Perspectives

4 แนวโน้มเศรษฐกิจปี 67 นักลงทุนควรเตรียมรับมือยังไง?

by
PeerPower Team
January 23, 2024

4 แนวโน้มเศรษฐกิจปี 67 นักลงทุนควรเตรียมรับมือยังไง?

ห่างหายไปนานกับ Perspective คอลลัมน์ที่เราจะมาเล่าข่าวเศรษฐกิจและจับตาดูเทรนด์ตลาดหาโอกาสลงทุนที่น่าสนใจ ดังนั้นเปิดปีนี้ อะไรจะดีไปกว่าการมาเล่า “แนวโน้มเศรษฐกิจประจำปี 2567”

ปี 2566 เรียกได้ว่าเป็นปีที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและสารพัดเทรนด์เกิดใหม่ ทั้งปัญหาเงินเฟ้อ ธนาคารล่มในอเมริกา การเปิดตัวของเทคโนโลยี AI ChatGPT หุ้นกู้บริษัทใหญ่ผิดนัดชำระ ไปจนถึงการเลือกตั้งรัฐบาลในไทยที่ทำเอาตลาดหุ้นติดตัวแดงไปหลายสัปดาห์

ในปี 2567 นี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักมีความเห็นว่า “เศรษฐกิจจะผ่อนคลายลงในหลายประเทศ แต่การเมืองจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ” แนวโน้มที่ต้องระวังจะมีอะไรบ้าง นักลงทุนควรรับมืออย่างไร เลื่อนอ่านด้านล่างได้เลยย

แนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ในปี 2567 นี้

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 PeerPower

1. เงินเฟ้อคงที่ ดอกเบี้ยลดลง (หรือคงที่ในบางประเทศ) แต่เศรษฐกิจชะลอตัว

ผ่านมาแล้ว 3 ปีในที่สุด Fed ก็หยุดขึ้นดอกเบี้ย

หลังการประกาศขึ้นดอกเบี้ยติด ๆ มาหลายเดือน ในที่สุด Fed ก็หยุดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา (สักที) ปัจจุบัน - ม.ค. 2567 - อัตราดอกเบี้ยคงตัวอยู่ที่ 5.25% - 5.50% นักวิเคราะห์กล่าวว่านี่อาจเป็นช่วง “Soft Landing” ของเศรษฐกิจในอเมริกา

IMF รายงานว่าในปีนี้ทั่วโลกเศรษฐกิจจะโตที่ประมาณ 2.9% ในขณะที่เอเชียมีความเป็นไปได้ที่จะโตมากกว่าอยู่ที่ประมาณ 4.2% ฟังเป็นสัญญาณที่ดี ยิ่งถ้าบวกกับสถิติของตลาดหุ้นในเอเชียปีล่าสุดแล้วก็ยิ่งดูมีความหวัง นักการเงินหลายสำนักเชื่อด้วยซ้ำว่านี่จะเป็นปีที่ดีของตลาดฝั่งเอเชีย แต่ทั้งนี้นักลงทุนก็ยังวางใจไม่ได้

แม้ตอนนี้ธนาคารกลางในหลายประเทศเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ Fed ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสมดุล แต่ก็อาจพูดได้ว่า “ยังไม่ถือว่าดีมาก” เพราะแต่ละที่ก็ยังต้องดูทีท่าเงินเฟ้อในประเทศตัวเองด้วยเหมือนกัน ถ้าแนวโน้มจะเฟ้อมากขึ้นแผนที่จะลดดอกเบี้ยก็อาจชะลอหรือไม่เกิดขึ้นก็เป็นไปได้

ญี่ปุ่นและไทยมีแผนจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ กรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายนี้คือสภาวะ stagflation กับเศรษฐกิจไทย (เงินฝืดและหนี้เสีย) เพราะหากดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น แนวโน้มที่ผู้กู้จะแบกรับภาระไม่ไหวก็อาจเป็นปัญหากระทบตามมาได้เช่นกัน

2. การเมืองในไต้หวัน อินเดีย และอเมริกา จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเศรษฐกิจ

ปี 2567 เป็นปีที่เกิดการเลือกตั้งใน 3 ประเทศสำคัญ คือ อเมริกา อินเดีย และไต้หวัน

ฟังแล้วอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ แล้วชาติไหนใครเป็นผู้นำก็ส่งผลต่อนโยบายการค้าและที่จะส่งผลต่อนโยบายการคลังของไทยทั้งนั้น

อเมริกา : ตลาดส่งออกสินค้าสำคัญของไทย นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่อเมริกาอาจส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทย อย่างเช่นที่ครั้งหนึ่งไทยเคยเจออุปสรรคกำแพงภาษีและมาตรการกีดกันจนไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ตามคาด

ไต้หวัน : จุดยุทศาสตร์สำคัญในเอเชีย และฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สเถียรภาพทางการเมืองในไต้หวันจะส่งผลต่อการค้าในจีนและอเมริกา (ขาดเซมิคอนดักเตอร์ = อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ผลิตไม่ได้) นักวิเคราะห์มองว่านโยบายในอนาคตของรัฐบาลใหม่เป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ว่าจะเป็นอย่างไรไต้หวันก็นับว่า “ถือไผ่เหนือ” ทุกฝ่าย

อินเดีย : เศรษฐกิจของอินเดียโตขึ้นเฉลี่ย 6% ต่อปีภายใต้การนำของรัฐบาล นเรทระ โมที (Narendra Modi) ด้วยนโยบายที่เอื้อให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ และการสร้างความมั่นใจให้อินเดียเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดกลุ่มทุนต่าง ๆ ปัจจุบัน Bloomberg ยกให้ตลาดหุ้นอินเดียใหญ่เป็นอันดับ 4 แซงหน้าฮ่องกง แต่การเลือกตั้งที่จะเกิดในปีนี้ก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนต่อความมั่นใจของนักลงทุนได้เช่นเดียวกัน

3. ธุรกิจ AI และ EV มาแรง มีโอกาสสูงทางเศรษฐกิจ แต่จะมีกฎหมายควบคุม

ปีที่แล้วรถยนต์ EV และเทคโนโลยี AI มาแรงสุด ๆ นักลงทุนที่ถือหุ้นในบริษัทเหล่านี้ต่างก็ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่ในปีนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า EV และ AI จะอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายมากขึ้น (เราเขียนบล็อกวิเคราะห์อุตสาหกรรม EV ด้วยนะ คลิกอ่านได้)

กรณีอย่างรถ EV อาจจะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปมากเพราะมีกฎหมายออกมาบังคับใช้แล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่กรณีของ AI เราอาจจะได้เห็นกฎหมายใหม่ ๆ ออกมาเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ของผู้สร้างผลงานต้นฉบับและเกณฑ์บังคับใช้มากขึ้น

ตอนนี้สหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการพัฒนากฎหมายว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ (EU Artificial Intelligence Act: EU AI Act) ซึ่งจะเป็นกฎหมายพยายามควบคุมการใช้งาน AI ไม่ให้ส่งผลกระทบด้านลบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 แต่ในระหว่างนั้นเราจะเห็นอีกหลายประเทศเริ่มออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้ AI อีกเช่นกัน

4. เศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย

โดยเฉพาะจีนที่เป็นทุนใหญ่จะส่งผลต่อศรษฐกิจไทยในแง่ของภาคการท่องเที่ยวและส่งออก

ตั้งแต่กลางปีที่แล้วนักลงทุนจะเริ่มเห็นสัญญาณร่วงของเศรษฐกิจจีน ตั้งแต่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ล้มละลายทีละเจ้า หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง และ GDP ที่ต่ำกว่าคาด

ในปีนี้นักวิเคราะห์หลายคนยังมองว่าเศรษฐกิจจะพลิกฟื้นกลับมายาก โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ ที่จะกลายเป็นภาระใหญ่ และหากจีนประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกไม่สามารถประคองเศรษฐกิจไว้ได้ ตลาดหุ้นทั่วโลกคงจะได้รับผลกระทบตามเป็นโดมิโน

นักลงทุนควรรับมือเรื่องนี้อย่างไร?

ถ้าพิจารณาทั้งหมดจะเห็นว่าเศรษฐกิจปีนี้ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ผันผวนรุนแรง แต่อยู่ในเส้นของความไม่แน่นอนมากกว่า กรณีไทยถ้าขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นไปได้ที่จะเกิดสภาวะเงินฝืดหรือเศรษฐกิจถดถอย

สิ่งที่อาจทำได้คือกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์หลากหลายประเภท ถ้าดอกเบี้ยลดลงการลงทุนหุ้นกู้ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาระยะลงทุน ดอกเบี้ย และรูปแบบธุรกิจควบคู่กัน เพราะหากเป็นสินทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำและต้องลงทุนนานก็อาจเสียประโยชน์กว่าสินทรัพย์ที่มีระยะลงทุนสั้นและให้ดอกเบี้ยคงที่

การกระจายการลงทุนแบบ 60/40 ก็ยังเป็นกลยุทธ์การจัดพอร์ตที่สามารถทำได้หรืออีกกรณีถ้าใครพอมีทุนก็อาจพิจารณาลงทุนในต่างประเทศ

ในแง่ของอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากอุตสาหกรรมที่กล่าวไปข้างต้นก็มีแนวโน้มที่จะมีกำไรจากเทรนด์ที่กำลังเติบโต แต่อาจจะต้องพิจารณาศักยภาพของบริษัทร่วมด้วยเช่นกัน

ในอาทิตย์หน้าเราจะมีเทรนด์และการลงทุนอะไรมาฝากอีก โปรดรอติดตามผ่าน Facebook: PeerPower Thailand

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร