7 ข้อต้องรู้ก่อนซื้อหุ้นกู้ สร้าง Passive Income
สำหรับคนที่อยากมี passive income การลงทุนคงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่หลายคนนึกถึง ซึ่งสินทรัพย์แต่ละประเภทก็มีความเสี่ยงมากน้อยแตกต่างกันไป ถ้าใครมองหาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ “หุ้นกู้” หรือ “หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง” อาจเป็นตัวเลือกที่คุณมองหา
ถ้าติดตาม สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) จะเห็นว่าช่วงนี้มีหุ้นกู้ออกใหม่เยอะมาก บริษัทที่มาออกหุ้นกู้ก็อยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรมตั้งแต่ของใช้ในครัวเรือน สินค้าอุปโภค-บริโภค ไปจนถึงบริการโทรคมนาคม หากมองแค่ชื่อเสียงของบริษัทเพียงอย่างเดียวเราอาจเห็นว่าหุ้นกู้น่าจะปลอดภัยไม่เบี้ยวหนี้ แต่ถึงแม้ว่าบริษัทจะใหญ่และลงทุนแค่ไหน ทุกแห่งก็มีความเสี่ยงที่จะล้มละลายจากวิกฤตคาดไม่ถึงทั้งนั้น ดังนั้นก่อนที่จะซื้อหุ้นกู้ นักลงทุนควรนึกถึงความเสี่ยงและข้อคำนึงพวกนี้ข้อนี้ก่อนที่จะกดจองหุ้นกู้
เช็ค 7 ข้อก่อนซื้อหุ้นกู้ออกใหม่
สมมุติว่าคุณพิจารณาด้วยแผนระยะยาว ตามยุทธศาสตร์ต่าง ๆ แล้วและเห็นว่าหุ้นกู้บริษัทนี้น่าจะไปได้สวย ฐานแน่นเข้าเกณฑ์ทุกอย่าง ก่อนจะกดจองเราขอแนะนำให้อ่านหนังสือชี้ชวน (Propectus)และ เช็คประวัติของบริษัทเพิ่มอีกแค่ 7 ข้อ เพื่อจะได้มั่นใจยิ่งขึ้นว่าถ้าจะลงทุนซื้อหุ้นกู้บริษัทนั้น มันจะไปรอดแน่ ๆ
1. สภาพตลาด
ตลาดมีขึ้นมีลง ธุรกิจก็มีช่วงขาดทุนและทำกำไรเช่นกัน ดังนั้นข้อแรกที่ต้องรู้คือ บริษัทนี้อยู่ในอุตสาหกรรมอะไรมีการแข่งขันมากน้อยแค่ไหน? จุดนี้จะทำให้เราเข้าใจว่าบริษัทที่เรากำลังจะซื้อหุ้นกู้อยู่ในสถานการณ์แบบไหนและจะเป็นยังไงต่อในตลาด
เช่น ถ้าย้อนไปสัก 2-3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจจัดอีเว้นท์อาจบูมด้วยไลฟ์สไตล์ของสังคมเมืองที่มีกิจกรรมแทบทุกอาทิตย์ แต่เมื่อเกิดโควิดธุรกิจนี้กลับซบเซา หากพิจารณาจากแค่นั้นหุ้นกู้ของบริษัทอีเว้นท์อาจไม่น่าสนใจ แต่ถ้าดูจากสภาพตลาดจะเห็นว่าคนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น กิจกรรมงานอีเว้นท์ต่าง ๆ เริ่มกลับมา ธุรกิจอีเว้นท์หลายเจ้าได้รับบทเรียนจากช่วงโควิด หันมาปรับตัวจัดงานอีเว้นท์แบบ hybrid และเริ่มลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาสร้างลูกเล่นให้ผู้จัดและสร้างจุดดึงดูดให้งาน หมายความว่าในอนาคตธุรกิจนี้น่าจะตอบสนองตลาดได้รอบด้านมากขึ้น ผลประกอบการจากหุ้นกู้ก็อาจจะดีตาม (เราเคยเขียนเรื่องเทรนด์ตลาด 2023 ด้วยนะอ่านได้ที่นี่)
2. ผลิตภัณฑ์และบริการ
บริษัทแต่ละแห่งมีผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่างกันไป ซึ่งจุดนี้จะเป็นโมเดลการหาเงิน (revenue model) ของบริษัทที่เห็นภาพชัดที่สุด เราควรวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียของสิ่งที่บริษัทแต่ละแห่งมอบให้กับลูกค้าเพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าบริษัทแห่งนั้นมีโอกาสเติบโตและมีความสามารถในการปรับตัวแค่ไหน
ยกตัวอย่างเช่น กรณีของบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Apple รายได้ราว 50% ของบริษัทผูกอยู่กับสินค้าโทรศัพท์ iPhone ในขณะที่ยอดขายของบริการต่าง ๆ อยู่ที่ราว 30% ดังนั้นโมเดลรายได้ของธุรกิจอาจเป็น (และคงเป็นแบบที่เราเห็นเรื่อย ๆ) การพัฒนา iPhone รุ่นใหม่ ๆ มาแข่งกับเจ้าอื่นในตลาด และอาจเพิ่มรายได้ของบริการเข้ามาเสริม ดังนั้นถ้าเราเล็งว่าผลประกอบการบริษัทน่าจะโตด้วยโมเดลรายได้แบบนี้การซื้อหุ้นกู้ก็น่าสนใจ
3. จุดแข็ง
นอกจาก สภาพตลาด และ ผลิตภัณฑ์/บริการ จุดแข็งจะเป็นข้อชี้วัดความสามารถในการเอาชนะบริษัทคู่แข่ง
เช่น บริษัท A อาจจะมีจุดแข็งจากการเป็นแพลตฟอร์มบริการรับส่งที่มีอัตราบริการถูกกว่าบริษัท B อีกทั้งแอปพลิเคชันยังใช้งานง่ายกว่า จุดแข็งทั้งสองจุดนี้จะทำให้เรารู้ว่าบริษัท A มีโอกาสครองส่วนแบ่งในตลาดมากกว่าบริษัท B ในระยะยาว
ทั้งนี้จุดแข็งอาจเป็นได้หลายอย่างไม่ได้จำกัดอยู่แค่จุดแข็งในเชิงผลิตภัณฑ์หรือคุณสมบัติตามที่ระบุในหนังสือชี้ชวนเท่านั้น อาจเป็นลักษณะ เช่น ความสามารถในการรับมือวิกฤต ความได้เปรียบเชิงทรัพยากร ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัท ฯลฯ ข้อนี้อาจต้องมองพลิกแพลงพิจารณาเพิ่มนิดหน่อยว่าจุดแข็งของบริษัทคืออะไร และน่าจะช่วยให้บริษัทไปต่อได้ดี อย่างน้อยในระยะเวลาหุ้นกู้หรือไม่
4. ทีมบริหาร
ความมั่นคงของบริษัทขึ้นอยู่กับทีมบริหารและทีมงานที่อยู่เบื้องหลัง นักลงทุนสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับทีมบริหารของแต่ละบริษัทได้ไม่ยากเพราะเป็นสิ่งที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้ว และในหนังสือชี้ชวนเองก็มักระบุชื่อ ตำแหน่ง และประวัติโดยคร่าวไว้ เราจึงสามารถค้นหาเพิ่มเติมได้ว่าทีมบริหารแต่ละคนมีประสบการณ์ทำงานกับที่ไหนมาบ้าง ข้อมูลส่วนนี้จะทำให้เรารู้ว่าบริษัทแห่งนั้นมีผู้นำที่ดีหรือไม่ และจะทำให้คาดเดาความสามารถของธุรกิจได้ไม่ยาก
5. สภาพการเงิน
สภาพคล่องทางการเงินเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าบริษัทแต่ละแห่งมีภาระหนี้สินและความสามารถที่จะชดใช้หนี้ในแต่ละปีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากบริษัทมีสภาพคล่องต่ำความสามารถในการชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ก็อาจน่าเป็นกังวล และที่สำคัญอย่าลืมเช็คประวัติการชำระหนี้ นักลงทุนสามารถตรวจได้ผ่านตัวเลขงบการเงินและสินทรัพย์หมุนเวียน (Current Asset) ของบริษัทนั้น ๆ ได้ในหนังสือชี้ชวน เราเคยเขียนเจาะลึกเกี่ยวกับ สินทรัพย์หมุนเวียนตัวบ่งชี้สภาพคล่องของบริษัทด้วย คลิกอ่านต่อได้
6. รายชื่อนักลงทุนที่ลงทุนในบริษัท
นักลงทุนหลักของแต่ละบริษัทจะทำให้เรารู้ว่าบริษัทแต่ละแห่งมีเงินทุนพร้อมสนับสนุนแค่ไหน (อธิบายง่าย ๆ ก็มีแบคดีหรือเปล่า) ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้จะเป็นกำลังหลักในการช่วยให้บริษัทสามารถระดมทุนและมีเงินทุนมาหมุนเวียน ความน่าเชื่อถือต่อหุ้นกู้ก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย
7. แผนขั้นต่อไปของบริษัท
ข้อนี้ทำให้เราเห็นวิสัยทัศน์ของบริษัทว่าเป็นอย่างไร มีระยะสั้น-ยาวแค่ไหน และจะทำได้จริงหรือเปล่า
นักลงทุนควรศึกษาว่าบริษัทที่จะลงทุนมีแผนอย่างไรในอนาคตเสมอ เช่นถ้าบริษัทแห่งหนึ่งมีแผนจะเปิดตัวหุ้น IPO (Initial Public Offering) หรือก็คือการเปิดซื้อขายหุ้นจดทะเบียนเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ การซื้อหุ้นกู้ตอนนี้ก็จะเป็นผลดีต่อการลงทุน แถมถ้าหุ้นกู้มีสิทธิแปลงสภาพด้วยนักลงทุนอาจทำกำไรขายต่อได้ (เผื่อใครไม่เข้าใจเรื่องสิทธิของหุ้นกู้ อ่านในบล็อกหุ้นกู้และตราสารหนี้ได้)
ลงทุนดูนโยบายรัฐ สร้าง Passive Income อย่างยั่งยืน
" การลงทุนที่ดีคือการจับปลาหลายมือ"
อาจจะขัดกับสุภาษิตบ้านเรานิดหน่อย แต่ในความเป็นจริงคือการลงทุนไม่เคยแน่นอนมีปัจจัยหลายอย่างมากที่ทำให้ตลาดผันผวน แม้จะคอยติดตามสถานการณ์บ้านเมืองปรับกลยุทธ์การลงทุนตลอดแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลตอบแทนจะเป็นอย่างที่คาด สมมุติถ้าคุณกระจายความเสี่ยงแล้ว ลงทุนหุ้นกลุ่ม Defensive แล้ว แต่ยังมีความกังวลอยู่ วิธีหนึ่งที่อาจทำให้พอร์ตการลงทุนแข็งแรงได้ “การลงทุนระยะยาวโดยอิงตามนโยบายรัฐ”
ถ้าพิจารณาตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะเห็นว่ารัฐบาลเน้นไปที่หลายด้านมาก โครงการใหญ่ที่เราอาจเห็นภาพบ้างแล้วอาจเป็น การพัฒนาการเกษตร สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และระบบโครงสร้างพื้นฐานเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ดังนั้นกลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายที่รัฐสนับสนุน ควรเป็นธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มเหล่านี้ ลองพิจารณาผลประกอบการและความเสี่ยงที่รับได้ก่อนโยกงบลงทุน วิธีนี้อาจเป็น Passive Income ให้คุณได้ในระยะยาว
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Checklist ให้นักลงทุนนำไปพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นกู้ในแต่ละบริษัท แต่ไม่ว่าหุ้นกู้จะให้ตอบแทนสูงหรือดูมั่นคงสักแค่ไหน นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนการลงทุนทุกครั้ง และดูปัจจัยรายล้อมอื่นๆ ควบคู่ด้วยเช่นเดียวกัน
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว