เปรียบเทียบ "หุ้นกู้เอกชน" กับ "หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง" สินทรัพย์ทางเลือกใหม่ต่างกันยังไง?
การลงทุนในสินทรัพย์หลาย ๆ ประเภทให้พอร์ตโฟลิโอมีความหลากหลายเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่นักลงทุนคุ้นเคย โดยเฉพาะนักลงทุนมืออาชีพที่มักลงทุนสินทรัพย์หลายอย่างเพื่อกระจายความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสให้ตัวเองทำกำไร
ปัจจุบันมีสินทรัพย์ทางเลือกมากมายให้ลงทุน หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงก็เป็นหนึ่งในสินทรัพย์เหล่านั้นที่คนให้ความสนใจ บล็อกนี้ PeerPower จะขออธิบายความน่าสนใจของ การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ว่ามีข้อดีอะไรบ้าง และจะมีความน่าสนใจขนาดไหน
เปรียบเทียบหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง VS หุ้นกู้เอกชน
คนส่วนใหญ่จะรู้จักหุ้นกู้ที่ออกโดยเอกชนทั่วไปว่าเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ มีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก จัดเป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง
ความจริงแล้ว 2 อย่างนี้คล้ายกัน แต่หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเองจะมีข้อแตกต่างกันบางอย่าง คือ
1. ขนาดของบริษัท
หุ้นกู้เอกชนทั่วไป: ออกโดยบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ จำนวนการระดมทุนในครั้งหนึ่งจะเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูง
หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง: ออกโดยบริษัทที่มีศักยภาพ ขนาดเล็ก - กลาง - ใหญ่ โดยที่ต้อง จดทะเบียนนิติบุคคลมาไม่ต่ำว่า 2 ปี จำนวนเงินระดมทุนต่อครัั้งจะอยู่ที่ระหว่าง 1,000,000 - 80,000,000 แล้วแต่ขนาดของบริษัท
2. การซื้อขาย
หุ้นกู้เอกชนทั่วไป: การลงทุนในตราสารหนี้ ทั้งหุ้นกู้เอกชน และพันธบัตรรัฐบาลจะสามารถเลือกลงทุนได้ทั้งใน
1. ตลาดแรก คือ การซื้อขายกันระหว่างผู้เสนอขายหุ้นกู้กับนักลงทุน
2. ตลาดรอง คือ การซื้อขายกันระหว่างนักลงทุนกันเอง
ทำให้มีระบบการคิดราคาแบ่งออกเป็นอีกหลายแบบ เช่น ราคาพาร์กับราคาที่ขายจริง ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับช่วงผลตอบแทน (Yield Curve) ต่อไป
หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง: ซื้อขายผ่านระบบของผู้ให้บริการเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถซื้อขายระหว่างนักลงทุนได้ แต่ผู้ให้บริการจะเปิดการซื้อขายหุ้นกู้เป็นช่วง ๆ ในกรณีของหุ้นกู้ประเภท equity crowdfunding และมีราคาเสนอขายเพียงราคาเดียวเท่านั้น
3. เป็นการลงทุนในลักษณะการเป็นเจ้าหนี้ ผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่า
สำหรับข้อนี้ ทั้งหุ้นกู้และหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงมีลักษณะเหมือนกัน
การลงทุนในตลาดทุนทั่วไปมักมีความผันผวนที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ การเมือง ราคาทอง อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ฯลฯ
ซึ่งพอตลาดผันผวน นักลงทุนจำนวนมากเลยต้องหาหาตัวเลือกอื่น ๆ มา balance พอร์ตโฟลิโอ ซึ่งถ้าพิจารณา สินทรัพย์ที่อ้างอิงกับปัจจัยที่กล่าวมาข้างบน เช่น ตลาดพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนอิงตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จึงเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่จะถูกตัดออกเพื่อลดความเสี่ยง
ดังนั้นตัวเลือกที่จะตอบโจทย์ในสถานการณ์นี้ คือการลงทุนในลักษณะการเป็นเจ้าหนี้ ที่มักไม่ผันผวนไปตามตลาด เช่น หุ้นกู้เอกชน หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเช่น หรือการปล่อยกู้ในลักษณะอื่น ๆ
4. เป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดีเมื่อตลาดผันผวน
ข้อนี้ ทั้งหุ้นกู้และหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงมีลักษณะเหมือนกัน
เหตุผลคล้ายกันกับข้อข้างบน เพราะตลาดผันผวนสินทรัพย์ที่ไม่อ้างอิงกับตลาดเลยจึงมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ดังนั้นในแง่ของการกระจายความเสี่ยง หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการกระจายความเสี่ยงข้ามสินทรัพย์ เพื่อสร้างความสมดุลให้กับพอร์ต
อีกกรณีที่สามารถทำได้คือ ลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเพื่อกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน เพราะหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงสามารถออกได้โดยหลายบริษัท และหลายอุตสาหกรรม ดังนั้นในกรณีที่ทิศทางตลาดในอุตสาหกรรมหนึ่งไม่ดี ก็สามารถลงทุรหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงจากกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อปรับพอร์ตได้
5. ให้ผลตอบแทนเป็นกระแสเงินสดพร้อมดอกเบี้ย
หุ้นกู้เอกชนทั่วไป: ระยะเวลาการลงทุนหรืออายุหุ้นกู้จะยาวตั้งแต่ 1-5 ปี (บางกรณีอาจยาวถึง 10 ปีแล้วแต่บริษัท) และจ่ายดอกเบี้ยตามงวด เช่น ทุก 3-6 เดือน แล้วแต่เงื่อนไข
หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง: จุดแข็งและข้อดีของหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง คืออายุการลงทุนที่สั้นกว่า มีตั้งแต่อายุหลักเดือนถึงหลักปี ดังนั้นการระยะการรับผลตอบแทนเลยจะสั้นตาม
หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงมีทั้งประเภทที่จ่ายเงินต้นเมื่อครบอายุทีเดียว (bullet payment) หรือทยอยชำระหนี้ (เงินต้น) พร้อมดอกเบี้ยเป็นงวด (amortized payment) ซึ่งจะแตกต่างกับการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่จะได้รับเงินต้นคืนเมื่อถึงกำหนดไถ่ถอนเท่านั้น ซึ่งดีต่อสภาพคล่องทางการลงทุนของนักลงทุนเอง
หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงบางตัวจ่ายผลตอบแทนเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี แล้วแต่เงื่อนไขสัญญา นักลงทุนสามารถพิจารณาและเลือกลงทุนและวางแผนการเงินของตัวเองได้แน่นอนมากขึ้นเมื่อมีกำหนดชัดเจน
6. มีการประเมินระดับความเสี่ยง เลือกลงทุนได้ตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้
หุ้นกู้เอกชนทั่วไป: มีระบบ Credit Rating ที่ใช้ประเมินเกรดของหุ้นกู้ ไล่จาก A ไปถึง C
หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง: มีระบบ Credit Scoring เพื่อประเมินศักยภาพและความเสี่ยงของธุรกิจก่อนเสนอขายให้กับนักลงทุน
ระดับความเสี่ยงจะมีความสัมพันธ์กับอัตราผลตอบแทน ยิ่งมีระดับความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนก็จะมากตามไปด้วย นักลงทุนจึงสามารถเลือกลงทุนได้กับประเภทธุรกิจ ความเสี่ยง และผลตอบแทนที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนแต่ละราย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบ Credit Scoring ของเราได้ที่นี่
หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.
การลงทุนในลักษณะคราวด์ฟันดิงเพื่อธุรกิจไม่ใช่เรื่องใหม่ในต่างประเทศ นับตั้งแต่เทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ถือกำเนิดขึ้น ปัญหาทางการเงินที่เคยเกิดขึ้นเพราะข้อจำกัด เช่น การเข้าถึงบริการทางการเงินและแหล่งเงินทุนซึ่งทำให้เกิดช่องว่างตรงนี้ลดลง
ในต่างประเทศบริการประเภท Lending Based Crowdfunding เช่น Debt Crowdfunding หรือ P2P Lending นั้นเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ ทั้งในแถบยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่ในทวีปเอเชียเองก็มีผู้ให้บริการอยู่หลายเจ้า
สำหรับประเทศไทยนั้น แหล่งเงินทุนแบบหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงจะเกิดขึ้นในปี 2019 และมี PeerPower เป็นผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต. แต่ก็มีผู้ให้บริการรายอื่น ๆ อยู่ด้วยเช่นกัน
หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง สินทรัพย์ทางเลือก มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ?
ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ไม่เว้นแม้แต่การลงทุนในสินทรัพย์ใหม่แบบหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ซึ่งการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงสำคัญ 2 ข้อ ที่นักลงทุนควรพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน
ความเสี่ยงด้านการเบี้ยวหนี้
เนื่องจากเป็นการลงทุนในลักษณะการซื้อหุ้นกู้ เจ้าหนี้ที่เจ้าของธุรกิจผู้ออกหุ้นกู้จะต้องหาเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยมาชำระคืนให้ได้ตามกำหนดเวลา ทำให้ความเสี่ยงข้อแรกที่นักลงทุนต้องยอมรับคือมีโอกาสที่จะเกิดการเบี้ยวหนี้ได้ เช่นเดียวกับเงินต้นที่อาจไม่ได้คืนทั้งจำนวน
ความเสี่ยงด้านการไถ่ถอนก่อนกำหนด
มีโอกาสที่ผู้ออกหุ้นกู้จะสามารถหาเงินมาชำระได้ครบจำนวนก่อนกำหนด ซึ่งในส่วนนี้นักลงทุนก็จะได้รับเงินลงทุนคืนครบจำนวน แต่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญา
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของนักลงทุน ครั้งหน้าเราจะมีบทความอะไรมานำเสนออีก อย่าลืมรอติดตาม
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว