ในปี 2023 จะมีปัจจัย 7 อย่างที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งคือ ความสุขกาพกาย สุขภายใจ (Wellbeing), ความคุ้มค่า (Value), สิทธิ ความเคารพ และคุ้มครอง (Rights), การได้รับการยอมรับ (Identity), ประสบการณ์ใหม่ ๆ (Experiences), ความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม (Surroundings), และ เทคโนโลยี (Technology) ซึ่งสามารถแบ่งย่อยเป็น 5 พฤติกรรมผู้บริโภคได้ดังนี้
- เสพความเป็นตัวตน ให้ความสำคัญกับการ Personalisation มากขึ้น
- ต้องการมีส่วนร่วม ต้องการให้แบรนด์ฟังเสียงและเข้าใจว่าต้องการอะไร
- เหน็ดเหนื่อยหมดไฟ เป็นผลมาจากการรับสื่อข่าวสารตลอดเวลา จึงต้องการสิ่งที่จะช่วยทำให้สบายใจ
- สนับสนุนชุมชนเพื่อสังคมและความยั่งยืน มีส่วนมากจากกระแสรักษ์โลก (sustainability) และการทำดีเพื่อคืนกำไรให้โลกและสังคม
- ใช้จ่ายอย่างรู้ค่า เป็นผลมาจากเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ยอมจ่ายเพื่อให้รางวัลตัวเอง
5 พฤติกรรมผู้บริโภคมาแรงปี 2023 เทรนด์อะไรกำลังมา รู้ก่อนเตรียมตัวก่อน
ปีใหม่ 2023 นี้ ผู้ประกอบการหลายท่านอาจเริ่มมีแผนที่จะขยับขยายกิจการหรือบุกตลาดใหม่เพื่อมาเสริมพอร์ตธุรกิจให้แข็งแรงยิ่งขึ้น แต่อาจยังลังเลว่าจะเริ่มอย่างไรดีเพราะเศรษฐกิจก็ยังไม่แน่นอน ถ้าวางกลยุทธ์ผิดโชคร้ายอาจเจ๊งได้
วันนี้ PeerPower ได้รวบรวมเทรนด์ผู้บริโภคของปี 2023 มาให้ผู้ประกอบการทุกท่านได้ลองอ่าน ซึ่งเทรนด์เหล่านี้อาจเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการออกแบบเทคนิคการขายและสร้างรายได้ให้กับกิจการได้ จะมีอะไรบ้าง ลองติดตามกันดูค่ะ
บทความนี้เราจะพูดถึง
พฤติกรรมของผู้บริโภคคืออะไร มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลบ้าง
พฤติกรรมที่ 1: เสพความเป็นตัวตน
พฤติกรรมที่ 2: ต้องการมีส่วนร่วมมากขึ้น
พฤติกรรมที่ 3: เหน็ดเหนื่อยหมดไฟ
พฤติกรรมที่ 4: สนับสนุนชุมชนเพื่อสังคมและความยั่งยืน
พฤติกรรมที่ 5: ใช้จ่ายอย่างรู้ค่า
พฤติกรรมผู้บริโภค หมายถึง การศึกษาการตัดสินใจของผู้บริโภคต่อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปในทิศทางใด จะใช้หรือซื้อสินค้านั้นมั้ย หรือมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะสามารถกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้า ฯลฯ ข้อมูลส่วนนี้มีประโยชน์มากสำหรับผู้ประกอบการ เพราะจะทำให้รู้ insight ของลูกค้าจนสามารถทำการตลาดเพื่อขายสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้ในที่สุด หากยิ่งรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคดีเท่าไหร่ แบรนด์ก็จะสามารถเจาะลูกค้าได้มากเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริง พฤติกรรมผู้บริโภคไม่ได้เหมือนเดิมตลอดเวลา ปัจจัยภายนอกเช่น เศรษฐกิจ สังคม ความชอบส่วนบุคคล และอื่น ๆ มีส่วนทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปเสมอ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นที่จะต้อง “เข้าใจ” ลูกค้า ผ่านการศึกษาเทรนด์ วิเคราะห์ตลาด-อุตสาหกรรม เพื่อปรับกลยุทธ์การขาย
สำหรับปี 2023 Mintel เอเจนซี่วิจัยการตลาดของอังกฤษ คาดการณ์ว่าปัจจัยที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคมีอยู่ 7 ข้อหลัก ๆ ด้วยกัน คือ
- สุขกาพกาย สุขภายใจ (Wellbeing)
- ความคุ้มค่า (Value)
- สิทธิ ความเคารพ และคุ้มครอง (Rights)
- การได้รับการยอมรับ (Identity)
- ประสบการณ์ใหม่ ๆ (Experiences)
- ความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม (Surroundings)
- เทคโนโลยี (Technology)
จาก 7 ปัจจัยข้างต้นอาจสรุปออกมาได้เป็น 5 พฤติกรรมผู้บริโภคของปี 2023 ได้หลัก ๆ คือ
คำถามเช่น “เราคือใครต้องการอะไร ” จะยังเป็นคำถามคลาสสิกในหมู่ผู้บริโภค แต่ในปี 2023 จะมีอีกคำถามเกิดขึ้นคือ “อะไรที่จะแสดงถึงตัวตนของเราแบบชัด ๆ”
การ “Personalisation” หรือ “ออกแบบสินค้า-บริการเฉพาะบุคคล” อาจไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะตั้งแต่ปี 2021 เราจะเห็นผู้ประกอบการเจ้าใหญ่ออกกลยุทธ์ Personalise และ Customise สินค้า-บริการกันหลากหลาย ตั้งแต่เบสิกไปยันแอดวานซ์ เช่น
- Officine Universalle Buly เสนอบริการสลักชื่อบนผลิตภัณฑ์ของแบรนด์
- Nike เปิดให้ลูกค้าออกแบบรองเท้าของตัวเอง
- Apple ที่ออกระบบปฎิบัติใหม่มาพร้อม feature ให้ผู้ใช้ปรับแต่งหน้า Home Screen ได้ตามใจ
Deloitte มีผลสำรวจว่า 80% ของผู้บริโภคยินดีที่ใช้สินค้าจากแบรนด์ที่ Personalisation ได้เข้ากับตัวเองมากที่สุด ดังนั้นในปีหน้าเทรนด์นี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อไปเพราะผู้บริโภคเสพติดการบริการ Personalised มากขึ้น ซึ่งเราจะเห็นแต่ละแบรนด์แข่งขันกลยุทธ์นี้กันดุเดือดกว่าเดิม โดยบางแบรนด์อาจยกระดับการบริการเป็น Hyper-Personalisation ใช้ Data วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อออกแบบบริการเฉพาะตัวให้ตรงใจลูกค้าที่สุด โดยอาจเป็นได้ตั้งแต่การยิงโฆษณาไปหาลูกค้าตามพฤติกรรมการเสิร์ชออนไลน์ จนถึงการจัดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับสินค้าที่ลูกค้าบางคนซื้อบ่อย
โอกาสสำหรับผู้ประกอบการ
หัวใจสำคัญของการ Personalisation คือการเสนอบริการที่ “ตรงใจลูกค้าที่สุด” รวมทั้งทำให้ลูกค้ารู้สึกสินค้าหรือบริการที่ได้รับ “เกิดมาเพื่อฉันเท่านั้น” ดังนั้นนอกจากการทำผลิตภัณฑ์ที่ปรับเปลี่ยนได้สำหรับลูกค้าแต่ละคน เช่น กระเป๋าปักชื่อ แก้วกาแฟตามราศี เมนูอาหารที่ให้เลือก “เครื่อง” ใส่ได้เยอะตามต้องการแล้ว การ personalisation ยังเกิดได้จากการบริการเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ใส่ชื่อลูกค้าในข้อความที่เราส่งไป จำชื่อลูกค้าได้เวลาเข้าร้าน หรือการออกโปรโมชั่นสำหรับลูกค้าบางกลุ่มโดยเฉพาะ (เช่น “ลดพิเศษสำหรับบุคลากรทางการแพทย์”)
หากผู้ประกอบการมีความพร้อมก็สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เก็บข้อมูลเพื่อทำการตลาดให้ตรงใจลูกค้าแต่ละคนได้เช่นกัน
ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการให้แบรนด์ “ฟัง” และ “เข้าใจ” จริง ๆ ว่าต้องการอะไร ก่อนหน้านี้ “บริษัท” อาจเป็นคนที่กำหนดทิศทางธุรกิจ วิเคราะห์ตลาดและออกผลิตภัณฑ์มาขาย กลยุทธ์นี้อาจได้ผลดีเมื่อก่อน แต่ปัจจุบันอาจจะไม่เวิร์กซะทีเดียว เพราะ “ลูกค้า” กลายเป็นตัวแปรสำคัญของธุรกิจในฐานะ “consumer” และ “co-creator” เพราะมีทั้งเงินที่จะซื้อของ และมีไอเดียด้วยว่าของที่อยากซื้อหรืออยากใช้ควรเป็นยังไง
ดังนั้นแทนที่จะทำการตลาดอ้อมโลก การรวมลูกค้า ซึ่งคือคนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเราจริง ๆ เข้ามาอยู่ในกระบวนการซะตั้งแต่แรกเลยจะยิ่งส่งผลดีกับแบรนด์ เพราะเมื่อได้มีส่วนร่วมแรงจูงใจที่จะซื้อสินค้ายิ่งสูงขึ้น
ปีที่ผ่านมาเราอาจเห็นตัวอย่างของการ “เอาคนใช้จริง” มาช่วยออกแบบ ทั้ง
- IKEA ที่เปิด “Ideas Factory” ให้ดีไซน์เนอร์มือสมัครร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์
- DHL เปิดพื้นที่ให้ลูกค้าออกแบบวิธีการส่งพัสดุแบบใหม่เพื่อแก้ปัญหาของส่งช้า
- นันยางที่ออกรองเท้าแตะช้างดาว Black Pink ฉลองศิลปินพร้อมกับลูกค้า ซึ่งก็เป็นแคมเปญที่ได้ผลตอบรับดีทั้งยอดขายและภาพลักษณ์
โอกาสสำหรับผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการสามารถปรับแนวทางนี้ให้เขากับธุรกิจของตัวเองได้โดยสร้างโมเดลธุรกิจที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วม เช่น อาจสร้างระบบ feedback รีวิวผลิตภัณฑ์ ทำแคมเปญประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ ฯลฯ
“ข่าวเยอะจนน่าปวดหัว” หรือ “ตามเทรนด์จนเหนื่อย” คือ พฤติกรรมหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นในหมู่ผู้บริโภคปีหน้า ซึ่งเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญมากที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมนี้
ในช่วง 2 ปีที่ผ่าน ผู้บริโภคใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นเป็นเท่าตัว สถิติการใช้งานทั่วโลกเฉลี่ยที่ราว 7 ชั่วโมงต่อวัน (คนไทยใช้ 9 ชั่วโมง) คอนเทนต์ต่าง ๆ ขยับมาบนแฟลตฟอร์มออนไลน์ ข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ จึงถาโถมเข้าสู่ผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น “เหตุไม่คาดฝัน” ทั้งสงคราม โรคระบาด และเงินเฟ้อ ก็ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดอาการล้าหมดไฟ Burnout หรือเก็บตัว Goblin Mode (ที่ Oxford ยกให้เป็นคำแห่งปี 2022) ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นในปี 2023 ผู้บริโภคจึงให้ความสำคัญ “สุขภาพกาย-สุขภาพใจ” มากขึ้น และจะแสวงหาสร้างไลฟ์สไตล์หรือผลิตภัณฑ์เพื่อกำจัดความเครียด McKinsey รายงานว่าในสหรัฐอเมริกาธุรกิจกลุ่ม Wellness และ Self-Care มีรายได้ราว 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะโตขึ้นอีกในปีถัด ๆ ไป
ตัวอย่างธุรกิจ wellness ที่น่าสนใจ เช่น
- บริษัทเครื่องสำอาง Selfmade ออกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวควบคู่ไปกับการปรับฮอร์โมน-จิตใจให้สมดุลผ่านสเต็ปการปรนนิบัติผิว ผลลัพท์คือสุขภาพผิวและจิตใจที่ดีขึ้น
โอกาสสำหรับผู้ประกอบการ
เมื่อ pain point ชัดเจนว่า “ทุกวันนี้มีแต่ความไม่สบายใจ” แบรนด์อาจสามารถดึงประเด็น “ออกแบบเพื่อความสบายใจ” มาเป็นจุดขายให้กับธุรกิจได้ แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องตีโจทย์ “ความสบาย” ใจให้แตก และผลิกแพลงให้เขากับธุรกิจตัวเอง
นอกจากนั้น นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการต้องหาวิธีการสื่อสารกับลูกค้าใหม่ โดยอาจคิดอยู่บนพื้นฐานที่ว่า “คุยแบบไหนให้ลูกค้าไม่รำคาญ” เน้นไปที่ประสิทธิภาพของการสื่อสารมากกว่าปริมาณเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและพอดีกับลูกค้า
ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการสร้างสังคมให้ดีขึ้น คือสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ เราเคยเขียนไปก่อนหน้านี้ว่ากระแส ESG กระทบกับธุรกิจในทุกภาคส่วน เทรนด์นี้อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ยกมาอธิบายได้
การซื้อของหรือใช้ผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นคือการสนับสนุนแนวคิดเรื่องความยั่งยืน เพราะเป็นการสนับสนุนชุมชน คืนกำไรให้สังคม และรักษ์โลกเพราะลด carbon footprint ที่เกิดจากการขนส่ง (บางกรณีอาจเกี่ยวเลยไปถึงการผลิต)
นอกจากนั้น สินค้าชุมชนยังเอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภคมากกว่าเพราะมีราคาถูกไม่มีต้นทุนแฝงบวกยิบย่อย และส่งได้ไวกว่า แถมผู้ประกอบการท้องถิ่นยังพัฒนาคุณภาพและดีไซน์ของสินค้ามีคุณภาพดีเท่าสินค้านำเข้าจากภายนอกผู้บริโภคยิ่งสนับสนุน
ตัวอย่างแบรนด์ที่ตอบรับพฤติกรรมนี้ของผู้บริโภค เช่น
- Lays ที่ผลิตจากมันฝรั่งในไร่ที่เชียงใหม่เพื่อส่งเสริมเกษตรในพื้นที่
หลายบริษัทที่ระดมทุนกับ PeerPower ก็เกิดขึ้นจากผลผลิตในชุมชนเช่นกัน เช่น
- Local Alike บริษัทรัฐวิสาหกิจเพื่อชุมชน พัฒนาสินค้าเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ภายใต้แบรนด์ Local Aroi และ Local Alot
- NGL ธุรกิจผลิตหมอนและเครื่องใช้จากยางพารา ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรรมยางพาราไทย
โอกาสสำหรับผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถขยายโอกาสให้ธุรกิจตัวเองโดยการทำให้ผู้บริโภคเห็นสินค้ามากขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะแม้เทรนด์นี้จะฟังดูรักษ์โลกและออร์แกนิกแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคจะเข้าถึงชุมชนเพื่อซื้อสินค้า การขยายช่องทางการขายไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์จะสร้างโอกาสทางการขายได้มากกว่า
นอกจากนั้นแล้ว เทรนด์นี้อาจเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการคิดถึง supply chain ของตัวเองใหม่ ลองคิดถึง supply chain อย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เช่น หากก่อนหน้านี้ฐานการผลิตอยู่ในต่างประเทศ ผู้ประกอบการอาจเริ่มพิจารณาฐานการผลิตใหม่เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง หรือเปลี่ยนวัสดุบางชนิดเพื่อการผลิตที่ยั่งยืนมากขึ้น
แนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้ายังเป็นไปในทิศทางที่น่ากังวล ถ้าดูจากสถิติ 2-10 Spread จะเห็นว่าปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจฝืดเคืองจะยังไม่จบง่าย ๆ ดังนั้นผู้บริโภคจะยิ่งใช้เงินและช้อปปิ้งอย่างฉลาดมากขึ้น ซึ่งอาจแบ่งได้ใน 3 กรณีคือ
1. ยอดนักประหยัด: Smart Spender
กรณีนี้จะเกิดขึ้นกับสินค้าที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันและราคาถูกกว่า ก่อนหน้านี้ผู้บริโภคไม่ค่อยเปลี่ยนสินค้าบ่อย เพราะ Brand Loyalty ยังสูง อะไรดีก็ใช้อันเดิม แต่ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภค 45% เผยว่ามีความนิยมต่อแบรนด์เดิมลดลง และอีก 22% ยอมรับว่ายินดีที่จะเปลี่ยนแบรนด์ใหม่หากได้ราคาถูกลง
2. นักล่าราคา: Price Hunter
กรณีของสินค้าที่มีคุณสมบัติเฉพาะใช้แทนกันไม่ได้ ผู้บริโภคจะรอซื้อตอนจัดโปรโมชั่น หรือเสาะหาสินค้าผ่านช่องทางอื่น ๆ เพื่อให้ได้สินค้าในราคาถูกที่สุด McKinsey รายงานว่าผู้บริโภคในจีนนิยมซื้อสินค้ากลุ่ม Skincare และ Luxury ผ่านแพลตฟอร์มเช่น กลุ่ม WeChat หรือ TikTok เพราะราคาถูกกว่าซื้อหน้าร้านโดยตรงและแบรนด์เองก็ทำการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย online sales โดยการจัดโปรโมชั่นหั่นราคาเมื่อซื้อครั้งแรก หรือเสนอบริการส่งฟรี เพื่อดึงดูดผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
3. นักเปย์กระจาย: Extreme Splurger
กรณีนี้เกี่ยวข้องกับเทรนด์เหน็ดเหนื่อยหมดไฟ เพราะผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะจ่ายไม่อั้นเพื่อให้รางวัลตัวเอง แต่ทั้งนี้ “ของที่ยอมจ่าย” ก็ต้องคุ้มค่าเงินด้วยเช่นกัน อาจเป็นไปในแนวประสบการณ์หรือความพรีเมี่ยมแบบอื่น ๆ เช่น มื้ออาหารโอมากาเสะ หรือทริปท่องเที่ยวหมู่เกาะแคริเบียนในทะเลตอนใต้ ฯลฯ
อาจฟังดูย้อนแย้ง แต่เรื่องนี้พิสูจน์แล้วว่าจริงโดย Lipstick Index หรือ ดัชนีลิปสติก ทฤษฎีที่กล่าวว่ายิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะต่ำเตี้ยเท่าไหร่ ยอดขายลิปสติกก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น เชื่อกันว่าเพราะยิ่งชีวิตลำบาก หรือรู้สึกว่าต้องรัดเข็มขัด คนยิ่งหันไปซื้อของ “หรู” เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ยังพอจ่ายไหวเพื่อให้กำลังใจตัวเอง แค่เฉพาะปี 2022 นี้ ยอดขายลิปสติกก็เพิ่มขึ้นแล้ว 48% เมื่อเทียบกับปีก่อน
โอกาสสำหรับผู้ประกอบการ
ในวันที่ผู้บริโภค “Price Loyalty” มากขึ้น กลยุทธ์ “Brand Loyalty” อาจได้ผลน้อยลง โดยเฉพาะหากสินค้าของเราไม่มีความแตกต่างกับคู่แข่งมาก กลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการสามารถสร้างได้อาจเป็นกลยุทธ์ที่เล่นกับ ราคา ปริมาณ และประสบการณ์ "feel good" ให้กับผู้บริโภคแทน
ตัวอย่างเช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต Coles ที่ขายผลิตภัณฑ์ไซส์ใหญ่ในราคาถูกกว่าปกติเพื่อสร้างความรู้สึกคุ้มค่าให้กับผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม จากข้อ 3 ทำให้มองข้ามไม่ได้ว่าในบางครั้งผู้บริโภคก็ยังจะยอมจ่ายในราคาแพงอยู่ หากผลิตภัณฑ์นั้นโดนใจ สร้างประสบการณ์ที่ดีได้จริง ๆ ดังนั้นหากผลิตภัณฑ์ของเราตอบโจทย์นี้ได้ ก็ยังมีโอกาสทำรายได้โดยไม่ต้องลงไปเล่นสงครามราคา
สรุป
จากพฤติกรรมทั้งหมด เราอาจสรุปโดยรวมได้คร่าว ๆ ว่า
ในปี 2023 ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพกายใจมากขึ้น (wellness) แต่ก็จะให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน (sustainable) ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นผู้บริโภคจะคำนึงถึงความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายมากขึ้นด้วยซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจ (value)
เราหวังว่าผู้ประกอบการจะสามารถนำข้อมูลนี้ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้ สำหรับผู้ประกอบการที่อยากจะเติบโตและต้องการเงินทุนเพื่อไปขยายธุรกิจ PeerPower เป็นแพลตฟอร์มช่วยให้คุณเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จากนักลงทุนนับพันที่พร้อมสนับาสนุนธุรกิจของคุณให้เป็นจริง สมัครระดมทุนกับเรา คลิก
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว