ลงทุนอะไรดี? อนาคตอุตสาหกรรมอาหาร โอกาสดีน่าลงทุน
ถ้าใครจำได้ PeerPower เคยเขียนเกี่ยวกับ 2 อุตสาหกรรมที่น่าจับตาช่วงเศรษฐกิจถดถอยซึ่งคือ อาหารกับพลังงาน (ลองอ่านได้ในบล็อก) โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร อุตสาหกรรมนี้ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอ เป็นสินทรัพย์กลุ่ม Staple - Consumer Goods ที่คนมักเทลงทุนกระจายความเสี่ยงในช่วงที่เห็นแววว่าเศรษฐกิจน่าจะฝืดเคือง
แต่พอพูดถึงอาหารหรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการกินปากท้องต่าง ๆ นักลงทุนบางส่วนอาจส่ายหน้า รู้สึกงั้น ๆ เพราะนิยามหนึ่งของสินทรัพย์พวกนี้คือ “ของน่าเบื่อ” เป็นกลุ่มที่ให้ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอจริง แต่โอกาสที่จะโตแบบพุ่งพรวดน้อยมาก… แต่ก็ไม่แน่เสมอไป
บล็อกนี้ PeerPower เลยขอเสนอมุมมองว่า “สถานการณ์ของอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างไรบ้าง เกิดอะไรขึ้น และมีโอกาสอะไรน่าสนใจ?” เผื่อใครอยากเริ่มลงทุนแต่ยังไม่รู้ว่าจะลงทุนอะไรดี กลุ่มอาหารนี้ก็อาจจะเป็นตัวเลือกการลงทุนของคุณได้
เมื่อความมั่นคงทางอาหารเริ่มสั่นคลอน
ความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องใหญ่ระดับวาระโลกมาตลอด ถ้าใครจำได้ครั้งที่แล้วบนเวทีงานเอเปค Paul Gliding อดีตผู้อำนวยกรองค์กร Greenpeace กล่าวว่า “มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตว่าอาหารจะถูกใช้เป็นอาวุธใหม่ของสงคราม ผ่านการควบคุมซัพพลายเชนเพื่อกดดันประเทศคู่ตรงข้าม”
ในตอนนั้นบางคนอาจนึกภาพไม่ออกว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ยิ่งในไทยประเทศที่มีอาหารขายทุกสี่แยกไฟแดง การต้องมานั่งนึกภาพสภาวะที่ “ไม่มีอาหารจะขาย” อาจไกลจินตนาการไปหน่อย แต่ไม่ใช่ที่อังกฤษ…
ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อังกฤษเกิดวิกฤตการณ์ที่เรียกว่า Salad Crisis ผัก-ผลไม้สด ทั้งแตงกวา มะเขือเทศ ผักกาด แครอท ฯลฯ หายเกลี้ยงจากชั้นในซุปเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งทั่วประเทศ บางแห่งที่ยังพอมีสินค้าก็จำกัดปริมาณการซื้อ
ทางซุปเปอร์มาร์เก็ตแจ้งสาเหตุผักขาดตลาดครั้งนี้ว่า เป็นผลมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในประเทศผู้ผลิตทางแถบยุโรปตอนใต้ และแอฟริกาตอนเหนือ (ซึ่งคือสเปนและโมร็อกโก) บางส่วนเชื่อว่าสาเหตุมาจากการที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) supply chain จึงมีปัญหา ในขณะที่อีกส่วนให้เหตุผลว่าเป็นเพราะอังกฤษพึ่งพาการนำเข้าผลิตผลทางการเกษตรจากภายนอกมากเกินไป ครั้นพอจะปลูกเองก็เจอปัญหาราคาปุ๋ยและเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นจากสงคราม ปลูกได้ไม่พอต่อความต้องการแถมราคาต้นทุนก็สูงมาก
ทั้ง 3 เหตุผลที่รายงานมาต่างสะท้อนถึงปัจจัยระดับโลกที่ส่งผลต่อความมั่นคงของอาหารทั้งสิ้น
สาเหตุหลักของความมั่นคงของอาหาร
ธนาคาร Barclays ในอังกฤษได้ทำวิจัยถึงสาเหตุที่ทำให้ความมั่นคงทางอาหารเริ่มสั่นคลอนและลุกลามเป็นวิกฤต พบว่ามี 2 ปัจจัยหลักด้วยกัน ซึ่งคือ
1. สงครามรัสเซีย - ยูเครน
ที่ส่งผลให้ทุกอย่างแพงขึ้นเป็น 2 เท่า โดยเฉพาะราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ยิ่งในประเทศที่ต้องใช้เชื้อเพลิงผลิตและควบคุมอุณหภูมิโรงเรือนให้เหมาะสมสำหรับการปลูกพืช ราคาต้นทุนเพิ่มส่งผลให้ราคาผักต่าง ๆ แพงขึ้น
อีกสิ่งที่ราคาสูงมากและซื้อยากขึ้นทุกวัน ๆ คือ ปุ๋ย เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของโลก (สารตั้งต้นผลิตปุ๋ยคือก๊าซธรรมชาติ) เมื่อไม่มีปุ๋ย พืชย่อมขาดสารอาหารตายง่ายไม่ทนโรค ผลผลิตทางการเกษตรจึงน้อยตาม
สิ่งนี้กระทบทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่มีพืชเศรษฐกิจของชาติคือข้าวโพดและข้าวสาลี สองสิ่งนี้ต้องใช้ปุ๋ยบำรุงเพื่อเร่งผลผลิต แต่เมื่อปุ๋ยราคาแพงรัฐบาลจึงพิจารณาที่จะลดการใช้ปุ๋ยเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เกษตรกรจ่ายไหว แต่ผลที่ตามคือผลผลิตจะน้อยลงไปด้วย
2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปริมาณของพืชผลที่ผลิตได้ กรณีเช่นผักขาดตลาดที่อังกฤษ สาเหตุหนึ่งมาจากอากาศผิดปกติที่ โมร็อกโกและอียิปต์ ปริมาณผลผลิตจึงลดลง ซัพพลายเชนจึงเกิดปัญหาตามมา
จากเหตุผลสองข้อข้างต้น การแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมาที่สุดคือ การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ สนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่น แต่อาจจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีทางเกษตรกรรม หรือ อีกวิธีคือหาแหล่งวัตถุดิบใหม่โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านการขนส่งเพื่อลดต้นทุน
ซึ่งถ้ามองจากมุมนี้จะเห็นว่าไทยเองก็มีโอกาสได้ประโยชน์ในฐานะประเทศผู้ผลิตอาหาร การลงทุนกับอุตสาหกรรมอาหารของไทยจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
อุตสาหกรรมอาหารน่าลงทุน เพราะเรื่องกินคือเรื่องใหญ่
ความจริงแล้วโอกาสลงทุนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ “อาหาร” ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสอยู่ในซัพพลายเชนทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงผลผลิตสำเร็จ หรือแม้กระทั่งบรรจุภัณฑ์
หากลองวิเคราะห์หมวดหมู่อุตสาหกรรมอาหารที่มีโอกาสน่าลงทุนอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มบริการเกี่ยวกับอาหาร และกลุ่มผลผลิต
กลุ่มบริการ
หมายถึง กระบวนการที่ทำให้เกิดผลผลิต อาจไม่ได้หมายถึง “อาหาร” ที่กินได้โดยตรง แต่คือ กระบวนการตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการขนส่ง อาจแบ่งได้เป็น
1. เทคโนโลยีอัจฉริยะด้านการเพาะปลูกและควบคุมคุณภาพอาหาร (Agricultural Technology and Quality Assurance Technology)
หรืออีกชื่อที่น่าจะคุ้นหูมากกว่า คือ Smart Farming ซึ่งมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ เป็นผลมาจากความต้องการบริโภคและผลิตวัตถุดิบเกรดพรีเมี่ยมที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเพิ่มของประชากร ในปี 2020 มูลค่าของอุตสาหกรรม Smart Farming ทั่วโลกอยู่ที่ราว 11.23 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก 9.8% ในปี 2021-2028 คาดการณ์ว่าประเทศแถบเอเชียจะเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดในปีต่อ ๆ ไป
2. บริการส่งอาหารเดวิเวอรี่ (Food Delivery Services)
เติบโตขึ้นตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบันมูลค่าของกลุ่มนี้อยู่ที่ราว 38.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะโตขึ้นอีกราว 97 ล้านเหรียญสหรัฐในอีก 10 ปีข้างหน้า
กลุ่มผลผลิต
หมายถึงผลิตภัณฑ์อาหารโดยตรง แต่ที่น่าสนใจในกลุ่มนี้คือผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนไปเพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์และเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ทั้งเทรนด์เกี่ยวกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความสะดวกสบาย ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น
1. อาหารทางเลือก (Plant-based Food)
คือ โปรตีนจากพืชหรือแม้กระทั่งเนื้อที่เพาะเลี้ยงจากเซลล์ (cell-based meat) ในปีที่ผ่านมาอาหารทางเลือกมีมูลค่าราว 10.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มที่มูลค่าจะเพิ่มขึ้นถึง 34.5 พันล้านในปี 2032
2. อาหารฟังก์ชั่น (Functional Food)
คือ อาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูงเพื่อทดแทนหรือสร้างประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น น้ำดื่มผสมวิตามิน ธัญพืชผสมโพรไบโอติกส์ เยลลี่ผสมเมลาโทนินช่วยเรื่องการนอนหลับ ไปจนถึงแคปซูลผลไม้สกัดเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ อาหารกลุ่มนี้เติบโตขึ้นจากกระแสความใส่ใจด้านสุขภาพในผู้บริโภค ในปี 2022 มูลค่าของกลุ่มนี้อยู่ที่ราว 191.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นถึง 243.83 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2026 (ดู insight เพิ่มที่นี่)
3. อาหารแปรรูป-อาหารพร้อมทาน (Processed Food)
คือ อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง อาหารแห้ง ฯลฯ กลุ่มนี้เติบโตขึ้นด้วยปัจจัยหลัก 2 ข้อ คือ ความคุ้มค่าและความสะดวก โดยเฉพาะ “อาหารกระป๋อง” ที่คว้ารางวัล “อาหารแห่งปี” จากสถาบัน Gurunavi Research Institute ในญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่ง สำหรับปี 2023 กลุ่มนี้มีมูลค่าอยู่ราว 3.40 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีความเป็นไปได้ที่จะโตเพิ่มถึง 5.19 พันล้าน
ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารในไทย
กระทรวงพาณิชย์รายงานว่าในปีที่ผ่านมาตัวเลขรวมของมูลค่าส่งออกอาหารอยู่ที่ 9.9 ล้านล้านบาท หรือราว 287 ล้านเหรียญสหรัฐถือว่าโตเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาครัฐและเอกชนร่วมกันผลักดัน ผนวกความต้องการหาซัพพลายเชนใหม่ในหลายประเทศ สองสิ่งนี้ส่งผลให้ตัวเลขส่งออกสินค้าหมวดอาหารปรับตัวขึ้นเป็นบวกในหลายรายการ
ตลาดที่น่าสนใจคือ ตะวันออกกลาง สหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐอเมริกา และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง หรือ CLMV ทั้งนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าจะเห็นว่ามูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลดลงอยู่ที่ราว 11.2% เป็นผลมาจากเศรษฐกิจชะลอตัว แต่หากเจาะเฉพาะหมวด สำหรับ
- กลุ่มอาหารแปรรูป - อาหารพร้อมทาน ธนาคารกรุงศรี ได้สำรวจพบว่า ในปี 2564-2566 กลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารแช่แข็งพร้อมทานที่จะเติบโตได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกตามการขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่และการขยายตัวของชุมชนเมือง
- กลุ่มอาหารฟังก์ชั่น ซึ่งคือ อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ (Functional Foods and Drink) อาหารเกษตรอินทรีย์ (Organic Foods) อาหารกลุ่มที่ผลิตขึ้นมาใหม่ด้วยนวัตกรรม (Novel Foods) และอาหารทางการแพทย์ (Medical Foods) ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นราว 1.3 แสนล้านบาทหรือมากกว่าเล็กน้อย
- กลุ่มอาหารทางเลือก ซึ่งคือ plant-based food ต่าง ๆ มีรายงานว่าจะอยู่ที่ราว 4 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา และปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 หมื่นล้านบาท ตลาดที่น่าสนใจคือ กลุ่มอาเซียน ฮ่องกง จีน กลุ่มประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกา
จุดอ่อนและโอกาสของอุตสาหกรรมอาหาร
ถึงแม้จะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมั่นคงเพราะเป็นเรื่องปากท้อง แต่อุตสาหกรรมอาหารก็ยังมีจุดอ่อนที่นักลงทุนต้องพิจารณาควบคู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งคือ
- สภาพเศรษฐกิจ เหมือนอย่างที่ยกตัวอย่างก่อนหน้า เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวมูลค่าการส่งออกอาจลดลง หรือหากสถานการณ์เงินเฟ้อแย่ ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะระมัดระวังค่าใช้จ่ายเช่นกัน
- ต้นทุนการผลิตสูง ข้อนี้กระทบต่ออาหารทุกหมวด กรณีอย่างเนื้อเพาะจากแล็บอาจเห็นภาพชัดว่าอาหารประเภทนี้จะมีต้นทุนด้านเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องราคาถึงแพงตาม หรือแม้กระทั่งผักผลไม้ ต่อให้ไม่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน แต่ถ้าปุ๋ยปรับราคาขึ้น ราคาก็แพงขึ้นเช่นเดียวกัน
- ข้อบังคับที่อาจเปลี่ยนได้ตลอดเวลาและการกีดกันทางการค้า เช่น ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตอาจไม่ได้คำนึงว่าการผลิตอาหารจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือสร้าง carbon footprint เท่าไหร่ แต่ปัจจุบันถ้าผู้ผลิตไม่คำนึงเกี่ยวกับ CBAM ในอนาคตก็อาจจะส่งสินค้าไปขายไม่ได้ เพราะระเบียบโลกตอนนี้ทุกคนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
- การแข่งขันสูง เพรราะมีผู้ผลิตเจ้าใหม่พร้อมกระโดดมาในตลาดตลอดเวลา
แต่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเลยซะทีเดียว เพราะหากพิจารณาตั้งแต่ต้นจะพบว่าอุตสาหกรรมอาหารเหล่านี้มีความต้องการในตลาดสูง มูลค่าตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นในทุกปี ซึ่งอาจจะเป็นจังหวะที่นักลงทุนลองขยับขยายกระจายความเสี่ยงไปยังอาหารหมวดเหล่านี้ได้เช่นกัน อย่าลืมติดตามอุตสาหกรรมอาหารใหม่ ๆ น่าสนใจที่จะมาร่วมระดมทุนกับ PeerPower ในเร็ว ๆ นี้
จะเห็นว่าในภาพรวมแม้ว่าเราจะเห็นราคาน้ำมันและอาหารรอบตัวพุ่งสูงขึ้นกว่าก่อน แต่จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าท่ามกลางวิกฤตการณ์ทั่วโลกมากมาย อุตสาหกรรมอาหารกลับมีทิศทางที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกับชาวไทย เรียกได้ว่าถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองไม่น้อยสำหรับนักลงทุนอย่างเรา ๆ