รู้จัก Angel Investor เจ้าของเงินทุนในฝันที่ใคร ๆ ก็ตามหา
สำหรับคนทำธุรกิจที่ต้องการเงิน ถ้าวันหนึ่งมีคนใจดีเดินเข้ามาแล้วพูดว่า “ธุรกิจน่าสนใจมากเลยจ้ะ อยากลงทุนด้วย ต้องการทุนเท่าไหร่จ๊ะเดี๋ยวให้” หากอะไรแบบนี้เกิดขึ้นจริงในชีวิตคงเหมือนฝัน…
แต่รู้หรือไม่ “คนใจดี” เหล่านี้มีจริง ในโลกของการลงทุนคนพวกนี้เรียกว่า “Angel Investor” เป็นนักลงทุนเทวดาที่มีเงินและพร้อมเปย์ แต่นักลงทุนเหล่านี้ก็เทวดาสมชื่อคือไม่ได้เจอง่าย แต่ก็พอมีวิธีจะหาได้อยู่
บทความนี้ PeerPower จะคุยเกี่ยวกับ Angel Investor นักลงทุนในฝันของผู้ประกอบการว่าคนเหล่านี้มักมองหาอะไรเมื่อคิดจะลงทุน และถ้าอยากเจอสักคนต้องทำยังไง
Angel Investor คืออะไร ?
Angel Investor คือ นักลงทุนอิสระที่มีเงินทุนและประสบการณ์ ส่วนใหญ่มักเป็นคนที่เคยทำธุรกิจมาก่อนหรือมีธุรกิจอยู่ในมือ อยู่มาวันนึงก็อยากจะลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงให้ตัวเอง หรืออยากเอาธุรกิจนั้นมาเสริมพอร์ตธุรกิจในเครือให้เกื้อหนุนกัน (หรือที่ศัพท์คนทำธุรกิจเรียกว่า synergy) เลยให้เงินทุน Seeding Fund กับสตาร์ทอัพ ให้คำปรึกษา ช่วยประคับประคองธุรกิจที่ร่วมลงทุนให้ประสบความสำเร็จ
อาจจะสงสัยว่าทำไมนักลงทุนเทวดา Angel Investor พวกนี้ถึงกล้าลงทุนในธุรกิจเล็ก ๆ ที่ไม่มีสิ่งการันตีความสำเร็จเลย คำตอบคือ เพราะการลงทุนในสตาร์ทอัพพวกนี้ ถ้ามองเกมธุรกิจขาดก็เหมือนถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง
ยกตัวอย่างกรณีคลาสสิกเช่น Google ในสมัยแรกที่ยังเป็นแค่สตาร์ทอัพเล็ก ๆ ก็ได้ Andy Bechtolsheim กับ David Cheriton มาร่วมลงทุนด้วยงบคนละ 100,000 เหรียญสหรัฐ ปัจจุบัน Google ทำเงินให้สองคนนี้มากกว่าพันล้านเหรียญเข้าไปแล้ว ดังนั้นคนที่จะเป็น Angel Investor ได้เลยต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์และเก๋าเกมพอสมควรถึงจะกล้าลงทุนในธุรกิจระยะเริ่มต้น (early stage) และแน่นอนว่านักลงทุนรายใหญ่ประเภทนี้ไม่ได้หาง่าย
วิธีเตรียมตัวก่อนเจอ Pitching ยังไง ให้ได้ใจ Angel Investor ?
สมมุติตอนนี้คุณรู้จัก Angel Investor แล้ว สเต็ปต่อไปที่คุณต้องทำคือเอาแผนธุรกิจไป Pitching กับนักลงทุน ทีนี้ต้องเตรียมตัวยังไงดี ?
คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการบริษัท TARAD.com นักธุรกิจวงการ e-commerce และหนึ่งใน Angel Investor ของไทยผู้ให้เงินทุนกับหลายบริษัทสตาร์ทอัพเคยให้สัมภาษณ์ว่า
“ สิ่งที่ผมมองหามี 2 อย่างคือ Business Model ที่ดี และ Passion ของผู้ประกอบการ”
ฟังแล้วดูเรียบง่ายมาก แต่ถ้าเจาะโดยละเอียด Business Model ที่ดี ควรที่จะ
- ต้องแตกต่าง มีวิธีคิดต่างจากธุรกิจอื่น ๆ
- รูปแบบธุรกิจต้องขยายไปยังต่างประเทศได้ หรือสามารถปรับเพื่อให้ตอบโจทย์ในตลาดอื่นที่ใหญ่กว่าในไทยได้
- ต้องมีโมเดลการสร้างรายได้ในระยะกลาง-ยาว
- ทีมงานต้องน่าสนใจ เพราะ Angel Investor ไม่ได้แค่ลงทุนในธุรกิแต่ลงทุนในคนด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบต้องทำการบ้านเพิ่ม คือ ความสนใจของ Angel Investor เอง ลองถามคำถามเหล่านี้กับตัวเอง เช่น
- ก่อนหน้านี้เคยลงทุนในอะไรมาก่อน?
- ปัจจุบันมีธุรกิจอะไรที่ลงทุนอยู่บ้าง?
- ดูแนวโน้มแล้วน่าจะสนใจในอะไรหรือธุรกิจแบบไหน?
- มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอะไร?
- ธุรกิจเราจะตอบโจทย์หรือทำประโยชน์อะไรต่อนักลงทุนคนนี้ได้บ้าง?
- บัญชี-งบการเงินดีพอให้สนใจหรือไม่?
- Deal Flow ของ Angel คนนี้เป็นยังไง?
ถ้าเข้าใจส่วนนี้ก็สามารถช่วยให้คุณจับจุด Pitching ได้เหมือนกัน (เราเคยเขียนเรื่องการทำ Business Model และ การทำบัญชี ด้วยนะลองอ่านไปประยุกต์ใช้ได้)
หา Angel Investor ยังไง ?
มาสู่คำถามสำคัญ "จะหา Angel Investor ได้ยังไง?" เพราะอย่างที่รู้กันคือ นักลงทุนพวกนี้ไม่ได้หาง่าย และถ้าสุ่มเข้าไปหาโดยไม่ได้ทำความรู้จักก่อนก็มีโอกาสที่จะถูกปฏิเสธสูง
คุณ Robert Lomnitz ประธานของ Bangkok Venture Club เคยกล่าวในงานสัมมนาของ SET ว่าถ้าผู้ประกอบการต้องการจะหาเงินทุนจาก Angel Investor สิ่งแรกที่ต้องทำคือ Networking หรือสร้างความคุ้นเคยกับนักลงทุนเหล่านี้ก่อน เริ่มตั้งแต่เครือข่ายใน Linkedin สมาคมศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย งานสัมมนาที่จัดโดยนักลงทุนหรือสถาบันทางการเงินต่าง ๆ ก็มักมี Angel Investor เข้าร่วมเสมอ ลองติดตามข่าวสารเกี่ยวกับงานเสวนาและลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมงานก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้คุณได้รู้จักนักลงทุนเหล่านี้ได้เหมือนกัน
อีกอย่างที่ต้องทำคือ สร้างโปรไฟล์ตัวเองให้น่าสนใจ เพราะหลายครั้งการให้ทุนของ Angel Investor ไม่ได้ตรงไปตรงมาเพียงเพราะว่าธุรกิจดูดี Angel Investor ลงทุนกับธุรกิจพอ ๆ กับคน การนำเสนอ Passion ของคุณให้สอดคล้องไปกับธุรกิจก็มีส่วนให้นักลงทุนสนใจธุรกิจของคุณเช่นกัน
อะไรบ้างที่แทน Angel Investor ได้? แหล่งเงินทุนทางเลือกอื่น ๆ ที่ตอบโจทย์
อ่านถึงตรงนี้ ผู้ประกอบการอาจจะรู้สึกว่ายากและนานเหลือเกินกว่าที่จะหา Angel Investor ได้สักคน ระหว่างนี้ถ้าอยากได้เงินทุนทำธุรกิจสักก้อนมีอะไรอย่างอื่นอีกไหมที่จะทดแทนได้บ้าง ?
แหล่งเงินทุนในฝันไม่ได้มีแค่ Angel Investor ปัจจุบันมีแหล่งเงินทุนทางเลือกที่รอให้ธุรกิจเข้าไป Pitch หลากหลาย ตั้งแต่ Private Capital Market ไปจนถึงสถาบันการเงินดั้งเดิมแบบต่าง ๆ ระหว่างที่รอ Angel Investor ประทานเงิน ตัวเลือกเหล่านี้อาจช่วยผู้ประกอบการได้ เป็นเหมือนการสร้างโปรไฟล์-โอกาสขอเงินทุนให้กับบริษัทด้วยเหมือนกัน
1. Crowdfunding (CFD)
คราวด์ฟันดิง คือ การที่คนหลาย ๆ คนร่วมระดมทุนให้กับธุรกิจหนึ่งแลกกับผลตอบแทนบางอย่าง อาจเป็นหุ้น หรือ หุ้นกู้ ฯลฯ
การระดมทุนคราวด์ฟันดิงจะคล้ายกับ Angel Investor ตรงที่มีการให้เงินทุนกับธุรกิจ แต่เงินนั้นไม่ได้มาจากคนเพียงคนเดียว เมื่อมีหลายคนให้เงิน ยอดเงินทุนสำหรับธุรกิจก็มีโอกาสที่จะได้เยอะกว่า
ในประเทศไทยมีแพลตฟอร์มที่ช่วยผู้ประกอบการระดมทุนคราวด์ฟันดิงที่อยู่ในการกำกับของกลต. อยู่หลายเจ้า แต่ละเจ้ามีคาแรคเตอร์ต่างกัน PeerPower เองก็เป็นหนึ่งแพลตฟอร์มที่ช่วยผู้ประกอบการหาเงินต่อ ยอดธุรกิจพร้อม ๆ กับสร้าง passive income ให้นักลงทุน อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเราได้ที่นี่
2. Venture Capital (VC)
Venture Capital คือ กลุ่มองค์กรที่รวบรวมเงินจากกลุ่มคนหรือบริษัทมาตั้งเป็นกองทุน แล้วเอาเงินนั้นไปลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ ต่างกับ Angel Investor ตรงที่คนตัดสินใจให้เงินไม่ใช่เจ้าของเงินแต่คือผู้จัดการกองทุน ดังนั้นจะมีความเป็นขั้นเป็นตอนมากกว่า
โดยทั่วไปแล้ว VC จะให้ข้อเสนอกับบริษัทที่มีรายได้ในระดับหนึ่ง แลกกับสัดส่วนของหุ้นหรือปันผลค่อนข้างสูง แต่ก็มีโอกาสให้เงินทุนที่สูงด้วยเช่นกัน ธุรกิจที่ยังตั้งไม่นานหรือหากอยู่ในระยะเริ่มต้นมาก ๆ อาจจะไม่เหมาะกับแหล่งเงินทุนประเภทนี้
นอกจากนั้นแหล่งเงินทุนดั้งเดิมที่ผู้ประกอบการสามารถขอเงินทุนได้คือ สถาบันธนาคาร สินเชื่อประเภทต่าง ๆ เราเคยทำตารางเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของแต่ละประเภทเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการด้วย อ่านได้ที่นี่
ทั้งหมดนี้คือเรื่องเกี่ยวกับ Angel Investor ที่ PeerPower รวบรวมมาฝากผู้ประกอบการ สำหรับใครที่ต้องการเงินทุน แวะเข้ามาอ่านบทความนี้แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะขอเงินทุนได้หรือไม่ ลองอ่านเกณฑ์การรับสมัครและปรึกษาทีมงานของ PeerPower ได้ที่นี่
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว