Success Strategy

เคล็ดลับบริหาร Cash Flow สำหรับ SME

by
December 27, 2017

เคล็ดลับบริหาร Cash Flow สำหรับ SME

เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่พบว่าการบริหารกระแสเงินสดในช่วงเทศกาลเป็นสิ่งที่ท้าทาย โดยเฉพาะธุรกิจที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่ได้ตอบโจทย์ช่วงเทศกาล สำหรับร้านค้าในกรุงเทพฯ จะพบว่า ลูกค้าเข้าร้านน้อยลงเนื่องจากลูกค้าบางส่วนทยอยเดินทางไปต่างจังหวัด หรือต่างประเทศกันหมด แล้วเจ้าของกิจการควรทำอย่างไร เมื่อมีกระแสเงินสดเข้ามาน้อยลง ในเมื่อพนักงานก็ต้องจ้าง โบนัสก็ต้องจ่าย? วันนี้เราได้รวบรวม 6 เทคนิคที่จะช่วยให้คุณบริหารกระแสเงินสดได้ดีขึ้นในช่วงเทศกาลค่ะ

1. ประมาณกระแสเงินสด (Cash Flow)

เจ้าของธุรกิจควรทำการพยากรณ์กระแสเงินสดและหมั่นติดตามรายงานงบกระแสเงินสดซึ่งจะช่วยให้คุณเห็นว่าช่วงใดมีเงินเข้า-ออก และในแต่ละเดือนมีเงินสดคงเหลือเท่าไหร่เจ้าของธุรกิจควรทราบว่าช่วงไหนคือช่วง "peak" ของธุรกิจ และช่วงไหนคือช่วงขาลงเมื่อคุณสามารถระบุช่วงเวลาได้ การประมาณกระแสเงินสดของคุณจะแม่นยำมากขึ้น คุณควรระวังการประมาณรายได้ที่สูงไปในช่วง "peak" หรือประมาณรายได้ต่ำไปในช่วงขาลงวิธีการในการประเมินว่าช่วงไหนคือช่วงขาขึ้น/ ขาลงของธุรกิจ

  • สำหรับธุรกิจที่ตั้งมาได้มากกว่า 3 ปี คุณสามารถดูข้อมูลการขายในอดีตย้อนหลัง และดูว่ามีช่วงไหนที่รายได้สูงกว่าช่วงอื่นเป็นทิศทางเดียวกันหรือไม่ และในทางตรงข้าม มีช่วงใดที่มีรายได้น้อยกว่าปกติหรือไม่หากข้อมูลในแต่ละปีไม่แสดงให้เห็นถึงเทรนด์ว่ามีช่วงไหนที่มีรายได้มากเป็นพิเศษ อาจเป็นไปได้ว่า เดือนที่รายได้สูงกว่าเดือนอื่น เกิดจากปัจจัยอื่นๆ เช่น การจัดโปรโมชั่น หรือเดือนที่รายได้ลดลงมีสาเหตุจากการที่บริษัทคู่แข่งจัดโปรโมชั่นเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาด เป็นต้น
  • สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ก่อตั้งธุรกิจได้ไม่นานนัก การประมาณกระแสเงินสดอาจต้องใช้ศิลป​์มากกว่าศาสตร์ เนื่องจากคุณไม่มีฐานข้อมูลในการคำนวณ วิธีที่เจ้าของธุรกิจสามารถทำได้คือ หาข้อมูลรายได้ของคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน และดูเทรนด์ว่าช่วงใดสินค้าขายดี หรือขายได้น้อย แต่ถ้าคุณไม่สามารถหาข้อมูลของคู่แข่งได้ คุณควรประเมินค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเบื้องต้น และทำการคูณเท่าตัวหรือ 3 เท่า ที่เราแนะนำเช่นนี้ เพราะส่วนใหญ่แล้วการประเมินค่าใช้จ่ายมักจะไม่แม่นยำ 100% เพราะในทางปฏิบัติแล้ว มักมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น

2. ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระเงินของลูกหนี้

ในช่วงเทศกาล หลายบริษัทจะมีวันหยุดและปิดรับวางบิลตั้งแต่กลางเดือน ในฐานะเจ้าหนี้ คุณควรวางแผนล่วงหน้าเพื่อไม่ให้กระทบกับกระแสเงินสดของคุณ หากคุณพบว่ากระแสเงินสดของคุณมักมีปัญหาเนื่องจากลูกหนี้จ่ายเงินช้าแล้วล่ะก็ คุณควรลดเครดิตลง เช่นจาก 60 วันเป็น 45 วัน เราขอแนะนำให้ใช้วิธีนี้กับลูกค้าใหม่ก่อน และเมื่อถึงปีใหม่ คุณอาจจะติดต่อลูกค้าเก่าของคุณและชี้แจงถึงการเปลี่ยนแปลง credit term

3. ติดตามทวงถามหนี้ก่อนที่จะสายเกินไป

แม้จะอยู่ในช่วงเทศกาล คุณไม่ควรหยุดติดตามหนี้กับลูกค้าที่จ่ายเงินล่าช้า หากในช่วงนี้มีใบแจ้งหนี้ที่ลูกค้ายังไม่จ่าย คุณควรติดตามอย่างใกล้ชิด ยิ่งใกล้วันหยุดยาวมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสในการได้เงินจะยากขึ้นเท่านั้นหากคุณพบว่าการติดตามลูกหนี้เป็นปัญหาหนึ่งของการเงินบริษัท คุณอาจจะลองเสนอแรงจูงใจ เช่น ให้ส่วนลดพิเศษสำหรับลูกค้าที่ชำระเงินเร็ว เป็นต้น สำหรับธุรกรรมที่มีวงเงินสูง คุณอาจจะให้ลูกหนี้ของคุณสามารถผ่อนชำระได้ เท่านี้คุณก็จะได้เงินสดมาอยู่ในบัญชีและสามารถผ่านพ้นช่วงเทศกาลไปได้ด้วยดี

4. เจรจาการจ่ายเงินกับเจ้าหนี้

เป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจที่คุณจะมีทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ นอกจากคุณมีลูกหนี้ที่ต้องบริหารแล้ว คุณเองก็ยังต้องมีวิธีเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ด้วยเช่นกันหากมีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่เข้ามา แต่คุณพบว่ากระแสเงินสดในช่วงนี้น่าเป็นห่วง คุณควรต่อรองกับเจ้าหนี้เพื่อเลื่อนการชำระออกไปหลังปีใหม่ หรือขอจ่ายเพียงบางส่วนของจำนวนเงินทั้งหมด อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ แนะนำสำหรับเจ้าของกิจการที่พบว่าธุรกิจขาดกระแสเงินสดเท่านั้น ในทางธรรมเนียมปฏิบัติ คุณควรรักษาเครดิตกับเจ้าหนี้ของคุณเพื่อความน่าเชื่อถือ

5. เตรียมพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นพิเศษในช่วงนี้

ช่วงนี้คุณอาจพบว่าค่าใช้จ่ายบริษัทสูงเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงที่คนเฉลิมฉลอง หลายบริษัทมีการจัดงานเลี้ยงเพื่อขอบคุณพนักงาน ซื้อของขวัญปีใหม่เพื่อขอบคุณพาร์ทเนอร์ จ่ายโบนัสพนักงาน ฯลฯ คุณควรมั่นใจว่าคุณได้เตรียมการพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เพราะในช่วงหยุดยาว เจ้าของธุรกิจเช่นคุณก็อยากพักผ่อนอย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเงินใช่หรือไม่คะ

6. สื่อสารกับคนในองค์กรเกี่ยวกับนโยบายการเงินบริษัท

การจัดการเรื่องกระแสเงินสดไม่ใช่เรื่องที่เจ้าของธุรกิจหรือพนักงานบัญชีควรใส่ใจเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทีมผู้บริหารทุกคนควรเห็นภาพตรงกัน คุณควรชี้แจงกับพนักงานระดับผู้บริหารถึงนโยบายบริษัท และให้ระมัดระวังเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลนี้หากคุณพบว่ากระแสเงินสดของคุณกำลังประสบปัญหา ทั้งๆ ที่คุณได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว อาจเป็นเพราะว่าช่วงเทศกาล บริษัทมีความจำเป็นต้องใช้เงินสดเพื่อออกเงินล่วงหน้าไปก่อน ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจของคุณไปได้ไม่ดี เพียงแต่ธรรมชาติของธุรกิจบังคับให้คุณต้องทำเช่นนี้ คุณควรพิจารณาขอสินเชื่อเพื่อบรรเทาปัญหากระแสเงินสด โดยสินเชื่อควรมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าผลกำไรที่ธุรกิจของคุณจะได้รับ พูดง่ายๆ ก็คือ เงินก้อนนี้จะมาช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องเพียงชั่วคราว

เพียร์ พาวเวอร์ คือผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งระบบคราวด์ฟันดิงคือตัวกลางในการระดมทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ด้วยวิธีการออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ในขณะเดียวกันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่สามารถเข้ามาลงทุนในธุรกิจที่เสนอขายหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงในแพลตฟอร์มได้ สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ ที่นี่

_______________________________________________________________________

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร