พลังงานหมุนเวียน : โอกาสในวิกฤตเมื่ออียูเตรียมเก็บภาษี CBAM กับสินค้านำเข้าที่ไม่คุมการปล่อยคาร์บอน
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อียูได้เคาะมาตรการ CBAM เพื่อเก็บภาษีเพิ่มสำหรับสินค้านำเข้าที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ซึ่งอาจกระทบสินค้าส่งออกของไทยมูลค่าสูงถึง 952 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านกระทรวงพาณิชย์ก็ออกมาแนะนำให้ผู้ประกอบการเร่งแสวงหาโอกาสเกี่ยวกับธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ว่าแต่ CBAM คืออะไร และทำไมการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนจึงเป็นเทรนด์ที่น่าจับตา วันนี้เพียร์ พาวเวอร์จะมาเล่าให้ฟัง
CBAM คืออะไร
มาตรการจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือ CBAM เริ่มเสนอเข้าสู่สภายุโรปตั้งแต่ปี 2021 โดยเป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในสหภาพยุโรปเองที่ริเริ่มเมื่อปี 2005 ในครั้งนั้นอียูมีการกำหนดเกณฑ์ว่าแต่ละธุรกิจจะสามารถปล่อยคาร์บอน หรือ carbon footprint สูงสุดได้เท่าไหร่ และหากปล่อยเกินเกณฑ์ก็ต้องไปซื้อสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนเพิ่มจากธุรกิจอื่น ตามนโยบายที่เรียกว่า Emission Trading System (ETS) การออกมาตรการเช่นนี้เพื่อกดดันให้ธุรกิจเร่งปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ก็ทำให้ต้นทุนในการผลิตอาจสูงขึ้นตามไปเช่นกันเมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีผู้ประกอบการหัวใสย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศนอกกลุ่มอียูที่ไม่ได้มีกฎควบคุมการปล่อยคาร์บอน รวมทั้งมีผู้บริโภคที่หันไปซื้อสินค้านำเข้าที่มีต้นทุนถูกกว่า กลายเป็นว่าทำให้ผู้ประกอบการภายในอียูที่ปฏิบัติตามมาตรการต้องตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบในการแข่งขันเพื่อแก้ปัญหานี้ อียูจึงกำหนดนโยบายใหม่ที่เรียกว่า CBAM ขึ้น กล่าวคือจะจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่ไม่มีระเบียบควบคุมการปล่อยคาร์บอน เบื้องต้นจะจัดเก็บกับสินค้า 5 กลุ่ม ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็ก อลูมิเนียม และกระแสไฟฟ้า โดยจะเริ่มเก็บภาษีจริงในปี 2026 แต่ระหว่างปี 2023-25 ผู้นำเข้าก็ต้องเริ่มรายงานตัวเลขการปล่อยคาร์บอนในการผลิตสินค้าต่อหน่วยงานกำกับดูแลแล้วอย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่านอกจากสินค้า 5 กลุ่มข้างต้น อียูอาจเพิ่มกลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์และพลาสติก รวมทั้งอาจเลื่อนการเริ่มเก็บภาษีให้เร็วขึ้นเป็นปี 2025 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกอย่างไทยมากยิ่งขึ้น
ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย
มาตรการ CBAM มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง ในฐานะประเทศ “รับจ้างผลิต” ที่พึ่งพิงการส่งออกค่อนข้างมาก ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า 4.3% ของมูลค่าการส่งออกจากไทยไปอียูเป็นสินค้าที่เข้าข่าย CBAM หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 952 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตัวเลขจากปี 2021) ราคาสินค้าส่งออกเหล่านี้จะแพงขึ้นจากต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งในตลาด หรือที่หนักไปอีกคือสินค้านั้น ๆ อาจไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าอียูเลย[caption id="attachment_11021" align="aligncenter" width="474"]
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย[/caption]ไม่เพียงการส่งออกไปอียูเท่านั้น แต่มีความเป็นไปได้ว่าแม้แต่การส่งออกวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนสินค้าไปให้ประเทศอื่นที่จะนำไปผลิตสินค้าส่งออกสู่อียูอีกทอดหนึ่งก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่น บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นที่ใช้ชิ้นส่วนซึ่งผลิตในประเทศไทย อาจต้องเสียภาษี CBAM เมื่อส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยังอียู เพราะสินค้านั้นมีชิ้นส่วนที่ผลิตโดยมี carbon footprint เกินเกณฑ์อยู่ ในมุมนี้จึงมีความเสี่ยงที่บริษัทต่างชาติจะไม่อยากมาตั้งฐานการผลิตในไทย หากไทยไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตได้
ไม่ใช่แค่อียู แต่จะขยายไปทั่วโลก
จะมองว่า CBAM คือมาตรการกีดกันทางการค้าก็ได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์โลกตอนนี้กำลังมุ่งไปสู่การพยายามแก้ปัญหา climate change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยักษ์ใหญ่อย่างอียู อังกฤษและสหรัฐต่างมีนโยบายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ส่วนของไทยได้ประกาศไว้ในที่ประชุม COP26 ว่าอยู่ที่ปี 2065 ดังนั้นมาตรการอย่าง CBAM จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น สหรัฐเองเริ่มมีการเสนอมาตรการลักษณะเดียวกันโดยเรียกว่าเป็น “ค่าธรรมเนียมการนำเข้าสำหรับผู้ก่อมลพิษ” (Polluter Import Fee) นับจากนี้เราคงได้เห็นมาตรการอื่น ๆ ที่จะกดดันให้ผู้ประกอบการต้องหันมาปรับการผลิตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงอย่างแน่นอน
โอกาสในวิกฤต : ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน
จากปัจจัยกดดันทางการค้าที่กล่าวมา รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนอื่นทั้งในและนอกประเทศไทย คงพอจะเห็นภาพกันแล้วว่าเทคโนโลยีสีเขียวและพลังงานหมุนเวียนไม่ใช่เพียงทางรอดจากวิกฤตโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางให้ธุรกิจทำกำไรจากเทคโนโลยีและบริการเหล่านี้อีกด้วย ไม่เพียงมาตรการภาครัฐ แต่ภาคธุรกิจเองจำนวนมากก็สมัครใจรักษ์โลกด้วยการประกาศว่าจะเป็น Net Zero หรือกระทั่งเป็น Carbon Negative (คือช่วยกำจัดก๊าซเรือนกระจกมากกว่าที่ปล่อยออกมา) อย่างที่ไมโครซอฟต์ประกาศไว้ว่าจะทำให้ได้ภายในปี 2030 บริษัทเหล่านี้มีนโยบายอย่างการใช้พลังงานสะอาดในทุกโรงงานและสำนักงานทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ดังนั้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนจึงมีตลาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันถือว่าความต้องการพลังงานสะอาดในประเทศไทยยังมีมากกว่าที่ผลิตได้ด้วยซ้ำสำหรับนักลงทุนที่มองการณ์ไกล นี่คือสัญญาณให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการเริ่มกระจายพอร์ตมาลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยไม่ต้องรอให้อียูบังคับเก็บภาษีคาร์บอนในปี 2026 เพราะแค่ปัจจุบันโรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในไทยก็เซ็นสัญญาขายไฟเต็มกำลังการผลิตล่วงหน้ากันไปเป็นสิบปีแล้วสำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เพียร์ พาวเวอร์ขอชวนมาทำความรู้จักกับ Project Green Energy ซึ่งเป็นโครงการระดมทุนหุ้นคราวด์ฟันดิง ที่จะเป็นโอกาสให้คุณได้ลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า และก๊าซชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเพื่อเปิดบัญชีนักลงทุนกับแพลตฟอร์มเพียร์ พาวเวอร์ได้แล้ววันนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเปิดบัญชี