Perspectives

ส่องแนวโน้มตลาดรถยนต์ไฟฟ้า รถ EV และโอกาสลงทุนในอุตสาหกรรม

by
PeerPower Team
August 25, 2023

ส่องแนวโน้มตลาดรถยนต์ไฟฟ้า รถ EV และโอกาสลงทุนในอุตสาหกรรม

ถ้าใครจำได้เมื่อปีที่แล้ว PeerPower เคยออกบทความ 5 ปัจจัยที่ส่งผลต่อเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าและแนวโน้มของตลาด บล็อกที่เป็นกึ่ง ๆ บทวิเคราะห์ภาพรวมของอุตสาหกรรมรถ EV ในไทยและต่างประเทศ และมุมมองในแง่ของการลงทุน 

ผ่านมาแล้วหนึ่งปีกว่า ๆ เราสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ปัจจุบันเราเห็นรถ EV บนท้องถนนเยอะขึ้น และจากงาน PeerPower Community Meet-Up ล่าสุดของเรา MuvMi ก็ได้แชร์มุมมองว่าอุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้านี้มีโอกาสอยู่มากมายเหลือเกิน ตั้งแต่ต้นน้ำไปยันปลายน้ำ 

ดังนั้นบล็อกนี้ PeerPower เลยจะชวนมาสำรวจอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอีกครั้ง ว่ามีโอกาสอะไรที่น่าสนใจ และถ้าอยากลงทุนควรจับทางอย่างไรดี 

สถานการณ์ปัจจุบัน: เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในไทยปรับตัวไปในทิศทางดี แซงชนะชาติสมาชิกอาเซียน 

คนไทยนิยมใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ตั้งแต่เปิดปี 2023 รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี (BEV) ในไทยจดทะเบียนไปแล้ว 49,952 คัน เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปีที่แล้ว หรือประมาณ 20,815 คัน (อ้างอิงจาก สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย)

Reuters รายงานว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งในจำนวนนี้จะเห็นว่ามีสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอยู่มาก แซงหน้าชนะผู้ผลิตรายใหญ่ของไทยอย่างญี่ปุ่นไปหลายก้าว

ปริมาณรถยนต์ไฟฟ้า รถ EV ที่จดทะเบียนในไทย PeerPower

จากกราฟจะเห็นว่า ใน 5 อันดับแรก รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนครองตลาดไปแล้วโดย 3 บริษัทใหญ่ ส่วนที่เหลือรองลงมาคือ Tesla รถยนต์ไฟฟ้าจากอเมริกา และ Volvo จากสวีเดน (ซึ่งหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทถือโดยบริษัท Geely สัญชาติจีน) และอื่น ๆ รองลงมา

ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าที่มีในไทยและความต้องการที่เพิ่มขึ้น 

รถยนต์ไฟฟ้ามีหลายประเภท แต่ละประเภทมีเครื่องยนต์ต่างกัน ไล่ตั้งแต่ประเภทที่ใช้เชื้อเพลิงสันดาปขับเคลื่อนร่วมกับพลังงานไฟฟ้า ไปจนถึงประเภทที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียว ๆ ส่วนใหญ่ประเภทที่เราจะเห็นคือ 

  1. รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ไม่มีเครื่องยนต์ ใช้แบตเตอรี่เป็นตัวขับเคลื่อนเท่านั้น เสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าเข้าแบตเตอรีได้ 
  1. รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดแบบปลั๊กอิน (PHEV) มีเครื่องยนต์สันดาป ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรีขับเคลื่อนร่วมกัน เสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าเข้าแบตเตอรีได้ 
  1. รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) มีเครื่องยนต์สันดาป ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน

Deloitte ได้ทำรายงานสำรวจในไทยและพบว่า ผู้ใช้รถส่วนมากต้องการที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV เพิ่มขึ้น อยู่ที่ประมาณ 31% สูสีกับรถยนต์ทั่วไปที่มีสัดส่วนอยู่ประมาณ 36% แต่ถ้าดูภาพรวมจะเห็นว่าความต้องการในรถยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน 

ซื้อรถยี่ห้ออะไรดี รถยนต์ไฟฟ้ารี่ห้อไหนดี รถยอดนิยมในไทย คนไทยอยากได้รถแบบไหนมากที่สุด PeerPower

ปัจจัยที่ทำให้ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 

1. รถ EV ราคาถูกลง และราคาไม่ห่างกับรถยนต์เครื่องสันดาปมาก

บล็อกรถยนต์ไฟฟ้าที่แล้วเราคุยกันว่ารถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกลง โมเดลรุ่นท็อปเมื่อก่อนราคาเปิดตัวอยู่ที่ 4 ล้านกว่า ปัจจุบันก็ราคาถูกลง บางรุ่นอยู่ที่ล้านต้น ๆ แถมหน้าตาน่ารักเหมาะที่จะเป็น city car ขับในชีวิตประจำวัน 

และปีนี้ยังมีรุ่นที่ราคายิ่งถูกลงไปอีก เฉียด ๆ ล้านเท่านั้น ในงาน BITEC Auto Show ล่าสุด Build Your Dream (BYD) เปิดตัวราคารถรุ่น BYD Dolphin อยู่ที่ 799,999 บาท ส่วน Ora Good Cat จากค่าย GWM ที่ขายดีในไทย ราคาก็อยู่ที่ประมาณ 828,500 บาท

2. ราคาแบตเตอรี่ถูกลง ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าราคาถูก

ข้อนี้ถือเป็นปัจัยหลักที่ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ตั้งแต่ปี 2013 จะเห็นได้ว่าราคาแบตเตอรีลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งแบบเซลล์และแพ็ค

แบตเตอรีลิเธียมไออน คือ คือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องใช้ไฟฟ้า ด้วยข้อดีที่น้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานนาน และให้พลังงานสูง เลยถูกพัฒนาไปอยู่ในเครื่องใช้หลายประเภท จนสุดท้ายก็กลายมาเป็นแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์

ก่อนหน้านี่การผลิตแบตเตอรีลิเธียมไออนมีต้นทุนสูง แต่เมื่อเทคโนโลยีการผลิตที่พัฒนาขึ้น ราคาเลยค่อย ๆ ต่ำลง (ดูข้อมูลจากกราฟประกอบ อ้างอิงจาก BloombergNEF)

ราคาแบตเตอรีลิเทียมไออนปรับตัวลง
อ้างอิงกราฟจาก  BloombergNEF

ในปี 2022 จะเห็นว่าราคาแบตเตอรี่ลิเธียมไออนเพิ่มขึ้นประมาณ 7% เพราะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และความตึงเครียดทางการค้า แต่โดยรวมก็ยังสรุปได้ว่าราคาแบตเตอรรี่นั้นถูกลงกว่าเดิม

จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สะท้อนแนวโน้มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังมีไม่มากพอต่อความต้องการถ้าเทียบกับปั๊มน้ำมันที่มีเยอะกว่า แต่ทั้งนี้ก็เห็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ เพราะภาคเอกชนแข่งขันเพิ่มจำนวนจุดชาร์จเพื่อตอบสนองดีมานด์ที่มากขึ้น 

อ้างอิงจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ปัจจุบันผู้ให้บริการจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามีทั้งหมด 13 เจ้า กระจายอยู่ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 1,482 แห่ง และมีหัวชาร์จพร้อมให้บริการทั้งหมด 4,628 หัว (ไม่รวมสถานีชาร์จที่ให้บริการเฉพาะกลุ่ม)

สถานีชาร์จรถ EV ในไทย จุดชาร์จรถ EV ที่ไหน จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า PeerPower

แนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มคือ การติดตั้งจุดชาร์จในบ้าน ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว และค่าใช้จ่ายอาจถูกลงกว่าการใช้สถานีชาร์จนอกบ้าน 

 

แนวโน้มรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

มีรายงานว่าจีนเร่งลงทุนและเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ล่าสุดค่ายใหญ่อย่าง BYD ก็ได้ตั้งโรงงานในจังหวัดระยอง และตั้งเป้าว่าภายในปี 2024 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้จำนวน 150,000 คันต่อปี ซึ่งแน่นอนว่าตัวเลขนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศของเราด้วยเช่นกัน 

ในแง่ของผลกระทบ กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะเสียประโยชน์จากการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า คือ 

  • อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนสันดาปที่ไม่จำเป็นต่อรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ชิ้นส่วนระบบจ่ายเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมัน/แก๊ส ชิ้นส่วนระบบกำลัง (powertrain) และเครื่องยนต์ต่าง ๆ เพราะพวกนี้อาจไม่สามารถนำมาประกอบร่วมกับรถยนต์ไฟฟ้าได้ 
  • แต่ทั้งนี้ ชิ้นส่วนบางประเภทอาจปรับปรุงเพื่อให้เข้ารถยนต์ไฟฟ้าได้เช่นกัน เช่น ระบบเบรก ระบบหล่อเย็น แต่อาจต้องปรับปรุงเทคโนโลยีให้เอื้อต่อรถยนต์ไฟฟ้าด้วย 

อุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากรถยนต์ไฟฟ้า คือ 

  • อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนที่สามารถใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าได้ กลุ่มจะได้อนิสงส์จากอีกตลาด คือนอกจากรถยนต์เครื่องสันดาปแล้ว ยังมีดีมานด์จากรถยนต์ไฟฟ้าจ่อรออยู่ ตัวอย่างธุรกิจเช่น ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนขับเคลื่อน (ล้อ เพลา ฯลฯ) ธุรกิจประกอบตกแต่งภายในรถ ธุรกิจระบบสื่อสาร telematics และธุรกิจผลิตแบตเตอรีไฟฟ้า (ทั้ง supply chain)
  • นอกจากนั้น อุตสาหกรรมที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจร หน่วยควบคุมแบตเตอรี สายไฟ ระบบชาร์จ ฯลฯ ก็ได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน 

โดยภาพรวมแล้วเราจะเห็นว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามีทิศทางที่น่าสนใจ นอกจากจะเป็นตลาดใหญ่ที่โตค่อนข้างเร็วและมีศักยภาพมาก ไทยเองโดยภาพรวมก็มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมโดยการสนับสนุนทุนจากหลายส่วน โอกาสการลงทุนมีแนวโน้มน่าสนใจให้ติดตาม

ครั้งหน้าเราจะมีบทความอะไรมาเล่าให้ฟังอีกอย่าลืมติดตาม ใครอยากรู้เรื่องอะไร inbox มาคุยกับเราได้ที่ Facebook: PeerPower Thailand สัญญาว่าจะเอาเรื่อง insight มาเล่าให้ฟังอีก

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร