ตราสารหนี้สีเขียวในประเทศไทย
ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินเพื่อให้ทุนส่งเสริมโครงการที่ช่วยลดคาร์บอน ฟุตปรินต์ เกิดขึ้นจากการประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก (Climate Change) ในช่วงปี 2015 โดยได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศโซนยุโรปและอเมริกาที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยผู้ออกตราสารหนี้ชนิดนี้จะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนก็ได้ ในประเทศไทยเองก็มีการออก Green Bond เช่นกัน โดย Green Bond ที่น่าสนใจและเห็นภาพในการลดก๊าซคาร์บอน อันเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกในประเทศไทย ที่เพียร์ พาวเวอร์ ขอยกตัวอย่างมาในที่นี้คือ Green Bond ที่ออกโดยTMB ซึ่งถือเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทยที่ออก Green Bond และ Green Bond ที่ออกโดย B.Grimm บริษัทผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าทางเลือก ซึ่งเป็นตราสารหนี้สีเขียวแห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองจาก DNV GL ซึ่งเป็นสมาชิกที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ Climate Change Initiative เป็นที่แรกในประเทศไทย
ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) โดย TMB
ธนาคาร TMB เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทยที่ออกตราสารหนี้สีเขียวเพื่อระดมทุนมาปล่อยกู้ให้กับโครงการที่ช่วยลดการผลิตคาร์บอน ฟุตปรินต์ อันเป็นสาเหตุของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทั่วโลก โดยมีเกณฑ์การปล่อยกู้ให้กับโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม 2 รูปแบบคือ โครงการพลังงานหมุนเวียน และโครงการเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขอระดมทุนจากนักลงทุนเพียงเจ้าเดียวคือ International Finance Corporation (IFC) เมื่อเดือนมิถุนายน 2018 ตราสารหนี้สีเขียวดังกล่าวมีมูลค่า 1,850 ล้านบาท และมีกำหนดไถ่ถอนในปี 2025 (ระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอน 7 ปี)ตราสารหนี้สีเขียวที่ออกโดย TMB นี้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสีเขียวในประเทศไทย รวมถึงทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 20% ภายในปี 2573 รวมถึงลดปัญหาการขาดเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งประเทศไทยต้องใช้ต้นทุนด้านการเงินในส่วนนี้ 31,000 ล้านยูโร ตามการประเมินของ Climate Change Finance
ผลการดำเนินการตราสารหนี้สีเขียวของ TMB
จากรายงานประจำปี2018พบว่า Green Bond ของ TMB ได้ปล่อยกู้ให้กับโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าหลายโครงการ เช่น กลุ่มบริษัทผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีกำลังการผลิตพลังงานได้ถึง 90 เมกะวัตต์ ใน 2 ปี และมีจุดเด่นที่แม้จะตั้งอยู่กลางชุมชนแต่กลับไม่สร้างผลกระทบใดๆ ต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ เสียง น้ำ หรือสารพิษให้กับชุมชนใกล้เคียง หรือโรงงานผลิตพลังงานชีวมวล กำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนเล็กน้อย แต่ทาง TMB ได้เข้าไปตรวจตราร่วมกับหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ จนทำให้โครงการดังกล่าวมีผลประกอบการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หรือบริษัทด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ.สงขลา ที่มีกำลังการผลิต 53 เมกะวัตต์ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนเลย รวมทั้งมีผลประกอบการที่ดีขึ้นเรื่อยๆโดยโครงการที่ได้รับการปล่อยกู้ด้วยเงินทุนจากตราสารหนี้สีเขียวของ TMB นอกจากจะเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแล้วยังต้องสอดคล้องกับ Core Value ของ TMB เองด้วย ซึ่งผลงานดังกล่าวทำให้ TMB ได้รับรางวัลผู้บุกเบิกพันธบัตรสีเขียว สาขาผู้นำตราสารหนี้สีเขียวออกสู่ตลาดโลกเป็นครั้งแรก ที่มอบให้ในการประชุมเรื่องพันธบัตรด้านภูมิอากาศประจำปี 2562 โดย TMB มีเป้าหมายเพิ่มการเติบโตในพอร์ต Green Bond จากมูลค่า 9,000 ล้านเป็น 15,000 ล้านในเวลา 5 ปี โดยมีอัตราผลตอบแทนในระดับที่แข่งขันได้ในตลาด
ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) โดย BGrimm
B.Grimm เป็นบริษัทผู้ผลิตพลังงานทางเลือกเจ้าใหญ่ของประเทศไทย ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1993 มีกำลังการผลิตรวม 2,045 เมกะวัตต์ต่อปี จากโรงงานพลังงานทดแทนทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานก๊าซธรรมชาติทั้งหมด 15 แห่ง ในปี 2017 B.Grimm ดำเนินการออก Green Bond เพื่อระดมทุนจำนวน 5,000 ล้านบาท(155 ล้านเหรียญ) จาก Asia Development Bank (ADB) เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือก ที่มีอยู่ นั่นคือการสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ และก๊าซธรรมชาติ โดยมีผู้ตรวจสอบจากภายนอกคือ DNV GL’s ซึ่งเป็นสมาชิกของ Climate Change Initiative ถือเป็นผู้ออกหุ้นกู้สีเขียวรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานดังกล่าว โดย Green Bond มีระยะเวลาการถือ 5 และ 7 ปี
ผลการดำเนินการตราสารหนี้สีเขียวของ BGrimm
B.Grimm ออกตราสารหนี้สีเขียวเพื่อขยายฐานการผลิตพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกซึ่งเป็นธุรกิจหลักขององค์กร โดยต้องการเงินทุนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น ซึ่งสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 7 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 30.8 เมกะวัตต์ สามารถลดการสร้างก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 67.7 เมกะวัตต์ โดย B.Grimm มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าที่ให้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในปี 2021
ตราสารหนี้สีเขียวของทั้ง 2 แห่งให้ประโยชน์อย่างไร
Green Bond ของทั้ง 2 องค์กร เป็นประโยชน์โดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม คือการลดคาร์บอน ฟุตปรินต์ ซึ่งเป็นที่มาของภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ต่างกันตรงที่ B.Grimm ดำเนินการระดมทุนโดยเจ้าของโครงการ เพื่อโครงการที่มีแผนจะผลิตอยู่แล้ว ในขณะที่ TMB นำเงินที่ระดมทุนมาได้ไปกระจายต่อในโครงการอื่นที่ตรงตามเงื่อนไข จึงมีความหลากหลายในรูปแบบการลดก๊าซคาร์บอนมากกว่า
นอกจากนี้ยังมี Green Bond ที่ออกโดย BTSG ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปชำระหนี้และเพิ่มเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดการใช้รถยนต์อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดคาร์บอน ฟุตปรินต์ เป็นต้น Green Bond ไม่เพียงเป็นการร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับบริษัทต่างๆ ที่มีแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมให้ได้รับการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า Green Bond ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น นอกเหนือจากนี้อัตราการเติบโตของตลาด Green Bond ก็ถือว่าน่าสนใจสำหรับนักลงทุน แม้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นการระดมทุนจากนักลงทุนรายใหญ่เพียงรายเดียว แต่ในอนาคตเราอาจได้เห็น Green Bond ที่ระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อยที่มีหัวใจสีเขียวก็เป็นได้ แม้ในปัจจุบันเพียร์ พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม จะยังไม่ได้ให้บริการ Green Bond แต่นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนกับหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงได้แล้ววันนี้
_______________________________________________________________________
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว