยะยาว หรือแม้กระทั่งอสังหาริมทรัพย์เองก็อาจให้ผลตอบแทนเทียบเท่ากับเงินเฟ้อด้วยซ้ำถ้าไม่ได้ต่อยอดไปทำอย่างอื่น”
Risk หรือ Reward? คุ้มแค่ไหนถ้าจะลงทุนสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง
เมื่อก่อนเวลาพูดถึงสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงคนจะนึกถึงหุ้น แต่ปัจจุบันเราอาจจะมอง “ความเสี่ยง” แบบเดิมไม่ได้เพราะต่อให้ของที่ในตำราบอกว่ามีความเสี่ยงน้อยมากเช่น หุ้นกู้ ทุกวันนี้ก็มีความเสี่ยงเทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่าหุ้นปกติด้วยซ้ำไป
“แม้กระทั่งเงินต้นที่อยู่ในบัญชีเฉย ๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะแพ้เงินเฟ้อเพราะค่าเงินลดทุกวัน วิธีรับมือคือต้องกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ agressive บ้าง แต่ใส่ในสัดส่วนน้อยเท่าที่พอจะรับไหว”
การกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงสามารถมองได้ 2 มุมคือเป็นทั้ง Risk และ Reward
ถ้าลงทุนมากเกินไป วันหนึ่งเมื่อผลตอบแทนไม่เป็นไปอย่างที่คิด สิ่งนี้จะกลายเป็นความเสี่ยงให้ผิดหวังทันที กลับกันถ้าจำกัดความเสี่ยงตั้งแต่แรกโดยลงทุนแค่เท่าที่รับไหว ต่อให้ใส่เงินน้อยแค่ไหนผลตอบแทนที่ได้กลับมาอาจจะคุ้มกับที่ลงทุนไปและกลายเป็นกำไรในท้ายที่สุด
“อย่ามองว่าอะไรเสี่ยงเลยไม่ลง การที่ไม่มีของที่เสี่ยงเลยในพอร์ตอาจจะเสี่ยงกว่า ดังนั้นควรเผื่อโอกาสให้สินทรัพย์ประเภทอื่นมาทำกำไรด้วยเช่นกัน อย่าลงทุนแค่ในสินทรัพย์ประเภทเดียว” คุณหมูอธิบายเสริม
ลงทุนที่ยั่งยืนที่สุดคือการลงทุนตามความชอบ
ข้อคิดสุดท้ายที่คุณหมุได้เล่าให้เราฟังคือการ “ลงทุนตาม Passion” ที่แตกต่างกันแล้วแต่คน
บางคนลงทุนในทองเพราะชอบความมั่นคง บางคนลงทุนในกระเป๋าแบรนด์เนมหรือนาฬิกาเพราะอยากเอาออกมาใช้ ต่างกันต่างมีความชอบกันละแบบ
“ผมชอบลงทุนใน startup ซึ่งต้องพิจารณาในตัวผู้ก่อตั้ง ศักยภาพจะเป็นยังไง บริษัทจะโตแบบไหน ตัวผู้ก่อตั้งจะเป็นคนกำหนด”
การลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทสตาร์ทอัพหรือแม้กระทั่งในคราวด์ฟันดิงเอง ต่างจากการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เพราะไม่มีตลาดเทรดและเปลี่ยนมือยาก ดังนั้นควรพิจารณาตัวผู้ก่อตั้ง ชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ ประกอบ การตัดสินใจลงทุนเพราะสิ่งนี้จะบอกความสามารถของบริษัทได้ชัดเจนที่สุด
ทั้งหมดนี้คือข้อคิดการลงทุนที่เราได้จากคุณหมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ในบล็อกหน้าเราจะเอาเรื่องอะไรมาฝาก อย่าลืมติดตามกันได้ที่ Facebook: PeerPowerTH
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่าน เพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว