5 ปัจจัยที่มีผลต่อเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (รถ EV) และ 5 โอกาสในการลงทุน

by
May 22, 2022

5 ปัจจัยที่มีผลต่อเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (รถ EV) และ 5 โอกาสในการลงทุน

ช่วงนี้กระแสรถยนต์ไฟฟ้าดูจะมาแรงเป็นพิเศษ เมื่อไม่นานมานี้ค่ายรถของจีนเปิดตัวรถ EV ในตลาดไทยในหน้าตาน่ารักจนเป็นที่ฮือฮา บวกกับการที่ภาครัฐประกาศลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี (BEV) ลง 40% (นำเข้าทั้งคัน) เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในตลาดไทยจึงดูคึกคักขึ้นมาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าตลอดปีนี้ส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ BEV จะเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้วถึง 4 เท่า ซึ่งแน่นอนว่าตัวเลขนี้ค่อนข้างน่าสนใจต่อทั้งนักลงทุนและผู้ประกอบการ

ดังนั้นบล็อกนี้ PeerPower จะพาไปดูทิศทางการขยายตัวของตลาดรถ EV ทั้งในไทยและทั่วโลก และดูปัจจัย แนวโน้มที่ส่งผลต่อเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง

เทรนด์โลกน่าสนใจ: แนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าพุ่งขึ้นทั่วโลก

ส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EV market share forecast

นักวิเคราะห์ชี้ชัดว่าแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นมหาศาล

หากดูตัวเลขรวมทั่วโลกของ Goldman Sachs จะพบว่าในปี 2020 อัตราส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็น 3% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมด ส่วนในปี 2030 จะเพิ่มขึ้นกว่า 30% (หรือถึง 39%) แซงหน้ารถยนต์ไฮบริดไปประมาณ 27% และพอถึงปี 2040 จะเพิ่มไปอีกเป็น 51 - 91%  สรุปง่าย ๆ ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มสูงมากที่รถยนต์ไฟฟ้าจะครองส่วนแบ่งการตลาดเกินครึ่ง และในจำนวนนี้รถยนต์ไฟฟ้าแบบที่ไม่ใช่ไฮบริด หรือแบบใช้แบตเตอรี (BEV) จะมีอัตราเติบโตมากที่สุด

ปี 2020 ยุโรปทำสถิติซื้อขายรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV มากที่สุดในโลก อยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านคัน ตามด้วยจีนที่ 1.2 ล้านคัน ทั้งนี้ส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดรถยุโรปโดยรวมเมื่อปี 2020 มีถึง 10% แต่หากดูเป็นรายประเทศจะเห็นได้ว่าประเทศที่รัฐบาลสนับสนุนอย่างจริงจัง เช่น นอร์เวย์ มีสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดถึง 75%

อย่างไรก็ตามหากนับรวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าประเภทพ BEV และ plug-in hybrid (รถยนต์ไฮบริดแบบเสียบชาร์จไฟได้) จะพบว่าจีนยังคงทำยอดสูงที่สุดในโลก ด้วยตัวเลขขาย 3.2 ล้านคันเมื่อปี 2021 คิดเป็น 15% ของตลาดรถยนต์ทั่วประเทศ ขณะที่ยุโรปขายได้ 2.3 ล้านคัน คิดเป็น 19% ส่วนสหรัฐอเมริกาขายได้ 535,000 คันหรือคิดเป็น 4% ของตลาดรถยนต์ทั่วประเทศ

ส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้ารายประเทศ EV market share by regions
ข้อมูลจาก Canalyst

เทรนด์ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

ด้านตลาดยานยนต์ไทยแม้ปี 2021 จะทำยอดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกด้วยยอดจดทะเบียนรถยนต์ BEV ที่ 1,958 คัน คิดเป็นประมาณ 0.02% ของยอดขายรถยนต์โดยรวม แต่ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 51.7% และด้วย

1. ราคาน้ำมันที่พุ่งสูง

2. นโยบายอุดหนุนจากรัฐบาล

3. การเปิดตัวของผู้เล่นรายใหม่ ๆ

ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณตัวเลขไว้ว่าในปี 2022 นี้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงถึงกว่า 10,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 412% เลยทีเดียว

ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย EV registration in Thailand

ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

แม้เทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม หรือความสนใจปัญหา climate change จะมีมาสักพักแล้ว แต่ที่ผ่านมารถยนต์ไฟฟ้าก็ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ผู้บริโภคสนใจอย่างจริงจัง (ในประเทศไทยเองก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้รับความนิยม แถมมีข้อถกเถียงเกิดขึ้นด้วยซ้ำ) แต่แล้วทำไมในตลาดบางประเทศจึงได้รับความนิยมสูงกว่าเรามาก?

คงามจริงแล้วช่วงปีที่ผ่านมามีปัจจัยหลายอย่างที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบเชิงบวกต่อรถยนต์ไฟฟ้า

1. ราคาและตัวเลือก

ก่อนหน้านี้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาค่อนข้างสูง แบรนด์แรกที่หลายคนนึกถึงคงจะเป็น Tesla ซึ่งราคาเริ่มต้นในไทยจะอยู่ที่ 2-3 ล้าน ส่วนแบรนด์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Nissan, Hyundai, Mini Cooper, BMW, Audi ไปจนถึง Jaguar และ Porsche รถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV ส่วนมากก็ยังราคาเกือบ 2 ล้านไปจนถึง 7 ล้าน

ดังนั้นเมื่อค่ายจีนอย่าง MG และ GWM ( ORA good cat) เปิดตัวที่ราคาหลักแสนปลาย ๆ จนถึง ล้านต้น ๆ ตลาดจึงดูจะคึกคักขึ้นมาบ้าง

ประกอบกับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐทำให้ราคาใกล้เคียงกับรถยนต์ปกติที่ใช้น้ำมัน ความนิยมจึงเพิ่มขึ้น

นักวิเคราะห์จึงคาดว่าในปี 2022 นี้รถ BEV สัญชาติจีนน่าจะครองตลาดในประเทศไทยถึง 80% เพิ่มขึ้นจาก 58% เมื่อปีที่แล้ว

ส่วนแบ่งตลาดรถ BEV ตามสัญชาติ/ BEV market share in Thailand by country forecast 2022

2. เทคโนโลยีแบตเตอรี

แบตเตอรีเรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า ปัจจัยนี้เกี่ยวพันกับทั้งราคาและการใช้งาน

ก่อนหน้านี้รถยนต์ไฟฟ้าใช้เวลาชาร์จนาน แต่วิ่งได้น้อย ระยะทางจากกรุงเทพ-หัวหิน แค่ 400 กิโลยังลำบาก แต่ตอนนี้แบตเตอรีพัฒนาจนวิ่งได้นานขึ้น

ปัจจุบันระยะทางเฉลี่ยของรถ EV วิ่งได้ต่อการชาร์จ 1 ครั้งอยู่ที่ 313 กิโลเมตร ขณะที่รถรุ่นที่วิ่งได้ไกลที่สุดต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ณ วันนี้ (20 พฤษภาคม 2022) คือ Mercedes EQS 450+ ที่วิ่งได้กว่า 700 กิโลเมตร เรียกว่าชาร์จทีเดียวขับได้จากกรุงเทพ-เชียงใหม่ ได้สบาย ๆ

ในด้านระยะเวลาการชาร์จ รถ EV ปัจจุบันใช้เวลาประมาณ 8-10 ชั่วโมงในการชาร์จแบบปกติด้วยไฟบ้านกระแสสลับ (AC) หรือที่เรียกว่าสถานีชาร์จ “Level 2” แต่หากชาร์จในจุดชาร์จความเร็วสูง (เช่น ระบบ Supercharging ของ Tesla) ซึ่งใช้ไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ก็สามารถชาร์จแบตเตอรีไปถึง 80% ได้ในเวลาเพียง 30-45 นาทีเท่านั้น

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ในอนาคตคาดว่าจะใช้เวลาเพียง 20 นาที ซึ่งหมายความว่าต่อไปถ้ามีจุดชาร์จความเร็วสูงระหว่างเส้นทาง การแวะชาร์จแต่ละทีก็จะใช้เวลาแทบไม่ต่างจากการแวะปั๊มเข้าห้องน้ำ

ไม่เพียงเรื่องประสิทธิภาพ แต่ราคาของแบตเตอรีก็เป็นปัจจัยใหญ่เช่นกันเพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาขายและกำไรของผู้ผลิต นักวิเคราะห์ประเมินว่าราคาแบตเตอรีคิดเป็นประมาณ 30% ของราคาขายรถยนต์ทั้งคัน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่เทคโนโลยีแบตเตอรีพัฒนาอย่างก้าวกระโดดส่งผลให้ราคาต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ของแบตเตอรีรถ EV ลดลงไปแล้วถึง 10 เท่า หรือประมาณ 19% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2015 นั่นหมายความว่าผู้ผลิตรถ EV จะทำกำไรได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จากต้นทุนแบตเตอรีที่ลดลง

แม้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 นี้เราจะเห็นราคาแบตเตอรีเพิ่มขึ้นถึง 30% จากทั้งความต้องการที่มีมากเกินกำลังการผลิต รวมทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการล็อกดาวน์ของจีน (รัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกหลักของนิกเกิลซึ่งเป็นแร่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี Lithium-ion ที่ใช้ในรถ EV) แต่มองจากแนวโน้มการพัฒนาแบตเตอรีที่ราคาถูกลงเรื่อย ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ใช้พัฒนาแบตเตอรีในหลายรูปแบบ นักวิเคราะห์จึงคาดว่าการขึ้นราคาครั้งนี้น่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น

3. โครงสร้างพื้นฐาน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนยังลังเลที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานคือเรื่องความสะดวกในการหาจุดชาร์จนอกบ้าน โดยเฉพาะถ้าต้องเดินทางไกล ๆ

ในยุโรปส่วนมากอัตราส่วนระหว่างจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าและจุดชาร์จสาธารณะอยู่ที่ 100 หัวจ่าย (charger) ต่อรถ 1 คัน แต่เฉพาะในนอร์เวย์ (ซึ่งรถ EV มีส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์สูงถึง 75%) มีจำนวนหัวจ่ายสาธารณะรองรับให้ถึง 3,300 หัวจ่ายต่อรถ 1 คัน!

มาดูที่บ้านเรา ข้อมูลจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยระบุว่าเมื่อปลายปีที่แล้วประเทศไทยมีสถานีชาร์จสาธารณะอยู่ 693 สถานี รวม 2,285 หัวจ่าย หรือประเมินแบบคร่าว ๆ ได้ว่า 0.5 หัวจ่ายต่อรถ 1 คัน บริการชาร์จกว่า 70% เป็นของบริษัทเอกชน ที่เหลือเป็นสถานีชาร์จของการไฟฟ้า และปั๊มน้ำมัน เช่น ปตท.​ และบางจาก

มาในปีนี้ทั้งค่ายรถและบริษัทเอกชนต่างพากันประกาศแผนขยายสถานีชาร์จไฟกันให้คึกคัก ไม่ว่าจะเป็น EA Anywhere ที่ตั้งเป้าสร้างสถานีให้ครบ 1,000 แห่ง SHARGE ตั้งเป้า 600 แห่ง ค่ายรถทุกเจ้าต่างมีแผนขยายสถานีชาร์จที่โชว์รูมของตัวเอง แต่ที่ประกาศเป้าหมายแล้วอย่างจริงจังคือ MG ที่ตั้งใจจะมีสถานีชาร์จอย่างน้อย 1 แห่งทุก 150 กิโลเมตร ส่วน GWM ตั้งเป้าที่ 100 แห่งภายในปี 2023 …​ รวมแล้วภายในปีนี้ประเทศไทยน่าจะมีสถานีชาร์จรถ EV ให้เห็นเกิน 2,000 แห่ง

4. นโยบายรัฐบาล

การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐบาลถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ในการตัดสินว่าแนวโน้มการใช้รถ EV

รายงานของ IEA ชี้ว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปที่พุ่งขึ้นสวนกระแสเศรษฐกิจซบเซาเมื่อปี 2020 เป็นผลจากการที่ปีนั้น EU ตั้งเป้าจำกัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อกิโลเมตรของรถยนต์ใหม่ และรัฐบาลของหลายประเทศในยุโรปได้ออกมาตรการอุดหนุนเพิ่มเติมสำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า

ตัวอย่างมาตรการสนับสนุนของบางประเทศในยุโรป เช่น ยกเว้นภาษีจดทะเบียนและภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนลดภาษีรถยนต์รายปี ให้เงินชดเชยสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า งดเว้นค่าจอดในที่สาธารณะ หรือให้ชาร์จไฟในจุดชาร์จสาธารณะ ส่วนในประเทศจีนก็มีนโยบายให้เงินอุดหนุน ลดค่าที่จอดสาธารณะ และฟรีค่าผ่านทางเช่นกัน

สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติตั้งเป้าให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ารวมกว่า 1.05 ล้านคันภายในปี 2025 รวมทั้งผลิตยานยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (zero emission) ให้ได้ 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด หรือคิดเป็น 725,000 แสนคันภายในปี 2030 และในที่สุดเมื่อต้นปีเราก็ได้เห็นมาตรการจริง ๆ จัง ๆ ของรัฐบาลเป็นครั้งแรกในการช่วยลดราคารถยนต์ไฟฟ้า เช่น

  • มาตรการเงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาท
  • ลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์จาก 8% เหลือ 2%
  • ลดอากรเขาเข้าสำหรับรถ BEV ที่นำเข้าทั้งคัน (Completely Built Up หรือ CBU) สูงสุด 40%

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่ามาตรการนี้เป็นการกระตุ้นระยะสั้นเท่านั้น และเป็นมาตรการที่เน้นดึงดูดด้านราคา แต่ยังขาดมาตรการระยะยาวที่ชัดเจนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งควรเน้นการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี

5. ราคาน้ำมัน

นับเป็นปัจจัยกระตุ้นที่มีผลชัดเจนขึ้นอย่างมากในช่วงหลังมานี้ที่ราคาน้ำมันพากันพุ่งแบบหยุดไม่อยู่ ล่าสุดที่ E20 ราคาเกือบ 42 บาทต่อลิตร คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 2.8 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่ค่าใช้จ่ายของรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 1 บาทต่อกิโลเมตรเท่านั้น

ธุรกิจที่น่าสนใจจากเทรนด์การเติบโตของตลาดรถ EV

Businesses that could profit from EV investment. ธุรกิจทำกำไรน่าลงทุนจากรถยนต์ไฟฟ้า EV

1. ผู้ผลิตรถยนต์

แน่นอนว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง ปัจจุบันความต้องการรถยนต์ EV ยังมีมากกว่าความสามารถในการผลิต และยังมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ ทั้งบริษัทที่ผลิตรถ EV โดยเฉพาะ และผู้ผลิตรถยนต์เครื่องสันดาปภายในที่ต้องปรับตัวมาทำรถ EV ด้วย ล่าสุด Tesla ยังครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่ง แต่ก็ถูกตีตื้นขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยผู้นำในตลาดโลกปี 2021 มีดังนี้

  1. Tesla เจ้าเก่าเจ้าเดิม ครองส่วนแบ่ง 14% อานิสงส์จากรถรุ่น Tesla Model 3 ที่ครองแชมป์ขายดีอันดับหนึ่งในยุโรปเมื่อปี 2021 ปัจจุบันมีฐานการผลิตในจีนและกำลังจะเริ่มผลิตในยุโรปด้วย
  2. Volkswagen Group ครองส่วนแบ่ง 12% แต่ครองตลาดอันดับหนึ่งในยุโรป มีแบรนด์ในเครืออย่าง Audi, Porsche, Cupra, SEAT และ Skoda
  3. SAIC เจ้าของแบรนด์ GM และ Wuling ครองส่วนแบ่ง 11% ได้อานิสงส์อย่างมากจาก Wuling Hongguang Mini EV ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในตลาดจีน
  4. BYD ครองส่วนแบ่ง 9% อาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในตลาดประเทศไทย แต่ในระดับโลกเรียกว่ามาแรงเพราะทำยอดขายได้เพิ่มถึง 200% ในปี 2021
  5. Stellantis เจ้าของแบรนด์รถขนาดกะทัดรัดยอดฮิตในยุโรปอย่าง Peugeot, Opel/Vauxhall และ Fiat ครองส่วนแบ่ง 6%
  6. BMW Group เจ้าของ BMW และ Mini Cooper ถือส่วนแบ่ง 5% ปีที่แล้วทำยอดขาย EV โต 70% แต่ยังต้องพ่ายแพ้ให้กับเจ้าอื่น ๆ ที่พุ่งแรงแซงหน้า
  7. Hyundai Motor Group ถือส่วนแบ่ง 5% เช่นกัน โดยมีแบรนด์ในเครือคือ Hyundai และ Kia

2. ผู้ผลิตส่วนประกอบในรถยนต์และธุรกิจห่วงโซ่อุปทาน

การเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปภายในมาใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในรถ EV หมายความว่าจำนวนชิ้นส่วนต่าง ๆ ในรถจะลดลงจากราว 1,400 เหลือเพียง 200 ชิ้นส่วนเท่านั้น

เทรนด์รถ EV จึงไม่กระทบแค่เพียงผู้ผลิตรถยนต์ แต่ยังจะกระทบไปถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนอีกนับพันเจ้า บางชิ้นส่วนจะไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป เช่น ระบบไอเสีย วาล์ว เพลาข้อเหวี่ยง ในขณะที่บางชิ้นส่วนจะต้องมีการเปลี่ยนสเป็คเพื่อให้เหมาะกับรถยนต์ไฟฟ้า เช่น จานเบรกที่รับน้ำหนักได้มาก (เพราะ EV มีน้ำหนักมากกว่ารถเครื่องสันดาปภายใน) อาจต้องเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่ทนทาน ตัดยากมากขึ้น ส่งผลไปถึงผู้ผลิตเครื่องจักรด้วยว่าความต้องการเครื่องตัดประสิทธิภาพสูงจะเพิ่มมากขึ้น

ผู้ผลิตที่น่าจะได้รับผลเชิงบวกจากการเปลี่ยนไปใช้รถ EV นั่นก็คือผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ และแบตเตอรีรวมทั้งสถานีชาร์จ ทั้งนี้ แบตเตอรีเรียกได้ว่าเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่มีผลอย่างมากต่อการผลิตและจำหน่ายรถ EV ปัจจุบันผู้ผลิต 5 เจ้าหลักครองส่วนแบ่งถึงกว่า 80% ในตลาดจึงมีอำนาจต่อรองสูง ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่บรรดาผู้ผลิตจะพยายามหันมาผลิตแบตเตอรีเองกันมากขึ้น ที่เห็นตอนนี้แล้วเช่น Tesla และผู้ผลิตค่ายจีน นับเป็นจุดปรับตัวที่ภาคอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยต้องเตรียมปรับความสามารถให้รองรับการผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

มีข่าวดีคือ MG ประกาศเมื่อต้นปี 2022 ว่าจะลงทุน 2,500 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรีในประเทศไทยอย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยซึ่งภาคการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์คิดเป็น 18% ของตัวเลขการส่งออก ถือว่าอาจอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงจากแนวโน้มการเปลี่ยนไปใช้รถ EV ทั่วโลก นักวิเคราะห์มองว่าอุตสาหกรรมไทยยังไม่มีเทคโนโลยีทันสมัยเพียงพอรองรับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังเสียเปรียบเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียที่นอกจากจะมีค่าแรงถูกกว่าแล้ว ยังเป็นแหล่งแร่นิเกิลที่จำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรีถึง 30% ของโลก

3. เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ

ถึงแม้เทคโนโลยีรถยนต์อัจฉริยะหรือรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (autonomous vehicle) จะเป็นคนละเรื่องกันกับความเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์เครื่องสันดาปภายใน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสองเทคโนโลยีนี้เติบโตไปในทางเดียวกัน และการใช้พลังงานไฟฟ้าก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ทรงพลังกว่า ทั้งด้วยการที่มีแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่เสถียร และการตอบสนองที่รวดเร็วกว่าไม่ว่าจะเป็นการเร่งหรือเบรก

ผู้ผลิตอย่าง Tesla ที่เกิดมากับรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะนั้นมีการพัฒนาเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติเป็นของตนเอง แต่ก็มีบริษัทอื่น ๆ ที่ขายเฉพาะเทคโนโลยีอัจฉริยะให้กับผู้ผลิตรถยนต์ เช่น Infineon และ Aptiv ที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่บริษัทเทคโนโลยีเจ้าใหญ่จะหันมาจับมือกับบริษัทรถยนต์เพื่อผลิตรถยนต์อัจฉริยะของตนเอง เช่น Apple ที่มีข่าวว่ากำลังเจรจากับผู้ผลิตรถอย่าง Hyundai เพื่อพัฒนารถยนต์ไร้คนขับเป็นของตนเอง

4. แพลตฟอร์มเรียกรถรับส่ง

เมื่อพิจารณาราคาพลังงานต่อกิโลเมตรที่ถูกกว่าของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเห็นว่ากลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ด้านต้นทุนจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดกลุ่มหนึ่งก็คือรถรับจ้างที่แต่ละวันวิ่งระยะทางเฉลี่ยเยอะกว่าผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวทั่วไป

หลายแพลตฟอร์มเริ่มจับมือกับค่ายรถแล้วเพื่อส่งเสริมการนำรถ EV มาใช้รับส่งผู้โดยสาร แต่มองไปไกลกว่านั้น หากเทคโนโลยีไร้คนขับนำมาใช้ได้จริงเมื่อไหร่จะเป็นการเปลี่ยนโฉมวงการแท็กซี่และแพลตฟอร์ม ride sharing อย่างมาก และก็อาจไม่ใช่ฝันที่ไกลจนมองไม่เห็น เพราะทุกวันนี้หลายแพลตฟอร์มในสหรัฐกำลังแข่งกันทดสอบโครงการรถรับส่ง ‘ไร้คนขับ’ แล้วโดยเปิดให้ผู้ใช้งานในบางเมืองสามารถเรียกใช้รถเหล่านี้ได้จริง (แต่ยังมีพนักงานนั่งหลังพวงมาลัยอยู่เพื่อทำหน้าที่จอดรถหรือบังคับรถในกรณีฉุกเฉิน)

5. ผู้ผลิตพลังงาน

หากมีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจริง ๆ ความต้องการน้ำมันทั่วโลกก็มีแนวโน้มจะลดลง ส่วนความต้องการไฟฟ้าก็คงจะเพิ่มขึ้น คำถามข้อหนึ่งที่หลายคนกังขาก็คือการเปลี่ยนจากน้ำมันไปใช้พลังงานไฟฟ้าจะดีต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือ ถ้าเรายังใช้พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ใช่พลังงานสะอาด คำตอบคือ รถ EV ยังคงดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถยนต์เครื่องสันดาปภายใน ต่อให้คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมครบทั้งห่วงโซ่อุปทานแล้วก็ตาม

ตัวเลขการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากรถที่วิ่งด้วยน้ำมันในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 236 กรัมต่อกิโลเมตร ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 124 กรัม/ก.ม. และหากใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากขึ้นก็มีโอกาสจะลดการปล่อยก๊าซเหลือเพียง 31 กรัม/ก.ม. ในปี 2050แน่นอนว่าหากจะให้ดียิ่งขึ้นเราคงต้องตั้งเป้าเปลี่ยนการผลิตไฟฟ้าให้หันไปใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นด้วย

ทั้งหมดนี้คือเทรนด์และแนวโน้มของรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในไทยที่เรารวบรวมมา จะเห็นว่ามีปัจจัยที่น่าสนใจอยู่หลายข้อ ซึ่งก็อาจมองเป็นโอกาสที่รอให้ลงทุนด้วยเช่นกัน ใครสนใจลงทุนในหลากหลายธุรกิจรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เปิดให้ลงทุนทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ สมัครเป็นนักลงทุนกับ PeerPower ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ติดต่อบทความน่าสนใจอื่น ๆ ได้ในสัปดาห์หน้า เราจะเลือกเรื่องน่าสนใจมาเล่าอีก

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

พลังงานหมุนเวียน : โอกาสในวิกฤตเมื่ออียูเตรียมเก็บภาษี CBAM กับสินค้านำเข้า

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร