กู้เงินทำธุรกิจ โอกาสทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม
เมื่อพูดถึงการกู้เงินทำธุรกิจหลายคนอาจนึกถึงธุรกิจที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง หรืออาจมองไปว่าบริษัทที่ต้องกู้เงินคงแปลว่ากิจการไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่รู้หรือไม่ว่าการกู้เงินมาทำธุรกิจไม่ได้เป็นเรื่องของธุรกิจใหม่ หรือธุรกิจที่ขาดทุนใกล้เจ๊งเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้วบริษัทที่กิจการดีจนได้ขยายธุรกิจหลายเจ้าก็ได้โอกาสมาจากการหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบการกู้ยืมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการขอสินเชื่อธุรกิจ การออกหุ้นกู้ หรือการระดมทุนออนไลน์
วันนี้ PeerPower จะพาไปดูตัวอย่างบริษัทที่เคยระดมทุน Crowdfunding กับเรา ว่าแต่ละเจ้านำเงินไปทำอะไรบ้างเพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจ จากประสบการณ์ของเรา พบว่าธุรกิจสามารถแปลงเงินกู้ให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจได้ 3 ทางด้วยกัน
“เงินทุนหมุนเวียน” (working capital) นับว่าเป็นเป้าหมายยอดนิยมอันดับหนึ่งของธุรกิจที่ต้องการหาแหล่งเงินทุน ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะเงินทุนหมุนเวียน หรือ “เงินหมุน” นี้คือเส้นเลือดสำคัญของธุรกิจ ต่อให้ขายดีแค่ไหนก็เจ๊งได้ถ้าขาดเงินหมุนที่เป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจเดินหน้าต่อ ในทางกลับกัน ธุรกิจที่เปิดมา 14 ปีเพิ่งจะมีกำไรเป็นครั้งแรกอย่าง Tesla กลับยังดำเนินธุรกิจไปได้ดีก็เพราะยังมีเงินหมุนเติมเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ นั่นเอง
หากผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น จะสามารถพัฒนาธุรกิจไปได้อย่างไรบ้าง เราขอยกตัวอย่างให้ดู
เพิ่มสต็อกสินค้าเพื่อเตรียมรับโอกาส
ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของร้านค้าออนไลน์ที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายต่อ หรือจะเป็นแบรนด์ที่ผลิตสินค้าเป็นของตัวเอง ผู้ประกอบการย่อมต้องเตรียมสินค้าในสต็อกให้พร้อมรับความต้องการของลูกค้า หากช่วงไหนที่คาดว่าน่าจะมีความต้องการซื้อมากขึ้น ผู้ประกอบการก็ควรจัดหาสินค้ามาสต็อกให้มากขึ้นเพื่อไม่ให้พลาดโอกาส
ปัญหาจะเกิดเมื่อผู้ประกอบการคาดว่าจะมีลูกค้าสั่งสินค้าเข้ามามากขึ้น แต่ธุรกิจไม่มีเงินหมุนเพียงพอที่จะสั่งสินค้ามาเก็บในสต็อกให้พอขาย หรือมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามาแล้ว แต่ขาดต้นทุนการผลิต ไม่สามารถจ่ายมัดจำให้ผู้ผลิตได้ ทำให้ต้องพลาดโอกาสการขายไป
ในกรณีนี้ การหาเงินทุนมาเพิ่มให้พอกับการสต็อกสินค้าจึงเป็นทางออกที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องพลาดโอกาสทางธุรกิจ ถึงแม้ว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการหาเงินทุน (เช่น มีดอกเบี้ยเงินกู้) แต่หากลองคำนวณดู เมื่อหักลบกับยอดขายที่จะทำได้เพิ่มขึ้นแล้วยังอาจคุ้มกับการลงทุนก็ได้
การหาเงินทุนเพิ่มเพื่อนำไปสต็อกสินค้าแบบนี้เป็นวัตถุประสงค์หลักของธุรกิจหลายเจ้าที่ออกหุ้นกู้กับ PeerPower ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเทรดดิง เช่น
N-Squared eCommerce ซึ่งเป็นอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ มีเงินหมุนหลักหลายล้านในแต่ละเดือน หรือธุรกิจผลิตสินค้าอย่าง Green Latex ผู้ผลิตหมอนและสินค้ายางพาราที่ทั้งส่งออกและขายในประเทศ ต่างก็ได้ใช้เงินทุนเพื่อประโยชน์ข้อนี้
โดยทั้งคู่ออกหุ้นกู้ระยะสั้นไม่เกิน 3 เดือน ประเภท Trade Financing Bond กับ PeerPower เป็นประจำเพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนสำหรับสต็อกสินค้า
เพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้วยการให้เครดิตเทอมที่ดึงดูดลูกค้า
ปัญหากวนใจอีกข้อสำหรับผู้ประกอบการที่มีเงินสดในมือไม่พอนั่นก็คือ “ส่งงานแล้ว แต่ลูกค้ายังไม่จ่ายเงินสักที” เมื่อลูกค้าเจ้าเก่ายังไม่จ่ายเงิน ผู้ประกอบการก็ขาดเงินหมุนไปเป็นต้นทุนสำหรับรับงานเจ้าใหม่
ผู้ประกอบการที่มักประสบปัญหานี้หนักกว่าใครก็คือเจ้าของธุรกิจแบบ B2B หรือ business-to-business ที่ขายสินค้าล็อตใหญ่ ให้บริการเป็นโครงการกับลูกค้าธุรกิจอื่น ๆ หรือแม้แต่เจ้าของแบรนด์ที่นำสินค้าไปฝากวางขายตามห้างร้าน ด้วยลักษณะการเบิกจ่ายของธุรกิจที่มักมีขั้นตอนกินเวลา
สัญญาซื้อขายของธุรกิจประเภทนี้จึงมักมี “เครดิตเทอม” เป็นเวลาหลักเดือน นั่นหมายความว่า กว่าผู้ประกอบการจะได้รับเงินก็อาจกินเวลาเป็นเดือน ๆ หลังส่งมอบสินค้า โดยเฉพาะหากเป็นโครงการที่มีลูกค้าเป็นภาครัฐก็อาจจะยิ่งนานเป็นพิเศษ
ใคร ๆ ก็อยากได้ลูกค้าที่จ่ายเงินเร็ว แต่หากธุรกิจมีสายป่านยาวพอจะรับลูกค้ารายใหญ่ที่อาจจะจ่ายเงินช้าหน่อยได้นั้น ก็หมายถึงโอกาสการขายล็อตใหญ่ซึ่งอาจนำไปสู่โครงการอื่น ๆ ในอนาคตอีกด้วย หรือบางครั้งผู้ประกอบการอาจสามารถเรียกราคาสินค้าหรือบริการได้สูงขึ้นเพื่อแลกกับการให้เครดิตเทอมลูกค้ายาวขึ้น ดังนั้นการมีเงินหมุนเพียงพอในส่วนนี้จึงหมายถึงโอกาสทางธุรกิจอีกหลายอย่าง
การกู้เงินเพื่อหาเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมเป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ในขณะที่รอลูกค้าชำระเงินตามสัญญา
Local Alike และ Find Folk เป็นตัวอย่างธุรกิจที่เพิ่มเงินทุนหมุนเวียนด้วยหุ้นกู้กับ PeerPower ทั้งสองบริษัทเป็นธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อชุมชนที่ยั่งยืนที่ทำงานน่าสนใจจนได้รับโครงการจากภาครัฐ และได้ออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงประเภท Basic Bond เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนให้ไปรับโครงการใหม่ ๆ หรือออกผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ในขณะที่รอการเบิกจ่ายเงินจากโครงการภาครัฐ
นำเงินทุนไปลดต้นทุน
ข้อนี้ฟังเผิน ๆ อาจจะงง แต่อย่าเพิ่งงง เพราะมันก็เป็นหลักการเดียวกับว่าทำไมคนรวยถึงซื้อของได้ถูกกว่าคนจนนั่นเอง แล้วผู้ประกอบการที่กู้เงินไปทำธุรกิจจะสามารถช่วยลดต้นทุนได้ยังไง เราขอยกตัวอย่าง 2 กรณีแบบนี้
- เพิ่มเงินทุนไปสั่งของล็อตใหญ่ : หลักการเดียวกับ “เหมาโหลถูกกว่า” ยิ่งคุณซื้อของปริมาณมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสขอส่วนลดจากคนขายได้มากเท่านั้น ธุรกิจก็เช่นกัน การซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้าทีละล็อตใหญ่ย่อมได้ราคาถูกกว่าซื้อทีละเล็กละน้อย ตราบใดที่ผู้ประกอบการสามารถคาดเดาได้ว่าแต่ละช่วงจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาเท่าไหร่ การซื้อวัตถุดิบมาเตรียมไว้ก่อนจะช่วยประหยัดต้นทุนไปได้
ตัวอย่างบริษัทที่ได้ระดมทุนคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower ไปเพื่อวัตถุประสงค์นี้คือ “หอมมนต์เบเกอรี่” ธุรกิจแฟรนไชส์เบเกอรี่ที่มีมูลค่ากว่าร้อยล้านบาท ผลิตขนมวันละกว่า 50,000 ชิ้น หอมมนต์ออกหุ้นกู้กับ PeerPower แบบ Basic Bond เพื่อเพิ่มเงินหมุนใช้ซื้อวัตถุดิบขนมทีละได้ล็อตใหญ่ขึ้น ได้รับส่วนลดจากคู่ค้าหลายเปอร์เซนต์จนคุ้มกับค่าใช้จ่ายในการออกหุ้นกู้ครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังอยู่ว่าผู้ประกอบการไม่ควรซื้อวัตถุดิบมาตุนเยอะเกินกว่าที่จะมีคำสั่งซื้อเข้ามาจริง เพราะแทนที่จะได้กู้เงินทำธุรกิจที่ได้ประโยชน์กลับจะกลายเป็นการเอาเงินไปจม ดังนั้นการคาดการณ์คำสั่งซื้อของลูกค้าได้อย่างแม่นยำจึงเป็นเรื่องสำคัญ
- นำเงินทุนไปจ่ายผู้ผลิตเร็วขึ้นเพื่อรับส่วนลด : ข้อนี้จะมองว่าเป็นด้านกลับของการให้เครดิตเทอมยาว ๆ กับลูกค้าก็ได้ ขณะที่ในมุมคนซื้อเราต้องการจ่ายเงินออกให้ช้าที่สุด แต่ในมุมคนขายก็ต้องการได้รับเงินให้เร็วที่สุดเพื่อเอาไปหมุน ดังนั้นคู่ค้าที่เป็นผู้ผลิตหรือจัดหาวัตถุดิบให้เราก็อยากได้เงินเร็วเช่นกัน เมื่อเข้าใจแบบนี้ ผู้ประกอบการอาจสามารถเจรจากับคู่ค้าได้ว่าหากชำระเงินเร็วขึ้นจะได้รับส่วนลดเท่าไหร่ ส่วนลดที่ได้นั้นอาจมากกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในการหาเงินทุนก็เป็นได้
ธุรกิจของคุณก็สามารถเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนเพื่อโอกาสทางธุรกิจทั้ง 3 แบบได้เช่นกัน โดยผู้ให้สินเชื่อหลายเจ้า รวมทั้ง PeerPower เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำใบสั่งซื้อสินค้า ใบแจ้งหนี้ หรือ invoice มาเป็นหลักฐานขอกู้เงินทุนได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน (Invoice Factoring)
เมื่อมีเงินหมุนเพียงพอให้ทำกำไรได้เต็มที่ในแต่ละวันแล้ว เหตุผลถัดมาที่ผู้ประกอบการจะมองหาสินเชื่อธุรกิจก็คือการขยายกิจการ หรือการลงทุนก้อนใหญ่เพื่อช่วยผลักดันธุรกิจระยะยาว
เปิดโปรเจคใหม่ ขยายธุรกิจ
เมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จมาระยะหนึ่งแล้ว เจ้าของธุรกิจส่วนมากมักเห็นโอกาสที่จะขยายกิจการไปได้กว้างขึ้นด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขยายบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น หรือรับงานใหญ่ในสเกลที่ไม่เคยทำมาก่อน หากคุณเป็นร้านขายกระเป๋าหนังคุณก็อาจจะอยากเริ่มขายรองเท้าหนังเพิ่มอีกอย่าง หรือถ้าคุณให้บริการทำเว็บไซต์อยู่คุณก็อาจจะขยายไปรับทำแอปพลิเคชันมือถือด้วย
สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำให้เป้าหมายนี้สำเร็จก็คือต้องมีทรัพยากรเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการจ้างพนักงานเพิ่ม ขยายขนาดออฟฟิศ หรือค่าต้นทุนวัตถุดิบอื่น ๆ ที่เป็นเงินทุนก้อนใหญ่ จนอาจใหญ่เกินเงินสดที่บริษัทมีอยู่ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจึงต้องหาทางเลือกสินเชื่อธุรกิจหรือการกู้เงินมาทำธุรกิจ
ปัญหาที่ผู้ประกอบการหลายเจ้าเจอก็คือ ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ เช่น ที่ดิน เครื่องจักร ไปค้ำประกัน การขอสินเชื่อธุรกิจมักเป็นไปได้ยาก หรือถ้าได้ก็ได้วงเงินไม่เพียงพอจะไปทำโครงการ
หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง Basic Bond ที่ไม่ต้องใช้หลักประกันของ PeerPower เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยหลายบริษัทริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น
Openbox Architect ที่ใช้เงินระดมทุน 20 ล้านบาทมาขยายธุรกิจจากการเป็นบริษัทสถาปนิกรับออกแบบอย่างเดียว ผันตัวไปทำโครงการบ้านจัดสรรครบวงจรที่ออกแบบเอง หรือ
SHIN-A Service เอเจนซีโฆษณาที่ได้เงินจากการระดมทุนคราวด์ฟันดิงกับเราจนมีเงินสดเพียงพอไปรับงานใหญ่ ที่สุดท้ายทำให้บริษัทขยายธุรกิจจากหลัก 10 ล้านเป็น 100 ล้านได้สำเร็จ
เคล็ดลับระดมทุนให้สำเร็จ หากคุณเป็นผู้ประกอบการที่กำลังคิดจะขยายธุรกิจครั้งใหญ่ สิ่งสำคัญคือต้องตอบให้ได้ว่าแผนเดินหน้าก้าวนี้จะประสบความสำเร็จได้ด้วยปัจจัยอะไรบ้าง ธุรกิจของเรามีอะไรที่เหนือกว่าคู่แข่ง และเรามีผลประกอบการอะไรที่ผ่านมาเป็นฐานให้ต่อยอดความสำเร็จได้บ้าง (ถ้าอยากรู้เพิ่มเติมลองอ่านเรื่องการวิเคราะห์คู่แข่งแบบละเอียดด้วย Porter’s 5 Forces Model)
การหาเงินทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower เราไม่เรียกร้องให้ผู้ประกอบการต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกันในแบบเดียวกับสินเชื่อธุรกิจทั่วไป เพราะเราเข้าใจว่าธุรกิจสมัยนี้มีทรัพยากรอื่น ๆ ที่มีมูลค่าแม้จะไม่ใช่ของที่ขายทอดตลาดได้ ทั้งความสามารถของพนักงาน และองค์ความรู้ของผู้ประกอบการล้วนเป็นทรัพยากรที่มีค่าไม่แพ้กัน แต่ในขณะเดียวกัน การจะระดมทุนให้สำเร็จนั้นผู้ประกอบการก็ต้องสามารถให้ความมั่นใจกับนักลงทุนได้ด้วยว่าทำไมธุรกิจของเราจึงน่าลงทุนด้วย
กู้เงินมาลงทุนในเครื่องจักรหรือสินทรัพย์ระยะยาว (CAPEX)
ค่าใช้จ่ายสำคัญอย่างหนึ่งในการขยายกิจการ โดยเฉพาะธุรกิจผู้ผลิต ก็คือการจ่ายไปกับสินทรัพย์ระยะยาว ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น
- การซื้อสินทรัพย์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อขยายพื้นที่โรงงานหรือเปิดสาขาใหม่ ๆ ซื้อรถมาขนส่งสินค้าได้เพิ่ม ซื้อเครื่องจักรเพิ่มเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต หรือการซื้ออุปกรณ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิตให้ได้ดีกว่าเดิม (ถือเป็นการลดต้นทุนในระยะยาว)
- การบำรุงรักษาสินทรัพย์เดิม เช่น ซ่อมบำรุงเครื่องจักรการผลิตที่เสียหาย หรือรีโนเวทสำนักงานใหม่ให้พนักงานทำงานได้สะดวกขึ้น มีภาพลักษณ์ดีขึ้นในสายตาลูกค้า เป็นต้น
CAPEX ย่อมาจาก Capital Expenditure หรือ “ค่าใช้จ่ายในการลงทุน” หมายถึง ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ของบริษัทที่ใช้ไปกับสินทรัพย์ระยะยาว เช่น ที่ดิน เครื่องจักร ยานพาหนะ
ค่าใช้จ่ายประเภท CAPEX นี้มักเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ที่กว่าจะได้ทุนคืนก็มักกินเวลามากกว่า 1 ปี ถ้าจะกู้เงินมาลงทุนส่วนนี้ก็ต้องวางแผนให้ดี แต่สำหรับธุรกิจที่มีพื้นฐานมั่นคง สามารถทำนายคำสั่งซื้อได้ว่าจะเติบโตขึ้น การลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ก็เป็นการลงทุนครั้งสำคัญที่จะปลดล็อกโอกาสทางธุรกิจ
ตัวอย่างธุรกิจที่ได้ระดมทุนคราวด์ฟันดิงเพื่อนำไปลงทุนในเครื่องจักรเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจครั้งสำคัญ คือ
Northern Biogas ผู้ผลิตก๊าซชีวมวลและไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลรายใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย Northern Biogas ได้ออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงประเภท Basic Bond กับ PeerPower และนำเงินที่ได้หลายสิบล้านบาทไปลงทุนซื้อเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า 4 เครื่องเป็นของตัวเอง
การลงทุนครั้งนี้จะทำให้บริษัทผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้นเพื่อมารับความต้องการในตลาดประเทศไทย และยังสามารถตัดค่าเช่าเครื่องผลิตที่ต้องจ่ายอยู่เดิมเป็นประจำ แม้จะทำให้บริษัทต้องมีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ในตอนนี้ แต่เมื่อมองระยะยาวแล้วก็เป็นโอกาสที่จะทำทุนคืนแถมเพิ่มกำไรได้ในไม่ช้า
สำหรับผู้ประกอบการที่ลงทุนซื้อสินทรัพย์ชิ้นใหญ่ไปแล้ว สามารถนำสินทรัพย์นั้นมาเป็นหลักประกันเพื่อหาเงินทุนไปหมุนเวียนธุรกิจต่อได้เช่นกัน PeerPower มีหุ้นกู้ประเภท Mortgage Bond ที่ให้ผู้ประกอบการจ่ายดอกเบี้ยน้อยลงโดยใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกัน ให้ระยะเวลากู้ยืมยาวขึ้น สูงสุดถึง 36 เดือน
พูดถึงรีไฟแนนซ์หลายคนอาจจะติดภาพไม่ค่อยดีว่าธุรกิจที่ต้องรีไฟแนนซ์คือธุรกิจที่หนี้สินล้นตัวจนไปไม่รอด ซึ่งบางธุรกิจก็อาจเป็นแบบนั้นจริง ๆ แต่ก็ไม่เสมอไป ถ้าเข้าใจก่อนว่าการขอสินเชื่อมาทำธุรกิจเป็นเรื่องปกติ และเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจด้วยซ้ำ (อย่างที่เรานำเสนอไปใน 2 หัวข้อแรก) ก็จะเข้าใจได้ว่าการรีไฟแนนซ์ก็เป็นโอกาสทางธุรกิจอย่างหนึ่งเช่นกัน
การกู้เงินมาทำธุรกิจนั้นผู้ประกอบการควรคอยดูบัญชีอยู่เสมอว่าตอนนี้ธุรกิจของเรามีค่าใช้จ่ายด้านการเงิน (พูดง่าย ๆ ก็คือค่าดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมนั่นแหละ) เท่าไหร่บ้าง และมีกู้ยืมอยู่ที่ช่องทางไหนบ้าง รวมทั้งหาข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ที่มักเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามสภาพเศรษฐกิจ (เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย)
และถ้าหากผู้ประกอบการพบว่าตอนนี้เงื่อนไขเงินกู้ของเราไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็อาจถึงเวลาที่ควรพิจารณาการรีไฟแนนซ์
ข้อดีของการรีไฟแนนซ์ธุรกิจมีอะไรบ้าง
1. รวมหลายหนี้ให้อยู่ที่เดียว ต่อรองดอกเบี้ยและเงื่อนไขการผ่อนจ่ายได้ดีขึ้น
ผู้ประกอบการหลายคนมีการกู้เงินจากหลายที่เพื่อทำธุรกิจ อาจมาจากบัตรเครดิตบ้าง สินเชื่อเบิกเกินวงเงิน (OD หรือ Overdraft) บ้าง หรือบางครั้งเมื่อสินเชื่อ SME จากธนาคารได้วงเงินไม่เพียงพอ จึงทำให้ต้องขอสินเชื่อธุรกจอื่น ๆ มาเสริม การต้องมาตามจ่ายหนี้แต่ละตัวยิบย่อยทุกเดือน นอกจากจะน่าปวดหัวแล้ว หนี้ย่อย ๆ เหล่านี้บางครั้งก็มาพร้อมกับดอกเบี้ยที่สูงโดยไม่รู้ตัว (เช่น ดอกเบี้ยหนี้บัตรเครดิตที่อาจสูงถึง 28% ต่อปี)
ในกรณีนี้ผู้ประกอบการสามารถรวมหนี้ย่อย ๆ ให้เป็นก้อนเดียว ทั้งเพื่อให้สะดวกต่อการจัดการ และสามารถต่อรองให้ได้เครดิตเทอมที่เราต้องการมากขึ้น อาจได้ดอกเบี้ยถูกลง หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปทำให้ผ่อนต่อเดือนน้อยลงก็เป็นไปได้
เช่น ผู้ประกอบการขอออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงกับ PeerPower วงเงิน 10 ล้านบาท เพื่อนำไปปิดหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด 5 ใบ แทนที่จะต้องผ่อนดอกเบี้ย 28% ต่อปี ก็อาจเหลือเพียง 12% ต่อปี ถ้าผู้ประกอบการได้ระยะเวลาหุ้นกู้ 18 เดือน ก็เท่ากับว่าประหยัดเงินค่าดอกเบี้ยไปสูงสุดถึง 1.6 ล้านบาทเลยทีเดียว แถมยังไม่ต้องกังวลว่าจะลืมจ่ายหนี้บัตรเครดิตใบไหนด้วย
2. ล็อกอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่ให้ขึ้นตามเงินเฟ้อ
สินเชื่อธุรกิจหลายแห่งคิดอัตราดอกเบี้ยเป็นแบบลอยตัว หมายความว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของเราจะเปลี่ยนแปลงไปตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายนี้ก็เปลี่ยนแปลงได้อีกตามสภาพเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่าในวันที่เซ็นสัญญากู้เงินเราอาจจะเสียดอกเบี้ย 10% แต่เมื่อเวลาผ่านไปดอกเบี้ยนโยบายปรับ ดอกเบี้ยเงินกู้ของเราอาจจะลดเป็น 8% หรือเพิ่มเป็น 12% ก็เป็นไปได้
ผู้ประกอบการจึงควรดูทิศทางเศรษฐกิจประกอบการตัดสินใจทางการเงิน อย่างช่วงที่ผ่านมาเงินเฟ้อพุ่งสูง ธนาคารทั่วโลกต่างพากันขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการเงินของผู้ประกอบการอาจเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่ได้ตั้งตัว การรีไฟแนนซ์กับแหล่งเงินกู้ใหม่ที่ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการประเมินค่าใช้จ่ายทางการเงินได้อย่างแน่นอน เพราะอัตราดอกเบี้ยจะเท่าเดิมตลอดระยะเวลาที่เราผ่อนชำระ แม้อัตราดอกเบี้ยนโบายจะปรับขึ้นไปเท่าไหร่ก็ตาม
หากผู้ประกอบการสนใจรีไฟแนนซ์ด้วยแหล่งเงินทุนที่ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ PeerPower ขอแนะนำหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง Basic Bond ที่เป็นหุ้นกู้ไม่ต้องใช้หลักประกัน หรือเลือกลดดอกเบี้ยลงไปอีกด้วย Mortgage Bond สำหรับผู้ประกอบการที่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน โดยยังได้อัตราดอกเบี้ยคงที่เช่นกัน
สรุปประโยชน์จากการกู้เงินทำธุรกิจ
มาถึงจุดนี้ผู้ประกอบการคงเห็นด้วยแล้วว่าการกู้เงินทำธุรกิจหรือขอสินเชื่อธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และไม่ได้เป็นเรื่องของธุรกิจที่ประสบปัญหาเท่านั้น แต่ธุรกิจที่มีกำลังเติบโตก็สามารถใช้แหล่งทุนจากการกู้ยืมเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสการขยายกิจการ หรือทำกำไรเพิ่มได้เช่นกัน
PeerPower ขอสรุปประโยชน์ที่ผู้ประกอบการอาจได้จากการกู้เงินทำธุรกิจดังนี้
- เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน เพิ่มโอกาสทำกำไรและรับลูกค้าต่อเนื่อง
- หาเงินทุนเพื่อขยายกิจการหรือลงทุนระยะยาว เป็นเงินก้อนใหญ่ในการทำโปรเจคใหม่ ๆ ขยายสาขา หรือซื้อเครื่องมือใหม่เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
- รีไฟแนนซ์ หาทางเลือกแหล่งเงินกู้ที่เราได้ประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้แหล่งเงินกู้สำหรับธุรกิจไม่ได้มีแค่สินเชื่อธุรกิจที่ผู้ประกอบการรู้จักกันทั่วไปเท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบอื่น ๆ เช่น หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้หลักประกัน และยังกระบวนการรวดเร็วกว่าธนาคารทั่วไป เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้ประกอบการพิจารณา
ธุรกิจที่สนใจออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของ PeerPower ได้ที่นี่ คลิก
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว