พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) คือ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทตราสารหนี้ที่มีความปลอดภัยเป็นลำดับต้นๆ ใกล้เคียงกับหุ้นกู้แต่ได้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากประจำ
- พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) คือ ตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่ออกโดยรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อกู้เงินจากประชาชน โดยมีกำหนดการชำระคืนที่ชัดเจนพร้อมดอกเบี้ย
- ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 3% ต่อปี
- เริ่มต้นลงทุนได้ตั้งแต่ 1,000 บาท การลงทุนในพันธบัตรจึงเริ่มต้นด้วยทุนที่น้อยกว่าหุ้นกู้
- ราคาขายจริงของพันธบัตรมักต่ำกว่าราคาหน้าตั๋ว ส่วนต่างตรงนี้ถือเป็นผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน เพราะการไถ่ถอนจะไถ่ถอนตามราคาหน้าตั๋วเสมอ
- การลงทุนในพันธบัตรมีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย สภาพคล่อง และภาวะเงินเฟ้อ
พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) รู้จักดีแล้วหรือไม่ก่อนลงทุน
พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) หรือตราสารหนี้รัฐบาล เป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ สถานะของพันธบัตรกับหุ้นกู้เอกชนเหมือนกันคือ ผู้ซื้อหรือนักลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ที่จะได้รับการชำระหนี้ และผลประโยชน์อื่นๆ เช่นดอกเบี้ย ปันผล จากลูกหนี้คือรัฐบาลหรือหน่วยงานที่ออกพันธบัตรนั้นๆ การลงทุนในพันธบัตรจึงไม่ซับซ้อนเท่าการลงทุนแบบอื่นๆ คือซื้อมาเก็บไว้จนถึงเวลาไถ่ถอนก็จะได้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ยปีละประมาณ 3% แต่เอาเข้าจริง พันธบัตรก็เหมือนผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ที่มีลักษณะเฉพาะตัว คือมีความลึกในรายละเอียดที่นักลงทุนควรทำความเข้าใจก่อนเลือกลงทุน
พันธบัตรมีกี่ประเภท
พันธบัตรรัฐบาลจะมีระยะเวลาไถ่ถอนระหว่าง 28 วัน 91 วัน 182 วัน หรือไม่เกิน 1 ปี แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ตามวัตถุประสงค์ในการออกตราสาร ดังต่อไปนี้
พันธบัตรตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill)
เป็นพันธบัตรที่ออกโดยกระทรวงการคลัง ดังนั้นถ้านับเรื่องความมั่นคงแล้ว ตั๋วเงินคลังมีความมั่นคงสูงที่สุด และแน่นอนว่าความเสี่ยงน้อย ผลตอบแทนก็จะน้อยตามไปด้วย ตั๋วเงินคลังจึงไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย แต่ใช้วิธีขายต่ำกว่าราคาหน้าตั๋ว เพื่อให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ตั๋วเงินคลังจะมีระยะเวลาไถ่ถอนไม่เกิน 1 ปี
พันธบัตรตั๋วสัญญาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (Debt Restructure Bill)
มักออกโดยสถาบันการเงิน เพื่อระดมทุนช่วยเหลือฟื้นฟูกองทุน และพัฒนาสถาบันการเงินนั้นๆ จึงมีความเสี่ยงมากกว่าตั๋วเงินคลังขึ้นมาระดับหนึ่ง แต่ให้ผลตอบแทนด้วยวิธีเดียวกัน คือขายต่ำกว่าราคาหน้าตั๋ว แต่ไถ่ถอนคืนเต็มราคา พันธบัตรประเภทนี้มักมีระยะเวลาในการไถ่ถอนเป็นวัน ส่วนใหญ่ไถ่ถอนคืนภายใน 182 วัน
พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond)
นักลงทุนมักรู้จักและเลือกลงทุนกับพันธบัตรประเภทนี้มากที่สุด โดยเป็นพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลเพื่อระดมทุนไปใช้ในการบริหารประเทศ ลดการขาดดุลทางการเงิน ถือเป็นตราสารหนี้ระยะยาวมักมีอายุก่อนการไถ่ถอนมากกว่า 1 ปี ขึ้นไป และเป็นพันธบัตรที่มีการจ่ายดอกเบี้ยส่วนมากจ่ายปีละ 2 ครั้ง โดยดอกเบี้ยงวดสุดท้ายจะได้รับพร้อมกับเงินต้นที่มาจากการไถ่ถอน
พันธบัตรออมทรัพย์ (Government Saving Bond)
เป็นการซื้อพันธบัตรเพื่อออมทรัพย์ จ่ายดอกเบี้ย 2 ครั้งต่อปี โดยจะขายให้กับบุคคลทั่วไปและองค์กรไม่แสวงกำไรในสังกัดของรัฐบาล เป็นพันธบัตรประเภทที่มีระยะเวลาไถ่ถอนเป็นแบบระยะยาวคือ 1 ปีขึ้นไป โดยเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน จะได้คืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย
พันธบัตรซื้อขายอย่างไร
ตลาดซื้อขายพันธบัตร แบ่งเป็น 2 ตลาดเช่นเดียวกับการลงทุนประเภทอื่น คือมีการซื้อขายในตลาดแรก(Primary Market) และในตลาดรอง (Secendary Market) ซึ่งมีความแตกต่างกัน ดังนี้
ตลาดแรก (Primary Market)
คือการซื้อขายพันธบัตรที่เปิดตัวครั้งแรกโดยเป็นการซื้อขายระหว่างสถาบันออกพันธบัตรกับนักลงทุน ราคาขายจะเป็นราคาหน้าตั๋ว หรือราคาที่ต่ำกว่า โดยขายให้กับนักลงทุน 2 ประเภทด้วยวิธีการตั้งราคาที่ต่างกัน นักลงทุนรายย่อย คือการขายให้กับบุคคลทั่วไป ราคาขายเริ่มต้นที่ 1,000 บาท พันธบัตรบางประเภทจำกัดจำนวนเงินในการลงทุน แต่บางประเภทก็ไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสถาบันที่ออกพันธบัตรตัวนั้นมา โดยซื้อได้ผ่านธนาคารพาณิชย์นักลงทุนสถาบัน คือการขายให้สถาบันการลงทุน เช่นกองทุนรวมที่มีนโยบายในการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ราคาในการขายจะตั้งแบบประมูลซึ่งแบ่งเป็นการประมูลแบบแข่งราคา ราคาประมูลที่ต่ำสุด ได้สิทธิ์ในการซื้อก่อน กับการประมูลแบบไม่แข่งราคา จะขายที่ราคาถัวเฉลี่ยในการประมูลรอบเดียวกัน
ตลาดรอง (Secondary Market)
การซื้อขายพันธบัตรระหว่างนักลงทุนด้วยกันเอง การซื้อขายมีทั้งแบบซื้อขายนอกเคาท์เตอร์(Over the Counter) และการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ (Bond Electronic Exchange :: BEX) ซึ่งเป็นการซื้อขายผ่านโปรกเกอร์
พันธบัตรให้ผลตอบแทนจากอะไร
ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรมีอยู่ 3 แบบคือ
- ส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาหน้าตั๋ว ด้วยลักษณะของพันธบัตรที่จะไถ่ถอนคืนด้วยราคาหน้าตั๋วเสมอหากถือไว้ครบกำหนดตามข้อตกลง ทำให้พันธบัตรบางประเภทไม่มีผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย แต่เมื่อซื้อมาถูกกว่าราคาไถ่ถอน ส่วนต่างที่ได้นั้นก็กลายเป็นกำไร
- ส่วนต่างจากการซื้อขาย เป็นลักษณะการทำกำไรกันเองระหว่างนักลงทุน ที่การซื้อขายจะขึ้นอยู่กับการตกลง
- ดอกเบี้ย ถ้าเป็นพันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรออมทรัพย์จะมีการจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง จนกว่าจะครบกำหนดไถ่ถอน
พันธบัตรลงทุนแล้วต้องเสียภาษีหรือไม่
เป็นธรรมดา ที่เมื่อมีรายได้เกิดขึ้นภาษีก็ต้องตามมา การลงทุนในพันธบัตรก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น โดยผลตอบแทนจากดอกเบี้ยของพันธบัตรต้องถูกนำมาคิดภาษีด้วย ซึ่งจะแบ่งออกเป็น
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
เป็นภาษีที่ผู้จ่ายเงินปันผลหรือผู้ออกพันธบัตรนั้น ต้องหักเอาไว้ 10% ในทุกกรณี ภาษีในส่วนนี้จะนำไปรวมกับภาษีเงินได้หรือไม่ก็ได้ ถ้ารวมแล้วเสียภาษีน้อยกว่า ก็สามารถนำไปขอคืนภาษีได้
ภาษีเงินได้
ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาลงทุนในประเทศ เสียภาษี 15% จากดอกเบี้ยที่ได้รับถ้าเป็นบุคคลธรรมดาลงทุนในต่างประเทศ เสียภาษี 15% จากดอกเบี้ยที่ได้รับถ้าเป็นบริษัท เสียภาษี 1% จากดอกเบี้ยที่ได้รับ
พันธบัตรมีความเสี่ยงทางการลงทุนอะไรบ้าง
ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง โดยความเสี่ยงในการลงทุนในพันธบัตร มี 3ข้อ หลักๆ คือ
ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk)
เนื่องจากการซื้อพันธบัตรมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาการไถ่ถอนที่ค่อนข้างตายตัว ดังนั้นถ้าดอกเบี้ยอื่นๆ ปรับสูงขึ้น พันธบัตรที่ซื้อระยะยาวยังดอกเบี้ยเท่าเดิม ผลตอบแทนที่ได้ย่อมไม่คุ้มค่า่
ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk)
พันธบัตรมีกำหนดเวลาที่แน่นอนในการไถ่ถอนและจ่ายดอกเบี้ย นั่นหมายความว่าต้องถือให้ครบจึงจะได้เงินคืน และแม้จะมีตลาดรองสำหรับการซื้อขายกันเองนอกเคาท์เตอร์ แต่ราคาขายอาจไม่ทำกำไรเท่าถือไว้จนครบสัญญา
ความเสี่ยงด้านสภาวะเงินเฟ้อ (Inflation Risk)
ค่าเงินเปลี่ยนแปลงอยู่แทบจะตลอดเวลา ถ้าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมากๆ ในขณะที่ดอกเบี้ยจากพันธบัตรคงตัวอยู่ที่เดิม การลงทุนครั้งนี้ย่อมไม่คุ้มค่าการลงทุนกับพันธบัตร อยู่ภายใต้กฎเดียวกับการลงทุนอื่นๆ คือเสี่ยงมากได้มาก เสี่ยงน้อยผลตอบแทนก็น้อยตาม การลงทุนในพันธบัตรมีความเสี่ยงน้อย ผลตอบแทนน้อย เหมาะกับคนที่อยากเก็บเงินแบบไม่เสี่ยงมากแต่ได้ดอกเบี้ยที่ชนะเงินฝากประจำ ถ้าสนใจลงทุนในพันธบัตรติดตามข่าวสารการออกหุ้นใหม่ๆ ของพันธบัตรได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงการคลังแต่ถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากกว่านั้น ลองมาลงทุนกับเพียร์ พาวเวอร์ดูได้เลย
_______________________________________________________________________
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว