5 นิสัยเพื่อสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง
สุขภาพร่างกายที่ดีสร้างได้จากนิสัยอย่างการออกกำลังกายหรือทานอาหารที่มีประโยชน์ สุขภาพทางการเงินก็เช่นกัน แล้วนิสัยอะไรล่ะที่เราควรสร้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความมั่นคงและอิสระทางการเงิน PeerPower ขอเสนอ 5 นิสัยที่จะพาคุณไปสู่สุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง
Micro-habit หรือพฤติกรรมเล็ก ๆ ก็เหมือนก้าวแรกเล็ก ๆ ที่เราเริ่มทำได้เลย ไม่ว่าเป้าหมายใหญ่จะเป็นอะไรก็ตาม
ตั้งเป้าและวางแผน
- ตั้งเป้าหมายทางการเงิน
- รู้ทันรายรับ-รายจ่าย และภาระทางการเงินต่าง ๆ อยู่ตลอด
- วางแผนการใช้จ่ายและปฏิบัติตามนั้น
ออมเงิน
- กันเงินออมไว้เผื่อฉุกเฉิน (ประมาณค่าใช้จ่าย 6 เดือนกำลังดี)
- แบ่งสัดส่วนรายรับเข้าเป็นเงินเก็บเป็นประจำ
จ่ายบิล
- จ่ายบิลให้ตรงเวลา
- เลี่ยงค่าปรับจากการจ่ายช้า
- ถ้ามีเงินไม่พอ ให้เลือกจ่ายบิลก่อนใช้จ่ายอย่างอื่น
พัฒนาเครดิต
- ลดภาระหนี้ด้วยการลดการใช้จ่าย
- หาทางรวมหนี้เพื่อลดค่าไฟแนนซ์
- ชำระหนี้ให้ตรงเวลา
ลงทุน
- ติดตามข่าวสารการเงินอยู่เสมอ
- วิเคราะห์ตลาดโดยไม่เอาแต่เชื่อคนอื่น
- ลงทุนสม่ำเสมอเพื่อเฉลี่ยต้นทุน (Dollar-cost averaging–DCA)
- กระจายพอร์ตลงทุน
แทนที่จะมองว่าการมีนิสัยที่ดีทางการเงินเป็นเป้าหมายใหญ่โตและน่ากลัวจนไม่รู้จะไปถึงได้อย่างไร ลองเริ่มจากพฤติกรรมเล็ก ๆ ที่ทำได้เป็นประจำก่อน
เคล็ดลับหนึ่งในการสร้างพฤติกรรมใหม่ ๆ ให้กลายเป็นนิสัย คือการทำให้พฤติกรรมเหล่านั้นกลมกลืนไปกับชีวิตประจำวัน อย่างที่บางคนเรียกว่าระบบ “กระตุ้น ต้องการ รางวัล” ตัวอย่างเช่น ผมอยากสร้างนิสัยติดตามข่าวการลงทุนอยู่เสมอ ดังนั้นทุกเช้าระหว่างทานข้าวเช้า ผมจึงใช้เวลา 10 นาทีอ่านข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในตลาดจากแหล่งที่เชื่อถือได้ (และไม่ถูกครอบงำ) เพื่อพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนของตัวเอง ส่วนตัวแล้วแหล่งข่าววิเคราะห์ที่ผมอ่านเป็นประจำในตอนนี้ก็คือ Bond Critic และ Steady Compounding.
เวลาอาหารเช้าเป็นตัว “กระตุ้น” ว่าถึงเวลาเสพข่าวแล้ว ทำให้ผมเกิดความ “ต้องการ” อ่านข่าว เพื่อให้ได้ “รางวัล” ซึ่งสำหรับผมก็คือความรู้สึกดีจากการ “ทำภารกิจสำเร็จ” ในเช้าวันนี้ (คุณจะใช้อย่างอื่นเป็น “รางวัล” ก็ได้ เช่น ถ้าใครชอบดื่มกาแฟ การได้ดื่มกาแฟดี ๆ หลังอ่านข่าวจบก็นับเป็นรางวัลได้เหมือนกัน)
เมื่อพฤติกรรมอะไรสักอย่างกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว เราก็มักจะสามารถทำพฤติกรรมนั้นได้สำเร็จโดยแทบไม่ต้องคิด เหมือนตื่นมาแล้วต้องแปรงฟันนั่นแหละ
ผมใช้หลักการเดียวกันนี้ในการสร้างนิสัยลงทุนทุกเดือนเพื่อเฉลี่ยต้นทุน หรือที่เรียกว่า dollar-cost averaging (DCA) วิธีก็คือ ทุกวันที่ 28 ของทุกเดือน ผมจะลงทุนด้วยเงินประมาณ 15% ของรายรับเดือนนั้นเพื่อสร้างพอร์ตลงทุนให้เติบโตขึ้น ในขณะเดียวกัน ผมก็จะวิเคราะห์ปรับทิศทางการลงทุนด้วย ผมทำแบบนี้เพื่อสร้างระบบให้ตัวเองลงทุนและปรับพอร์ตอย่างเป็นนิสัย แทนที่จะไหลไปตามความเคลื่อนไหวในตลาด หรือตามคำพูดของนักลงทุนคนอื่น ๆ รอบตัว
การปรับทิศทางการลงทุนและสังเคราะห์ “เรื่องราว” ด้วยตัวเอง
ถ้าใครเคยอ่านบล็อกของเพียร์ พาวเวอร์มาก่อนอาจจะทราบว่าผมได้ความรู้และบทวิเคราะห์ดี ๆ หลายอย่างมาจากศาสตราจารย์ดาโมดารัน (Aswath Damodaran) แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) หนึ่งในนั้นคือเลคเชอร์ของเขาเรื่อง Narrative & Numbers (เรื่องราวกับตัวเลข) โดยเขาได้ท้าให้นักลงทุนมี “เรื่องราว” เกี่ยวกับบริษัทที่กำลังลงทุนด้วยในแบบของตัวเองโดยไม่เอาแต่เชื่อสิ่งที่ตลาดบอก เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ลองมาดูกันว่าดาโมดารันพูดถึงบริษัทเทคตัวท็อป 5 แห่งของโลก (ชื่อเล่น “MANGA” ที่มาจาก Meta, Amazon, Netflix, Google, Apple) ว่าอย่างไรบ้าง
พูดถึงเฟซบุ๊ก :
ผมว่าแนวคิดเรื่องการเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กนี่เป็นวิธีที่ดีมากในการคิดถึงสถานะของเฟซบุ๊ก เมื่อซัก 10 ปีก่อน หรือกระทั่ง 6 ปีก่อน ใคร ๆ ก็อยากเป็นเพื่อนกับเฟซบุ๊ก แต่มาวันนี้ ลองคิดดูสิ เฟซบุ๊กไม่มีเพื่อนเลย… และสิ่งที่ขัดแย้งที่สุดก็คือ ใคร ๆ ก็บอกว่าเกลียดเฟซบุ๊ก เกลียดสิ่งที่เขาทำ แต่ทุกคนก็ยังใช้บริการของเฟซบุ๊กอยู่ ในซิลิคอน แวลลีย์มีคำที่พูดกันมานานว่า ถ้าเมื่อไหร่คุณได้ใช้สินค้าหรือบริการอะไรฟรี ๆ ก็แปลว่าตัวคุณเองนั่นแหละคือสินค้า ดังนั้นผมว่าสำหรับเฟซบุ๊กผมคงจะคิดถึงเรื่องว่าบริษัทนี้ไม่มีเพื่อนเอาซะเลย แต่ทำไมยังร่ำรวยได้มหาศาล
พูดถึงแอปเปิล :
แอปเปิลก็คือบริษัทไอโฟนที่มีทั้งแง่บวกและลบนั่นแหละ ปัญหาของไอโฟนคือตอนนี้คุณอยู่ในธุรกิจที่อิ่มตัวแล้ว เราเกือบทุกคนมีสมาร์ทโฟน ดังนั้นสำหรับแอปเปิล ปัญหาก็คือตอนนี้คุณกำลังสร้างบริษัทมูลค่า 2 ล้านล้านเหรียญอยู่บนผลิตภัณฑ์ตัวเดียว และถ้ามองจากมุมนั้น แอปเปิลอาจจะกำลังตกที่นั่งอันตรายกว่ากูเกิลหรือเฟซบุ๊กก็ได้… คืองี้ ลองคิดดูนะว่าถ้ามีไอโฟน 14 ที่ไม่มีใครอยากซื้อจะเป็นยังไง ผมล่ะไม่อยากจะนึกถึงผลกระทบ มันหายนะแน่ เพราะนั่นเป็นแหล่งรายได้และกำไร 75% เลยทีเดียว…
การสังเคราะห์เรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนของเราขึ้นเองเป็นวิธีที่ดีในการตรวจสอบว่าข้อมูลที่เครื่องจักรผลิตข่าวตลาดหุ้นโยนใส่เราอยู่นี้มันสมเหตุสมผลหรือเปล่า มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งจากวอร์เรน บัฟเฟตที่ผมจำขึ้นใจ และจนทุกวันนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ บัฟเฟตเปรียบเทียบการที่มูลค่าหุ้นแกว่งขึ้นลงในแต่ละวันเหมือนกับเพื่อนบ้านเพี้ยน ๆ ที่คอยมายืนข้างรั้ว ตะโกนประกาศขายที่ดินของเขาในราคาต่าง ๆ กัน
“ถ้ามีตาลุงขี้หงุดหงิดที่เป็นเจ้าของฟาร์มข้างบ้านมาคอยตะโกนประกาศราคาให้ผมฟังอยู่ทุกวันว่าเขาจะซื้อที่ผม หรือขายที่ของเขาให้ผมในราคาเท่าไหร่ และราคาที่เขาให้ก็ห่างกันมากในช่วงเวลาสั้น ๆ ขึ้นกับอารมณ์เขาตอนนั้น… ถ้าวันไหนเขาเกิดตะโกนบอกราคาที่ต่ำอย่างบ้าบอ และผมเกิดมีเงินเหลือสักหน่อย ผมก็จะซื้อฟาร์มของเขา แต่ถ้าวันไหนเขาตะโกนให้ราคาที่สูงอย่างบ้าคลั่ง ผมก็อาจจะขายที่ของผมให้เขา หรือไม่ก็แค่ทำฟาร์มของผมไปโดยไม่ต้องสนใจ”
แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนหุ้นมักจะทำ “ที่กลับกันก็คือ หลายครั้งผู้ถือหุ้นยอมให้พฤติกรรมเจ้าอารมณ์ไร้เหตุผลของผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ มาทำให้ตัวเองทำตัวไร้เหตุผลตามไปด้วย” ทุกวันนี้เรามักจะเรียกพฤติกรรมแบบนี้ด้วยภาษาสมัยใหม่ว่า ‘FOMO’ (Fear of Missing Out หรือ “กลัวตกรถ”) แต่อย่าลืมว่าพฤติกรรมแบบนี้มีมาตั้งนานแล้ว และการเล็งเห็นว่ามันคืออะไรก็เป็นขั้นตอนแรกในการเลิก “นิสัยแย่ ๆ” และเริ่ม “นิสัยดี ๆ”
สรุป : ทำอย่างไรให้ micro-habit ช่วยสร้างนิสัยที่ดี
- Micro-habit หรือ “พฤติกรรมเล็ก ๆ” คือก้าวแรกเล็ก ๆ ในการเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ
- Micro-habit ใช้ได้ผลเพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายจนยากจะหาข้ออ้างในการไม่ทำ
- Micro-habit สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดพฤติกรรมที่ไม่ดีได้
- ถ้าอยากริเริ่ม micro-habit ให้เลือกพฤติกรรมที่เราอยากเรียนรู้ แล้วแทรกสิ่งนั้นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตปกติ เช่น การทานอาหารเช้า การทำแบบนี้เป็นการตั้งวงจร “กระตุ้น ต้องการ รางวัล” ที่ผลักดันให้เราทำพฤติกรรมที่ต้องการ
- เมื่อพฤติกรรมนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตแล้ว เราก็จะสามารถทำพฤติกรรมนั้นได้โดยไม่ต้องคิดเลย
ลองใช้เทคนิค micro-habit สร้างนิสัยการเงินที่ดีกันนะครับ