COVID-19 วิกฤต หรือ โอกาส สำหรับนักลงทุน?
ภายใต้สภาวะวิกฤตทางสาธารณสุข COVID-19 ที่คนทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ นับเป็นโรคระบาดร้ายแรงครั้งใหญ่ ที่แพร่กระจายไปกว่า 178 ประเทศทั่วโลก ประชากรติดเชื้อ 1,436,198 คน และคร่าชีวิตผู้คนไป 85,522 คน [ข้อมูลโดย องค์การอนามัยโลก วันที่ 9 เมษายน 2020] COVID-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และ วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนทุกกลุ่ม เป็นเหตุให้เกิดความซบเซาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สะท้อนออกมาเป็นสภาวะสับสนอลหม่านในโลกของการเงินการลงทุน ที่นักลงทุนทุกคนกำลังตื่นตระหนกอยู่ในขณะนี้“โลกกำลังจะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่หรือไม่?” และ “บทสรุปของเหตุการณ์ COVID-19 นี้จะสิ้นสุดลงอย่างไร?” ณ ขณะนี้คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าคุณเชื่อว่าเหตุการณ์วิกฤตต่าง ๆ มีลักษณะการเกิดขึ้นเป็นวัฎจักร วิกฤตเคยเกิดมาก่อนแล้วในอดีตจนกระทั่งเหตุการณ์จบลงไป แล้ววิกฤตต่อไปก็จะวนกลับมาเกิดซ้ำใหม่เมื่อถึงเวลา
หากเป็นไปตามนี้ COVID-19 ก็อาจเป็นแค่อีกหนึ่งเหตุการณ์ร้ายภายใต้วัฎจักรทางเศรษฐกิจที่หมุนวนมาอย่างยาวนาน อดีตมักจะเกิดซ้ำเสมอ ดังนั้นการเรียนรู้ผลกระทบจากเหตุการณ์ในอดีตก็จะทำให้คุณคาดเดาได้ว่า COVID-19 จะมีจุดสิ้นสุดอย่างไร หากนักลงทุนตั้งสติให้มั่นและศึกษาลึกลงไปถึงต้นตอของเหตุการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ COVID-19 อาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด และ คุณเชื่อตามคำกล่าวที่ได้รับการพิสูจน์มาอย่างยาวนานนี้หรือไม่ว่า “ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ” เพียงแค่ปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสม คุณอาจจะเป็นหนึ่งในคนที่คว้าโอกาสทองจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็เป็นได้
วิกฤตสาธารณสุขสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่?
สิ่งที่นักลงทุนทั่วไปกลัวในขณะนี้คงหนีไม่พ้นความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ COVID-19 มีผลกระทบร้ายแรงจนถึงขั้นนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่ เพื่อตอบคำถามนี้ หากเราลองย้อนกลับไปดูวิกฤตเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จะเห็นว่า สาเหตุ กระบวนการ และผลลัพธ์ ของวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นนั้น มีรูปแบบที่แทบจะเหมือนกันทุกครั้ง โดยสาเหตุของวิกฤตมักเกิดจาก “การก่อหนี้เกินตัว” และ “ความโลภของนักลงทุน” ในสภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตร้อนแรงนักลงทุนและสถาบันการเงินสามารถทำกำไรได้โดยอาศัยความบิดเบี้ยวของกลไกตลาด สร้างรูปแบบการลงทุนจากการกู้หนี้ เพื่อรับผลตอบแทนโดยไร้ซึ่งความเสี่ยง เช่น เหตุการณ์การเก็งกำไรราคาอสังหาริมทรัพย์ในคราววิกฤตต้มยำกุ้ง 1997 หรือ การลงทุนใน Mortgage Back Security
ช่วงวิกฤตซับไพรม์ 2008 ในยามที่ความโลภแพร่กระจายในตลาด มูลค่าการก่อหนี้เพื่อเก็งกำไรก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ราคาของสินทรัพย์สูงเกินมูลค่าที่แท้จริงจนเกิดเป็นภาวะฟองสบู่ และเมื่อกระบวนการที่เกิดจากความโลภนี้ถูกหมุนวนซ้ำไปเรื่อย ๆ ภาครัฐก็ต้องออกมายับยั้งสภาวะที่ไม่สมดุลนี้โดยการลั่นไกมาตรการบางอย่าง เพื่อคืนสมดุลให้กับสภาวะเศรษฐกิจ ดังเช่นมาตรการลอยตัวค่าเงินบาทในวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯในคราววิกฤตซับไพรม์ เมื่อฟองสบู่ถูกเจาะจนเป็นรู ราคาสินทรัพย์ก็ตกลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนที่หลงระเริงไม่สามารถชำระหนี้ที่ตัวเองก่อขึ้นได้ ผลลัพธ์สุดท้ายคือการพังทลายของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินอย่าง ธนาคารและสถาบันการเงิน ส่งผลกระทบถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆเป็นวงกว้างในที่สุด ซึ่งเมื่อคุณมองเห็นรูปแบบของการเกิดวิกฤตในอดีตแล้วก็จะนำมาซึ่งคำตอบที่ว่า COVID-19 ยังไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นวิกฤตเศรษฐกิจได้ เพราะตอนนี้ นักลงทุนและกองทุนต่างระมัดระวังตัว สถาบันการเงินยังคงเข้มแข็ง และ ภาครัฐก็มีมาตรการในการดูแลทั้ง Financial Sector และ Real Sector เป็นอย่างดีนั่นเอง
การแพร่ระบาด COVID-19 จะจบลงอย่างไร?
เมื่อคลายกังวลเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจแล้วนักลงทุนคงมีคำถามต่อไปผุดขึ้นมาว่า “ภาวะตลาดที่ซบเซาจาก COVID-19 จะสร้างผลกระทบอีกมากขนาดไหน และ จะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนานแค่ไหน?” สำหรับคำตอบของคำถามนี้ อ้างอิงจากรายงานของ Goldman Sachs วาณิชธนกิจชั้นนำของโลกซึ่งได้ศึกษาและแยกประเภทของภาวะตลาดซบเซา หรือ Bear Market ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตไว้ 3 ประเภท ซึ่งมีผลกระทบ และ ระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นฟูแตกต่างกันดังนี้
1) Structural Bear Market
ซึ่งมักเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ฟองสบู่แตกของสินทรัพย์ หรือ การพังทลายของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดวิกฤตทางการเงินในเวลาต่อมา เช่น วิกฤตต้มยำกุง หรือ วิกฤตซับไพรม์ โดยจากสถิติในอดีต เมื่อเกิดสภาวะ Structural Bear Market ดัชนี้ของตลาดหุ้นมักปรับตัวลดลงกว่า 60% และ ตลาดต้องใช้เวลาฟื้นฟูสภาพเพื่อกลับมายืน ณ จุดเดิม เกือบ 10 ปี
2) Cyclical Bear Market
เป็นภาวะซบเซาที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของวัฏจักรเศรษฐกิจที่มีการเติบโตมาอย่างยาวนาน เมื่อทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่มปรับเพิ่มขึ้น ก็เป็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้เกิดความซบเซาในตลาดการลงทุน Cyclical Bear Market มักทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงกว่า 30% และใช้เวลาในการกลับมายืนจุดเดิม ประมาณ 5 ปี
3) Event-Driven Bear Market
เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์เลวร้ายขนาดใหญ่ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาด นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและเทขายสินทรัพย์เสี่ยง แต่โครงสร้างพื้นฐาน และ กิจกรรมต่างๆทางเศรษฐกิจยังคงประคองตัวอยู่ได้ โดย Event-Driven Bear Market อาจเกิดจากเหตุการณ์ เช่น โรคระบาด หรือ สงคราม เป็นต้น สภาวะเช่นนี้ตามสถิติ ตลาดหุ้นมักปรับตัวลงประมาณ 30% แต่สามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิมได้รวดเร็วภายใน 1 ปีเมื่อดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง COVID-19 ที่มีผลกระทบจากปัจจัยสงครามน้ำมันเข้ามาผสมด้วย ดัชนี SET index ร่วงลงต่ำสุดในวันที่ 23 มีนาคม 2020 ดัชนี้ปิดที่ 1024.46 ลดลงจากราคาปิดปลายปีที่แล้วประมาณ -35% และในปัจจุบัน ณ วันที่ 9 เมษายน 2020 ดัชนีก็ทยอยปรับตัวขึ้นมาปิดที่ 1210.48 ลดลงจากปลายปีที่แล้วเหลือเพียง -23% เท่านั้น เหตุการณ์เลวร้ายนี้แม้จะเกิดขึ้นและสร้างความตื่นตระหนกในตลาด แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณใดที่บ่งบอกว่าจะส่งผลกระทบร้ายแรงไปถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ดังนั้นจากการเปรียบเทียบนี้นักลงทุนน่าจะเบาใจได้ว่าด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน ตลาดได้ซึมซับผลกระทบในเชิงลบของเหตุการณ์ COVID-19 ไปแทบจะหมดแล้ว และ อาจใช้เวลาเพียง 1 ปี ในการค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับสู่จุดเดิม
สะท้อน COVID-19 ผ่านเหตุการณ์โรคระบาดในอดีต
ทั้งนี้เหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้น และ นำมาสู่สภาวะ Event-Driven Bear Market ก็มีบริบทของเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนโดยการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่มีบริบทคล้ายกัน ลองมาดูที่เหตุการณ์โรคระบาดร้ายแรงในอดีตกันว่าแต่ละโรคมีผลกระทบกับตลาดหุ้นอย่างไร
จากกราฟความเคลื่อนไหวของ SET Index ในช่วงที่เกิดโรคระบาดแพร่กระจายไปทั่วโลก พบว่าในช่วงเวลา 6 เดือนนับแต่มีการแพร่ระบาดของ โรค SARS ที่มีผู้ติดเชื้อ 29 ประเทศทั่วโลก 8,098 คน เสียชีวิตประมาณ 770 คน และ MERS ผู้ติดเชื้อ 27 ประเทศทั่วโลก 2,400 คน เสียชีวิตประมาณ 850 คน ดัชนี SET ตกลงไปต่ำสุดนับจากจุดเริ่มต้นไม่ถึง -15% (SARS -3.5%, MERS -14%) ขณะที่ Swine Flu หรือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นโรคระบาดในระดับ Pandemic Phase (โรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก) เหมือนกับกรณี COVID-19 นั้น คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 200,000 คนทั่วโลก แต่ดัชนี SET ในช่วงเริ่มต้นการระบาดนับแต่เดือนเมษายน 2009 ไม่ปรับตัวลดลงเลย กระทั่งผ่านไป 6 เดือน ดัชนียังปรับบวกเพิ่มขึ้นกว่า +60% อีกด้วยแม้จะไม่สามารถฟันธงได้อย่างชัดเจนว่าสภาวะเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ COVID-19 จะจบลงเช่นไร แต่จากการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คงพอจะทำให้นักลงทุนเบาใจลงได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกการลงทุนคงไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด และเมื่อตั้งสติลดความตื่นตระหนกลงได้แล้ว เรามาดูกันว่า COVID-19 ส่งผลอย่างไรกับสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภทบ้าง และนักลงทุนควรปรับตัวรับมืออย่างไรกับความผันผวนในการลงทุนขณะนี้
COVID-19 กับผลกระทบต่อสินทรัพย์ลงทุน
พันธบัตร
นับแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ดัชนี Short-term Government Bond TR index ปรับเพิ่มขึ้น +0.4% ปิดที่ระดับ 136.09 จุด จากความกังวลของนักลงทุนที่เทขายสินทรัพย์เสี่ยงเข้าซื้อสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำและมีสภาพคล่องสูงเพื่อรอจังหวะการเข้าทำกำไรหลังเหตุการณ์ COVID-19 คลี่คลายลง
หุ้นสามัญ
ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดต่ำลง -23% ปิดอยู่ที่ระดับ 1210.48 จุด ซึ่งปัจจัยที่กระทบตลาดได้แก่ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจจากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกได้ทยอยออกมาตรการรับมือกันออกมาชุดใหญ่ ประกอบกับปัจจัยการลดลงของราคาน้ำมัน จากผลของสงครามราคาน้ำมันซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาข้อยุติ
ทองคำ
ความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยจาก COVID-19 ส่งผลให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำมากขึ้น ทำให้ราคาทองคำพุ่งแรงสูงสุดในรอบ 7 ปี โดย Gold Spot price ล่าสุดอยู่ที่ 1684.07 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ราคาเพิ่มขึ้นมา +11% นับแต่ต้นปี
น้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบ Brent และ West Texas Intermediate (WTI) ปรับตัวลดลง มาอยู่ที่ระดับ 31.48 และ 22.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นการปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปี -52% และ -63% ตามลำดับ สาเหตุจากความต้องการน้ำมันที่ลดลงซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการมีกำลังการผลิตส่วนเกิน จากกรณีพิพาทเรื่องโควตาการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งขณะนี้กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันใน OPEC และ G20 กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อลดกำลังการผลิตร่วมกัน
อสังหาริมทรัพย์
จากความกังวลของนักลงทุนที่กดดันดัชนีตลาด และ ผลจากการจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดซึ่งกระทบกับอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่ม การท่องเที่ยว, ธุรกิจห้างสรรพสินค้า และ ขนส่งสาธารณะ กดดันดัชนีกองทุนอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (PF&REIT TRI Index) ให้ปรับลดต่ำลง -24% ปิดอยู่ที่ระดับ 178.5 จุด
ปรับกลยุทธ์การลงทุนคว้าโอกาสจากวิกฤต COVID-19
ภายใต้สภาวะความผันผวนของตลาดเช่นนี้ นักลงทุนควรมีการปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อปกป้องเงินทุนหลีกหนีจากความเสี่ยงในระยะสั้น และ สร้างพอร์ตการลงทุนใหม่ที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ปันส่วนเงินเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย คัดเลือกหลักทรัพย์พื้นฐานดีมีความมั่นคง สร้างความสมดุลในการลงทุนเพื่อทำผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว
กลยุทธ์ระยะสั้น: ในสภาวะที่ตลาดผันผวนจากปัจจัยหลักได้แก่ การแพร่ระบาดของ COVID-19 การเจรจาโควตาการผลิตน้ำมันที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และมาตรการฟื้นฟูเยียวยาของภาครัฐที่ยังคงมีการประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนควรเน้นที่การปกป้องเงินต้นไม่ให้สูญหาย โดยการลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นสามัญ และเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง เช่น ตราสารในตลาดเงิน หรือ ตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อรอเวลาที่เหตุการณ์ต่างๆเริ่มคลี่คลาย เข้าซื้อสินทรัพย์พื้นฐานดีราคาถูกสะสมเข้ามาในพอร์ตการลงทุน
กลยุทธ์ระยะยาว: จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นว่า แม้หุ้นสามัญ และ น้ำมัน จะมีมูลค่าลดลงตามความซบเซาของเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ COVID-19 แต่ในสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีความมั่นคงอย่าง ทองคำ หรือ ตราสารหนี้ ก็ยังประคองตัวและสร้างผลตอบแทนได้ดี
- กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Asset Allocation)
พอร์ตของนักลงทุนจึงไม่ควรลงทุนกระจุกอยู่เพียงแค่ หุ้นสามัญ หรือ กองทุนดัชนี เท่านั้น นักลงทุนควรพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนคงที่ไม่อิงตามสภาวะตลาด และ สามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอให้มากขึ้น เช่น การลงทุนในตราสารหนี้ที่มีการจ่ายดอกเบี้ยคงที่ หรือ การลงทุนทางเลือกผ่านหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ที่สามารถเลือกผลตอบแทนและระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวนักลงทุนแต่ละคนได้ ซึ่งจะช่วยทำให้พอร์ตของคุณมีความสมดุลจากการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Asset Allocation)
- คัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีพื้นฐานดีและมีผลตอบแทนที่ไม่อิงกับสภาวะเศรษฐกิจ (Security Selection)
นอกเหนือจากนี้นักลงทุนควรเพิ่มประสิทธิภาพของการกระจายความเสี่ยงโดยการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีพื้นฐานดีและมีผลตอบแทนที่ไม่อิงกับสภาวะเศรษฐกิจสะสมเข้ามาในพอร์ต (Security Selection) อย่างการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเป็น Defensive Industry เช่น กลุ่มสาธารณูปโภค กลุ่มโรงพยาบาล หรือ กลุ่มอาหาร ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกลงทุน ผ่านหุ้นสามัญของบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือ ลงทุนในบริษัทที่มีโอกาสเติบโตสูง ผ่านหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงซึ่งมีให้นักลงทุนเลือกได้หลากหลายธุรกิจในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเพียงเท่านี้พอร์ตของคุณที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างดีด้วย Asset Allocation และ Security Selection ก็จะสามารถทำกำไรได้ในสภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตและพอร์ตยังคงแข็งแกร่งภายใต้สภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นนั่นเองวิกฤต COVID-19 แม้จะสร้างความผันผวนให้กับตลาด กระทบกับราคาของสินทรัพย์ลงทุนอย่างหนัก แต่เหตุการณ์นี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และถือเป็นโอกาสที่ดีให้นักลงทุนได้ขยายขอบเขตการลงทุนให้หลากหลาย สะสมหลักทรัพย์พื้นฐานดีในราคาถูก เพียร์พาวเวอร์ ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้นักลงทุนทุกคน ด้วยการลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงสร้างผลตอบแทนที่จูงใจภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม เสริมความแข็งแกร่งให้พอร์ตการลงทุนของคุณผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันครับคำเตือน: การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว
_______________________________________________________________________
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว