The Basics

หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง คืออะไร? สรุปข้อมูลทุกประเด็นสำหรับนักลงทุน

by
PeerPower Team
November 15, 2023

หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง คืออะไร? สรุปข้อมูลทุกประเด็นสำหรับนักลงทุน 

ในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้นักลงทุนอาจเคยได้ยินชื่อสินทรัพย์ใหม่ "หุ้นคราวด์ฟันดิง" หรือ "หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง" อยู่บ่อยครั้ง เห็นโฆษณาว่าได้ผลตอบแทนเยอะกว่าหุ้นกู้ทั่วไปก็สนใจ แต่ยังลังเลที่จะลงทุนเพราะไม่รู้จักว่าคราวด์ฟันดิงคืออะไร? ของจริงหรือเปล่า? ฯลฯ

วันนี้ PeerPower จะตอบคำถามและอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์นี้อย่างละเอียด รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้บริการ ข้อดี-ข้อเสีย และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

ทางลัดนักอ่าน TLDR

หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง คืออะไร?

ก่อนจะอธิบายว่า “หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง” คืออะไร ขออธิบายคำว่า คราวด์ฟันดิง เป็นพื้นฐานเพื่อทำความเข้าใจง่าย ๆ ก่อน…

คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) เป็นคำภาษาอังกฤษ เกิดจากการนำคำ 2 คำมารวมกัน crowd + funding ซึ่งหมายถึงการระดมทุนจาก “ฝูงชน” หรือคนจำนวนมาก

แต่ในบริบทปัจจุบัน "ฝูงชนหรือคนจำนวนมาก" กลายมาเป็น "นักลงทุน" ดังนั้นในแง่ของการลงทุน คราวด์ฟันดิงจะหมายถึงการลงทุนเพื่อดอกเบี้ย

การลงทุนหุ้นกู้คราวด์เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายก็เหมือนการ "ปล่อยกู้ให้บริษัท" นักลงทุนจะเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลาลูกหนี้ (ซึ่งคือบริษัทที่ออกหุ้นกู้) จะต้องจ่ายผลตอบแทนเป็น "ดอกเบี้ย" ให้ตามระบุในสัญญา

คราวด์ฟันดิงเป็นการอุดช่องโหว่ทำให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น และทำให้นักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงไปยังการลงทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ได้โดยไม่ติดข้อจำกัด

โดยทั่วไปคราวด์ฟันดิงสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก คือ 

  1. คราวด์ฟันดิงแบบบริจาค (Donation Base) อันนี้นักลงทุนไม่ได้อะไร ถือว่าเป็นการบริจาคเงินให้เปล่า 
  1. คราวด์ฟันดิงแลกกับสินค้า (Reward Base) นักลงทุนได้สิ่งของจากการลงทุน ในต่างประเทศมีแพลตฟอร์มชื่อ Kickstarter ที่เปิดให้ระดมทุนแลกกับสินค้าที่ออกแบบเอง
  1. คราวด์ฟันดิงแบบกู้ยืม (Peer to Peer Lending) ผู้ปล่อยกู้จะได้ดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืม อันนี้จะคล้ายสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปล่อยกู้ให้คนที่ต้องการเงินไปใช้จ่ายส่วนตัว ปัจจุบันการกู้ยืมแบบ Peer to Peer นั้นอยู่ใต้การกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ P2P Lending ได้ที่นี่
  1. คราวด์ฟันดิงรูปแบบหลักทรัพย์ (Investment) นักลงทุนได้ดอกเบี้ยหรือส่วนต่างกำไร (capital gain) จากการลงทุน การลงทุนในคราวด์ฟันดิงจะมีแพลตฟอร์มเป็นตัวกลางเป็นผู้ดูแลจัดการเรื่องข้อตกลงและการชำระคืนดอกเบี้ยอย่างเป็นระบบ ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คือหน่วยงานที่ดูแลการลงทุนประเภทนี้

คราวด์ฟันดิงรูปแบบหลักทรัพย์จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 

4.1 คราวด์ฟันดิงประเภทหุ้นกู้ (Debt Crowdfunding) นักลงทุนได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยจากการลงเงินต้น (บล็อกนี้เราจะคุยกันที่อันนี้)

4.2 คราวด์ฟันดิงประเภทหุ้น (Equity Crowdfunding) นักลงทุนได้ผลตอบแทนเป็นส่วนต่างกำไร (capital gain) จากการถือหุ้นในบริษัท

ลงทุนอะไรดี? คราวด์ฟันดิงคืออะไร หุ้นกู้คราวดฟันดิงคืออะไร PeerPower
คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) 4 ประเภทมีอะไรบ้าง? คราวด์ฟันดิงและการลงทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ (private assets)

            

“หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง” ต่างจาก “หุ้นกู้” ทั่วไปยังไง?

แม้สินทรัพย์สองประเภทนี้จะคล้ายกันมาก แต่ข้อแตกต่างอาจจำแนกเป็นตารางให้เห็นง่าย ๆ ได้ตามนี้ 

หุ้นกู้ หุ้นกู้ Crowdfunding (เฉพาะแพลตฟอร์ม PeerPower)​
สถานะของนักลงทุน เจ้าหนี้ เจ้าหนี้
ระยะเวลาในการลงทุน 2-10 ปี (จ่ายดอกเบี้ยทุก 3-6 เดือน) 1-36 เดือน (จ่ายดอกเบี้ยทุก 1-3 เดือน)
ผู้ออกหุ้นกู้ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ (Corporate Bond) บริษัทขนาดกลาง-ใหญ่ ไปจนถึง SME สตาร์ทอัปที่เปิดให้ลงทุนนอกตลาดหลักทรัพย์
เกณฑ์วัดความเสี่ยง ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ หรือ Credit Rating โดยสถาบันจัดอันดับ 2 แห่งที่ได้รับการรับรองโดย ก.ล.ต. ประเมินความสามารถในการชำระหนี้โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดเครดิตของผู้ให้บริการคราวด์ฟันดิงเอง ตามโมเดลที่ ก.ล.ต. รับรอง โดยนับเป็นคะแนน Credit Score ​
ผู้ให้บริการ บริษัทเอกชนผู้ออกหุ้นกู้ แพลตฟอร์มตัวกลาง
ช่องทางการซื้อขาย ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ แพลตฟอร์มตัวกลาง

ทำไมหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป ?

เรื่องนี้เป็นไปตามหลักดีมานด์-ซัพพลาย และการชดเชยความเสี่ยง

หุ้นกู้เอกชนทั่วไปที่ออกโดยบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงมักได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนจึงสามารถดึงดูดนักลงทุนได้แม้ให้อัตราดอกเบี้ยไม่สูงมาก ซึ่งถ้าบริษัทที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่หรือ startup ที่เป็นที่รู้จักในแวดวงเฉพาะต้องการจะดึงดูดนักลงทุนก็ต้องเสนอดอกเบี้ยที่มากกว่า

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าบริษัทที่ออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงจะไม่มีศักยภาพโดยสิ้นเชิง บริษัทเหล่านี้ต้องผ่านการประเมินอย่างเข้มข้นดูศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้โดยแพลตฟอร์ม ซึ่งปัจจัยพวกนี้จะสรุปออกมาเป็น Credit Score และ หนังสือชี้ชวน ให้พิจารณาก่อนลงทุน

 

ลงทุนหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงมีข้อดีอะไรบ้าง?

อย่างที่บอกไปก่อนหน้าว่า หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนในลักษณะของการเป็นเจ้าหน้าหนี้ ดังนั้นผลตอบแทนจึงถูก "กำหนดไว้ตั้งแต่แรก" ว่างวดไหนจะได้ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ซึ่งหากจะแจกแจงจริง ๆ ข้อดีของการลงทุนในคราวด์ฟันดิงอาจเป็น

  1. ผลตอบแทนคงที่สม่ำเสมอ ดอกเบี้ยคราวด์ฟันดิงจะถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ต้นนักลงทุน นักลงทุนไม่ต้องลุ้นว่าเดือนนี้จะได้ดอกเบี้ยเท่าไหร่
  1. ทำกำไรมากกว่าสินทรัพย์ประเภทซื้อมา-ขายไปในระยะยาว ดอกเบี้ยของหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นดอกเบี้ยคงที่ (fixed rate) จึงมีแนวโน้มที่จะทำกำไรในระยะยาวได้มากกว่าการเก็งกำไร
  1. ​ระยะลงทุนสั้น รับผลตอบแทนบ่อยกว่าหุ้นกู้ทั่วไป อายุของหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงอยู่ที่ประมาณ 3-36 เดือน ถือว่าสั้นกว่าหุ้นกู้ทั่วไป ดังนั้นผลตอบแทนจึงจ่ายถี่กว่า โดยเฉลี่ยจะจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส ในขณะที่หุ้นกู้ทั่วไประยะลงทุนจะอยู่ที่ 3-10 ปี ระยะการจ่ายผลตอบแทนจึงนานกว่า
  1. ความผันผวนต่ำ หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงไม่ได้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จัดเป็นสินทรัพย์ Private Asset ปัจจัยเศรษฐกิจ ดอกเบี้ย ฯลฯ จึงไม่ทำให้ผลตอบแทนของหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเปลี่ยนแปลง
  1. เป็นตัวเลือกกระจายความเสี่ยงที่ดี อันนี้จะคล้ายกับข้อบน เมื่อเป็น private assets ที่ไม่ผันผวนตามความอลเวงของตลาด หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงจึงเป็นตัวเลือกกระจายความเสี่ยงที่หลายคนมักมีไว้ติดพอร์ต
  1. มีโอกาสทำกำไรจากการลงทุนในธุรกิจ startup ตั้งแต่ต้น หลายธุรกิจที่ระดมทุนคราวด์ฟันดิงเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูงที่ได้เงินทุนไม่พอจากธนาคาร การลงทุนหุ้นคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding Equity) คือการเข้าไปเป็น "หุ้นส่วน" ของบริษัทโดยการซื้อหุ้น หากบริษัททำกำไรได้ดี นักลงทุนก็อาจมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงจากการลงทุนเช่นกัน

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าคราวด์ฟันดิงจะไม่มีความเสี่ยง

หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง มีข้อเสียอะไร

ข้อเสียของหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงสามารถแบ่งเป็น 3 ข้อ คือ 

  1. ความเสี่ยงด้านการไถ่ถอนก่อนกำหนด สมมุติว่าผู้ระดมทุนทำผลประกอบการได้ดีมาก ก็มีโอกาสที่ผู้ระดมทุนจะสามารถหาเงินมาชำระได้ครบจำนวนก่อนกำหนด ในกรณีนี้นักลงทุนก็จะได้รับเงินลงทุนคืนครบจำนวน แต่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยเท่าที่คาดการณ์ไว้ 
  1. ความเสี่ยงด้านการผิดชำระหนี้ สมมุติอีกเช่นเดียวกันว่า ถ้ากิจการดำเนินได้ไม่ดีเท่าที่ควร ผู้ระดมทุนก็อาจไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ทันตามกำหนด ซึ่งเป็นความเสี่ยงเดียวกับการลงทุนในหุ้นกู้ทั่วไป ในกรณีนี้แพลตฟอร์มจะต้องประเมินความสามารถในการชำระหนี้ และอาจพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้
  1. สภาพคล่องต่ำ ปัจจุบันยังไม่มีตลาดรองสำหรับซื้อขายหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง แพลตฟอร์มตัวกลางจะเป็นผู้ดำเนินการซื้อขายระหว่างนักลงทุนเท่านั้น

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง

หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงไม่ใช่แชร์ลูกโซ่และการกุศล สองอย่างนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

คราวด์ฟันดิง คือ การลงทุนภายใต้การกำกับของคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แพลตฟอร์มต้องได้รับความเห็นชอบดำเนินการ และจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

โดยแพลตฟอร์มจะต้องเป็นผู้ควบคุมการออกหุ้นกู้ ดูแลเรื่องการชำระเงิน และออกเอกสารสัญญาต่าง ๆ

อยากลงทุนหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงต้องทำยังไง มีผู้ให้บริการเจ้าไหนบ้างในไทย ลงทุนขั้นต่ำเท่าไหร่?

เลือกแพลตฟอร์ม

"แพลตฟอร์ม" คือผู้ให้บริการการลงทุนคราวด์ฟันดิง มีหน้าที่คัดเลือกธุรกิจมาให้ลงทุน และเป็นตัวกลางในการประสานงาน ดูแลผลประโยชน์ให้นักลงทุนและธุรกิจที่ต้องการระดมทุน

แพลตฟอร์มที่ดูแลการระดมทุนคราวด์ฟันดิงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต PeerPower เองก็เป็นหนึ่งในนั้น นอกจากนั้นยังมีแพลตฟอร์มอื่นด้วยเช่นกัน ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากที่นี่

สมัครเป็นนักลงทุน

โดยทั่วไปแล้วต้องสมัครเป็นนักลงทุนของแพลตฟอร์มนั้น ๆ ก่อนถึงจะเห็นว่ามีบริษัทอะไรบ้างที่เปิดระดมทุน แต่ละแพลตฟอร์มจะมีข้อกำหนดในการสมัครต่างกันไป สำหรับ PeerPower สามารถสมัครเป็นนักลงทุนได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่มีค่ารักษาบัญชี

พิจารณาจำนวนเงินลงทุน

จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำของแต่ละแพลตฟอร์มก็แตกต่างกัน PeerPower กำหนดขั้นต่ำของการลงทุนอยู่ที่ 20,000 บาท

สรุป

  • คราวด์ฟันดิงมี 4 ประเภท ประเภทที่เป็นสินทรัพย์ลงทุนจะมีแค่ 2 ประเภทคือ หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง (Debt Crwodfunding) และ หุ้นคราวด์ฟันดิง (Equity Crowdfunding)
  • หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง เป็นการลงทุนในรูปแบบของตราสารหนี้ นักลงทุนจะเป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับดอกเบี้ยจากการลงทุน
  • หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง จัดเป็นสินทรัพย์นอกตลาด (private assets) ที่ไม่ผันผวนตามตลาด
  • คราวด์ฟันดิงเป็นโอกาสให้นักลงทุนได้ลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่บริษัทสตาร์ทอัปอนาคตไกล ไปจนถึงบริษัทที่เอกชนนอกตลาดหลักทรัพย์
  • คราวด์ฟันดิงเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีทางการเงินที่ช่วยขยับช่องว่างทางการเงินให้แคบลง มีประโยชน์ทั้งต่อบริษัทที่ต้องการระดมทุน และนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงไปนอกตลาดหลักทรัพย์ในอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม 
  • โดยปกติการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์มักเปิดโอกาสให้เฉพาะกับนักลงทุนสถาบัน แต่บริการของ PeerPower ทำให้นักลงทุนทุกคนสามารถทำกำไรจากสินทรัพย์ลักษณะนี้ได้โดยเริ่มต้นลงทุนที่ 20,000 บาท ดูโครงการลงทุนหุ้นคราวด์ฟันดิงที่เคยเปิดระดมทุนกับ PeerPower ได้ที่นี่
  • นักลงทุนที่สนใจสามารถเปิดบัญชีนักลงทุนกับแพลตฟอร์ม PeerPower ได้แล้ววันนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเปิดบัญชี

‍คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร