การเลือกตั้งไม่เพียงส่งผลต่อการเมืองการปกครองภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคตด้วย โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจที่แต่ละพรรคขนกันออกมา มาดูซิว่า นโยบายของพรรคไหนส่งผลอย่างไรต่อการลงทุนบ้าง
- ประชาธิปัตย์ ชูนโยบาย “ประกันรายได้คนไทย ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” 6 มาตรการโฉนดสีฟ้า กองทุนน้ำชุมชน ประกันรายได้เกษตกร ประกันรายได้แรงงาน เบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 1,000 บาท เบี้ยสวัสดิการผู้ยากไร้ 800 บาทต่อเดือน
- พลังประชารัฐ ชูนโยบาย “สร้างชาติ เพิ่มพลังเศรษฐกิจ 7-7-7” คือ 7 สวัสดิการประชารัฐ 7 สังคมประชารัฐ และ 7 เศรษฐกิจประชารัฐ
- เพื่อไทย ชูนโยบาย “แก้วิกฤติเศรษฐกิจไทย เพื่อรับมือเศรษฐกิจโลก” ออก 10 มาตรการเพื่อปรับโครงสร้าง
- อนาคตใหม่ ชูนโยบาย “ทลายเศรษฐกิจผูกขาด” แยกเป็น 2 ส่วน คือส่วนของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ หยุดการผูกขาดทางการค้า ขยายโอกาสการเข้าถึงทางการเงิน บังคับใช้กฎหมายการค้าให้เกิดขึ้นจริงเเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร
เลือกใครดี ถ้าพรรคนี้พี่อยากลงทุน
หลังห่างหายจากบรรยากาศทางการเมืองที่ประชาชนเลือกได้มาหลายปี วันที่ 24 มีนาคม 2562 นี้เราก็จะมีเลือกตั้งกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้สิทธิ์หน้าใหม่ที่เพิ่งเคยเลือกตั้งครั้งแรก หรือคนที่ผ่านการเลือกตั้งมาหลายสมัย การเลือกตั้งครั้งนี้ย่อมเป็นสิ่งพิเศษที่หลายๆ คนอยากรู้บทสรุป ไม่เพียงกลุ่มผู้เลือกเท่านั้น กลุ่มผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งก็ดูตื่นเต้นไม่แพ้กัน เห็นได้จากนโยบายด้านต่างๆ ที่ต่างขนหมัดเด็ดออกมาแข่งกันให้ประชาชนเลือกสรร เพียร์ พาวเวอร์ จึงขอนำนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรคมาลองวิเคราะห์ดู ว่าแต่ละพรรคมีนโยบายอะไรที่สร้างโอกาสให้การลงทุนบ้าง
พรรคประชาธิปัตย์ “ประกันรายได้คนไทย ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
เป็นพรรคที่ได้ชื่อว่าอยู่คู่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยมานาน (พรรคประชาธิปัตย์ก่อตั้งมาตั้งแต่ 6 เมษายน 2489) และถือเป็นพรรคที่ไม่เคยสิ้นหวังกับการขอสมัครเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ขอเสนอนโยบาย “ประกันรายได้คนไทย ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ด้วย 6 มาตรการเศรษฐกิจ
- โฉนดสีฟ้า ออกโฉนดชุมชนให้สิทธิในการจัดการพื้นที่ทำกินภายในท้องถิ่น ยกระดับที่ดิน ส.ป.ก. ให้กู้ธนาคารและส่งต่อเป็นมรดกได้ จัดทำระบบธนาคารที่ดิน เพิ่มที่ดินทำกินให้คนไทย เร่งออกโฉนดจากเอกสารสิทธิที่ค้างอยู่เพื่อให้เป็นกรรมสิทธิตามกฎหมาย
- จัดตั้งกองทุนน้ำชุมชน สนับสนุนให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี มีเงินจัดการแหล่งน้ำทุกหมู่บ้าน โดยจัดสรรงบประมาณจากผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำเพื่อให้ชาวบ้านจัดการแหล่งน้ำได้ด้วยตนเอง และถ้าประชาชนมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดสรรแหล่งน้ำก็สามารถนำพื้นที่ตนเองเข้าร่วมโครงการได้ และส่งเสริมการใช้ยางพาราเป็นวัสดุในการทำสระว่ายน้ำ
- ประกันรายได้เกษตรกร ครอบคลุมพืชทุกชนิด ประกันรายได้ขั้นต่ำในการทำเกษตร ข้าวไม่ต่ำกว่าเกวียนละ 10,000 บาท ยางพาราไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท ปาล์มกิโลกรัมละ 10 บาท
- ประกันรายได้แรงงาน แรงงานมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 120,000 บาทต่อปี ถ้ารายได้ไม่ถึงรัฐจะจ่ายส่วนต่างให้
- เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท/เดือน พร้อมปรับปรุงโครงการเกี่ยวกับการออม เพื่อการชราภาพ
- เบี้ยสวัสดิการผู้ยากไร้ 800 บาท/เดือน โดนตรงเข้าบัญชีผู้มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/ปี โดยกลุ่มนี้ต้องเข้าระบบรายงานสถานะทางการเงินของตนเองทุกปี
ถ้าดูเผินๆ นโยบายเหล่านี้เหมือนจะจัดมาเพื่อกลุ่มเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยภายในประเทศ แต่ถ้าพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะพบว่ามีความก้ำกึ่งระหว่างการเอื้อประโยชน์ให้ชาวบ้านกับการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนอยู่มาก และเกี่ยวพันกันทั้งระบบข้อแรก การจัดสรรพื้นที่ทำกินให้กิน ทำที่ดิน สปก.ให้กู้ได้และส่งต่อเป็นมรดกได้ พร้อมทั้งเร่งออกโฉนดจากเอกสารสิทธิ์ที่ค้างในระบบ ถ้ามองเจตนาเดิมของที่ดินเอกสารสิทธิ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์แบบโฉนดที่ดิน
วัตถุประสงค์ของมันมีขึ้นเพื่อให้เกิดการทำกินในที่ดินนั้นๆ โดยไม่ให้มีการซื้อขายในแง่การลงทุนต้นทุนที่ดินทำอะไรได้บ้าง ในต่างจังหวัดสำหรับเกษตกรแล้ว ที่ดินทั้งหลายมีโอกาสที่จะกลายเป็นที่ทำกิน ปลูกพืชเกษตรกรรมเป็นไปได้หมดทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นตลาดอุปกรณ์การเกษตร ตลาดเมล็ดพันธุ์ การขนส่ง การค้าสินค้าเกษตร รวมทั้งการแปรรูปย่อมตามมา หรือแม้แต่ต้นทางอย่างด้านการศึกษา สาขาการเรียนเกี่ยวกับการเกษตร ทั้งแบบดั้งเดิมและนวัตกรรม รวมทั้งการบริหารจัดการระบบเกษตรกรรมควรจะมีอนาคตที่ดีแต่ถ้ามองต่อมาว่าที่ดิน สปก. สามารถเอาไปกู้เงินได้ ส่งต่อเป็นมรดกได้ รวมทั้งส่งเสริมการออกเอกสารสิทธิ์ นั่นหมายความว่าที่ดินที่ไม่มีมูลค่าจะกลับมามีมูลค่าขึ้นมา โอกาสในการลงทุนจะไม่หยุดอยู่ที่การทำประโยชน์ในแง่การเกษตร ซึ่งในจุดนี้คนได้ประโยชน์จริงๆ จะยังเป็นชาวบ้านอยู่หรือไม่ต้องดูรายละเอียดและหลักเกณฑ์อีกครั้ง
ส่วนข้อถัดมา การบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน ที่จริงแล้วรัฐบาลมีหน่วยงานเพื่อบริหารจัดการทรัพยาการน้ำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน กรมน้ำบาดาล ฯลฯ การสนับสนุนให้เกิดทั้งผู้เชี่ยวชาญ การจัดการแหล่งน้ำด้วยคนในชุมชนเอง อาจมีคำถามตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญคือใคร ไปจนถึงเงินที่จะใช้ในการจัดการตามนโยบายมาจากไหน รวมทั้งข้อเสนอในการใช้ยางพาราเป็นวัสดุหลักในการทำสระน้ำ นั่นหมายความว่าส่วนนี้เป็นการบริหารงานโดยภาครัฐ เอกชนหรือนักลงทุนจะมีเอี่ยวด้วยได้ในขั้นตอนการจัดหาวัสดุ และการจ้างงานในการก่อสร้าง และการประกันรายได้เกษตรกร ตัวเลขดูดี แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปแล้ว สินค้าเหล่านี้ต้องมีการระบายอย่างเป็นระบบ
มองง่ายๆ ถ้าเราเป็นคนรับซื้อข้าว ยาง ปาล์ม ซื้อมาในราคาแพง ย่อมไม่มีใครอยากขายถูกกว่าราคาซื้อ และถ้าข้าวในประเทศแพงกว่าการนำเข้า สุดท้ายนโยบายนี้อาจไม่เป็นผลดีต่อใครเลย ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากรายละเอียดโดยรวมว่ามีการป้องกันปัญหานี้ไว้หรือไม่ อย่างไรนโยบายสามข้อแรกเป็นการจัดการปัญหาในแง่การกระจายการทำกินและพัฒนาชุมชน ส่วน 3 ข้อหลังคือนโยบายการแจกเงินให้กับคน 3 กลุ่ม ที่นักลงทุนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง (แต่อาจจะมีภาษีบางรายการเพิ่มขึ้นก็เป็นได้ เพราะไม่มีความแน่ชัดว่าเอาเงินที่ใช้ในส่วนนี้มาจากที่ไหน)จึงอาจกล่าวได้ว่านโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เอื้อการลงทุนในภาคเกษตรกรรม กองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าเกษตร หุ้นกู้บริษัทเกษตกรรมและโภคภัณฑ์จะไปกันได้กับนโยบายนี้ รวมทั้งอนุพันธ์ในแง่การซื้อตราสารสิทธิ์เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถปกป้องความเสี่ยงของตนเองได้ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี
พลังประชารัฐ “นโยบายสร้างชาติ เพิ่มพลังเศรษฐกิจ 7-7-7”
ผลงานของพรรคพลังปประชารัฐยังคงมีความสดใหม่แบบที่คนไทยยังไม่ลืมแน่นอน เพราะเป็นพรรคของรัฐบาลปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งรอบนี้พรรคพลังประชารัฐขอส่งนโยบายเศรษฐกิจที่ตอบสนอง 3 พันธกิจเข้าแข่งขัน ดังนี้
สวัสดิการประชารัฐ
- บัตรประชารัฐ ซึ่งต่อยอดมาจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก
- สวัสดิการรายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มมีความต้องการหรือความจำเป็นพื้นฐานที่แตกต่างกัน ได้แก่ กลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มผู้พิการ กลุ่มสตรี กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มอาชีพรับจ้าง
- สวัสดิการคนเมือง เพราะคนเมืองผู้มีรายได้น้อยต้องเผชิญกับการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น
- หมดหนี้มีเงินออม พรรคพลังประชารัฐจะช่วยทุเลาภาระหนี้ให้กับ 6 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ ผู้ใช้แรงงาน ชาวนา ข้าราชการ SMEs ครู และนักศึกษา
- โครงการบ้านล้านหลัง พรรคพลังประชารัฐมีนโยบายให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงมีโครงการบ้านล้านหลังประชารัฐ สานต่อสิ่งทีรัฐบาลปัจจุบันได้ดำเนินการไว้
- บ้านสุขใจวัยเกษียณ เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จึงต้องทำให้คนสูงวัยมีความสุข ด้วยโครงการบ้านสุขใจวัยเกษียณ
- สิทธิที่ดินทำกิน เมื่อมีบ้านแล้วก็ต้องมีที่ดินทำกิน โดยเฉพาะเกษตรกร เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
สังคมประชารัฐ
- การศึกษา 4.0 พรรคพลังประชารัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน เพื่อเตรียมความพร้อมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ต้องทำให้ทุกคนมีโอกาส มีอนาคต ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงคนทำงาน
- กระจายศูนย์กลางความเจริญสู่ภูมิภาค เนื่องจากความเหลื่อมล้ำส่วนหนึ่งมาจากการกระจุกตัวของความเจริญอยู่ที่กรุงเทพฯ พรรคพลังประชารัฐจึงมีนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน เช่น EEC จะต้องมีการต่อยอด รวมทั้งภูมิภาคอื่น ๆ เช่น อีสาน 4.0, ล้านนา 4.0 และด้ามขวาน 4.0 โดยให้แต่ละภูมิภาคเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ CLMV และเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในอนาคต
- สร้างเมืองน่าอยู่ ใกล้บ้าน มีงานทำ ปัจจุบัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดจากการกระจุกตัวของเมืองเพียงไม่กี่เมือง จึงจำเป็นจะต้องสร้างเมืองให้น่าอยู่และทำให้เมืองเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพ ด้วยแนวคิด "15 เมืองหลัก 15 เมืองรอง" ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนครั้งใหญ่ โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างที่อยู่อาศัย พัฒนาย่านธุรกิจ ย่านนวัตกรรม เพื่อจะได้ไม่ต้องมาพึ่งพิงเมืองใหญ่ ๆ อย่างกรุงเทพฯ อีกต่อไป
- ชุมชนประชารัฐ ร่วมพัฒนาบ้านเกิด "ชุมชนเข้มแข็ง" เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้ทุกคนอยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิด โดยจะมี "กองทุนพัฒนาชุมชนประชารัฐ" จะมีแหล่งน้ำชุมชน โครงการป่าไม้มีค่า และสร้างวิสาหกิจชุมชน
- เมืองอัจฉริยะสีเขียว เพื่อความสุขของทุกคน เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ คนจะต้องอยู่กับสิ่งแวดล้อม เราจะปรับเป็นเมืองอัจฉริยะสีเขียวเพื่อความสุขของทุกคน โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคน เพื่อให้คนอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างมีความสุข
- สังคมประชารัฐสีขาว สังคมจะสงบสุข เข้มแข็ง แบ่งปันได้ ต้องเป็นสังคมประชารัฐสีขาว ที่ "ปลอดภัย ปลอดโรค ปลอดยา"
- Bangkok 5.0 ผุด 9 ย่านนวัตกรรม พัฒนาย่านการค้า คืนคลองสวยน้ำใสให้คนกรุง สร้างเครือข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ ผ่านเทคโนโลยี 5G
เศรษฐกิจประชารัฐ
- ยกระดับความสามารถผู้ผลิต 5 ล้าน Smart SMEs 1 ล้าน, Smart Farmers 1 ล้าน, Startups 1 ล้าน, Makers และ 1 ล้านค้าปลีกชุมชน
- ก้าวสู่เกษตรประชารัฐ 4.0 ปรับโครงสร้างภาคเกษตร ด้วยนโยบาย "3 เพิ่ม 3 ลด" นั่นคือ "เพิ่มรายได้ เพิ่มนวัตกรรม เพิ่มทางเลือก" และ "ลดภาระหนี้ ลดความเสี่ยง ลดต้นทุน"
- กระจายรายได้ กระจายโอกาส ด้วยการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ สร้างเส้นทางเชื่อมโยงชุมชนสู่ชุมชน
- ชูเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจแบ่งปัน เพราะจุดแข็งของประเทศไทย ประการหนึ่ง คือ ความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรมของความเกื้อกูลแบ่งปัน
- สร้างเศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน นวัตกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นเศรษฐกิจสำคัญที่ประเทศไทยมีโอกาสแข่งขันในเวทีโลก และตอบโจทย์ "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ครอบคลุมถึงการเกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ พลังงานและการท่องเที่ยว
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต การที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในครั้งนี้ จำเป็นจะต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ เน้นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล โดยเฉพาะ 5G
- ลดอุปสรรค เพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจ เน้นการปฎิรูประบบราชการ ทำให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ถ้าถามว่านโยบายพรรคไหนครอบคลุมทุกปัญหาที่สุด ก็คงต้องเป็นพรรคนี้ เพียงแต่เป็นไปในลักษณะฮีโร่โชว์เดี่ยว คือทุกอย่างรัฐบาลจะแก้ให้ทั้งหมด จะแจก จะให้ จะจัดการ แต่อย่างไรนั้นยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน อีกทั้งเป็นงานที่สเกลใหญ่มากต้องใช้หลายภาคส่วนในการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น ด้วยรายละเอียดของนโยบาย อุตสาหกรรมทุกภาคส่วนน่าจะเติบโตขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้าง(นโยบายบ้านล้านหลัง) ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม(กระจายรายได้ กระจายโอกาส) ภาคผลิต(เศรษฐกิจประชารัฐทั้งหมด) แต่กลับไม่มีรายละเอียดการมีส่วนร่วมของเอกชนเลย ทำให้ในแง่การลงทุนแล้ว นโยบาย 7x3 = 21 ข้อที่กล่าวมา ไม่ชัดเจนว่าเอื้อให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ จากทางเอกชนหรือไม่ หรือสนับสนุนให้เกิดการสร้างรูปแบบการลงทุนหรือผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่หรือมีด้านใดด้านหนึ่งโดดเด่นจากในปัจจุบัน แม้จะมีการนำนวัตกรรมมาเป็นจุดขาย แต่ก็เป็นจุดขายที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาล ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่าลึกลงไปในรายละเอียดว่ามีความเป็นไปได้และการดำเนินการไปในรูปแบบใด
เพื่อไทย “10 มาตรการแก้วิกฤตเศรษฐกิจไทย”
- ปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมรับมือวิกฤติ ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับประชาชนคนเล็กคนน้อย และธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็ก เพื่อให้คนไทยลุกขึ้นยืนได้ ตั้งตัวได้ พร้อมรับมือวิกฤติ
- เติมเงินทุน ด้วยธนาคารพัฒนารายได้ ขยายการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนด้วยธนาคารพัฒนารายได้ทุกจังหวัด วันนี้ คนรวยกู้เงินพันล้านไม่ยาก แต่คนจนจะกู้หนึ่งแสนกลับไม่มีที่ไป พรรคเพื่อไทยจะทำให้ประชาชน และธุรกิจของคนตัวเล็กไม่ว่าจะเป็น SME โอท็อป หรือร้านแผงลอย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเข้าถึงโอกาสในการทำมาหากินได้อีกครั้ง
- เพิ่มที่ขาย นำสินค้าไทยบุกตลาดโลก สินค้าไทยต้องมีที่ขาย คนไทยต้องมีที่ขาย เราจะนำสินค้าไทยไปบุกตลาดโลก ให้ทั้งโลกเป็นตลาดของสินค้าไทยให้สำเร็จ สร้างลูกค้าใหม่ ด้วยมืออาชีพด้านเศรษฐกิจและด้านการต่างประเทศ
- กิโยตินกฎหมาย ขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการทำมาหากินของประชาชน ขจัดอุปสรรคที่ขวางกั้นโอกาสในการทำมาหากินของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย กฎระเบียบ กระบวนการขอใบอนุญาตต่างๆ ที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน และล้าหลัง พรรคเพื่อไทยจะนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนราชการ เพิ่มความโปร่งใส ให้ประชาชนเป็นเจ้าของธุรกิจได้โดยง่าย ลดต้นทุนแฝง ค้าขายคล่องตัว
- ลดภาษีอย่างชาญฉลาด เพิ่มรายได้รัฐบาลโดยไม่ขูดรีดประชาชน วันนี้ รัฐบาลต้องหารายได้เป็น ไม่ใช่ขึ้นภาษีอย่างเดียว เราจะลดภาษีอย่างชาญฉลาดโดยไม่ทำให้รายได้ของประเทศหายไป เราจะขยายฐานภาษีโดยไม่เบียดเบียนคนตัวเล็กที่กำลังยากลำบาก เพื่อทำให้คนตัวเล็กแข็งแรงให้ได้
- กองทุนปรับเปลี่ยนหน้าดิน ปรับโครงสร้างรายได้เกษตรกร พักชำระหนี้เพื่อให้เกษตรกรตั้งตัวได้ ประเทศไทยจะต้องเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารปลอดภัยป้อนคนทั้งโลก ต่อไปเกษตรกรไทยจะขายสินค้าอาหารปลอดภัยราคาสูง ด้วยเงินทุนจากกองทุนปรับเปลี่ยนหน้าดิน พอกันที กับชีวิตเกษตรกรที่ไม่เคยกำหนดราคาสินค้าได้เอง
- เพิ่มนักท่องเที่ยวให้ถึง 50 ล้านคนต่อปี ฟื้นฟูความเชื่อมั่น เพิ่มความปลอดภัย ดึงนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ สร้างประสบการณ์ใหม่ ยกระดับฟู้ดสตรีทเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ยกเลิกวีซ่าระหว่างไทย-จีน เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติให้ถึง 3 ล้านล้านบาทต่อปี แล้วกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ทุกจังหวัด
- ศูนย์สร้างเถ้าแก่ใหม่ กองทุนคนเปลี่ยนงาน ศูนย์สร้างเถ้าแก่ใหม่ ให้คนรุ่นใหม่ และพนักงานบริษัท สามารถมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ลดงบกลาโหม 10% ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เพื่อนำเงิน 2 หมื่นล้านบาท และเด็กรุ่นใหม่ของชาติมาสร้างธุรกิจ พร้อมตั้งกองทุนคนเปลี่ยนงาน พัฒนาทักษะใหม่ สร้างงาน สร้างธุรกิจให้พนักงานบริษัทที่ถูกเลิกจ้างจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
- สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับธุรกิจของคนไทย จากปัจจุบันที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC พรรคเพื่อไทยต้องการให้ธุรกิจของคนไทย ธุรกิจของคนตัวเล็กทั่วประเทศได้มีโอกาสได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีเช่นเดียวกันด้วยบัตรทอง Startup
- สามสิบบาทยุคใหม่ สร้างสุขภาพดีถ้วนหน้า ยาดี รักษาดี ไม่ต้องรอคิว คนไทยต้องแข็งแรงก่อนแก่ ต้องได้ตรวจสุขภาพก่อนป่วย ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับคนไทยทุกคน
ด้วยนโยบายทั้ง 10 ข้อที่นำเสนอมา เป็นนโยบายที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากกว่าการลงทุน คือเอื้อสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างธุรกิจ พัฒนาธุรกิจ และขยายธุรกิจ แต่ไม่ได้เอื้อให้เกิดการลงทุนในตลาดต่างๆ เช่นตราสารหนี้ พันธบัตร หุ้นกู้ หรือหุ้นอื่น สำหรับนักลงทุนนโยบายนี้ต้องมีการต่อยอด เช่นเมื่อมีผู้ประกอบการจำนวนมาก สตาร์ทอัพที่มั่นคง การค้าที่เสถียรสร้างรายได้ที่แน่นอนและมีคุณภาพแล้ว บริษัทเหล่านั้นจึงเข้าสู่ระบบและสร้างให้เกิดการลงทุนต่อ และหมัดเด็ดที่เพื่อไทยเพิ่งปล่อยออกมาคือ “หวยบำเหน็จ หรือ สลากการออมแห่งชาติ” ซึ่งจะไม่พูดถึงคงไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อทั้งรัฐและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติสำหรับสังคมไทย โดยดึงเงินนอกระบบมาเข้ารัฐ และสนับสนุนให้เกิดการออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ จากสถิติแล้ว คนไทยจะหมดเงินไปกับหวยราวๆ ปีละ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อเปล่า คือไม่ถูกรางวัล นโยบายนี้จะดึงเงินในส่วนนี้กลับมาในระบบด้วยการซื้อขายผ่านธนาคารที่สามารถระบุตัวตนผู้ซื้อ จำนวนหน่วยการซื้อ สะสมเป็นเงินเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งดำเนินการในลักษณะเดียวกับกองทุนรวม คือกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ทั้งเงินฝาก ตราสารหนี้รัฐบาลแบบมีประกัน (Secured Bond) ตราสารหนี้เอกชน (Corporate Bond) ตราสารสิทธิที่ธนาคารเป็นผู้ออก (อนุพันธ์กลุ่มค่าเงิน) หุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และหุ้น ซึ่งในปี 2560 ให้ผลตอบแทนตามรายงานประจำปีประมาณ 4%โครงการดังกล่าวให้ผลตอบแทนได้ 3 ทางคือ
- ผลตอบแทนจากการถูกรางวัล
- ผลตอบแทนเมื่ออายุครบ 60 ปี สามารถนำบัตรประชาชนมาถอนเงินที่เคยซื้อสลากไว้ x ผลตอบแทนจากปันผลกองทุน
- ผลตอบแทนสำหรับผู้ที่อายุเกิน 60 ปี ได้เป็นเงินฌาปณกิจและตกทอดเป็นมรดกได้ x ผลตอบแทนจากปันผลกองทุน
ถ้ามองโครงการนี้ในฐานะกองทุนรวม จะถือเป็นกองทุนรวมที่มีหน่วยลงทุนต่ำ (หน่วยละ 50 บาท) ผลตอบแทนพอประมาณ และความปลอดภัยสูง สำหรับนักลงทุนที่เน้นความปลอดภัยก็เป็นโครงการที่น่าสนใจไม่น้อยอย่างไรก็ดี พรรคนี้มุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก สร้างการทำงาน ควบคู่กับสวัสดิการด้านสุขภาพ ไม่เน้นแจกจ่ายเงินสู่ชุมชนแต่เน้นการสร้างรายได้จากธุรกิจร่วมกัน และมีการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ดังนั้นหากมองในแง่การลงทุน นโยบายเหล่านี้จะสร้างโอกาสที่ดีได้ในอนาคต
อนาคตใหม่ “ทลายเศรษฐกิจผูกขาด”
นโยบายที่เกี่ยวข้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของโครงสร้างเศรษฐกิจ และส่วนของสวัสดิการ
การพัฒนาเศรษฐกิจ
- การผูกขาดสัปทานของรัฐต่างๆ ถ้าพรรคได้เข้าไปมีอำนาจจะจัดการประมูลให้โปร่งใส เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ได้เข้ามา เช่น ดิวตี้ฟรีในสนามบิน พรรคจะแบ่งพื้นที่โดยให้บริษัทเล็กเข้ามามีส่วนร่วม
- กลุ่มทุนผูกขาดความมั่งคั่งจากกฎหมายบางฉบับที่เอื้อกีดกันการแข่งขันทางการค้า เช่น การผลิตเหล้าและเบียร์ ที่กำหนดให้ผลิต 10 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งกฎหมายเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ทันที
- การเข้าถึงแหล่งทุนต้องถูกปลดปล่อย คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงแหล่งทุน เช่น ธนาคารของไทยที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพทั้งหมด พรรคจะเสนอให้เปิดใบประกอบกิจกรรมธนาคารในต่างจังหวัด ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายการกระจายอำนาจท้องถิ่นจะทำให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณภาพ นักธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
- การบังคับใช้กฎหมายการค้าอย่างจริงจัง ป้องกันการฮั้วราคา กีดกันผู้แข่งรายใหม่
การส่งเสริมรัฐสวัสดิการ
- เพิ่มสิทธิ์ลาคลอดพ่อแม่ 180 วัน
- ดูแลบุตร 1,200 บาท
- เรียนฟรี มีคุณภาพ
- ขยายสิทธิประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ
- เบี้ยคนชรา 1,800 บาท
- เพิ่มงบบัตรทอง 4,000 ต่อหัว
- โอบรับความหลากหลาย แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรส เพื่อยืนยันศักดิ์ศรีคน ผู้มีเชื้อ HIV ที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากนายจ้าง คนพิการเข้าถึงบริการสาธารณะอย่างเท่าเทียม
วิธีดำเนินการเพื่อจัดสรรงบประมาณ
เสนอการปฏิรูปภาษี เพื่อนำมาจัดสวัสดิการดังกล่าว โดยรายจ่ายส่วนเพิ่มจะนำมาจากการจัดสรรงบประมาณใหม่เป็นหลัก เช่น ลดงบกลาโหมและรายจ่ายประจำของราชการ รวมถึงการจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดกอย่างจริงจัง ลดสิทธิประโยชน์บีโอไอ จัดการเศรษฐกิจนอกระบบเสียใหม่ และนำหวยใต้ดินมาไว้บนดินและที่เพิ่งเปิดตัวคือนโยบาย “คนไทยเท่าเทียมกัน เศรษฐกิจไทยเท่าทันโลก” เกิดจากแนวคิดว่าเดิมประเทศไทยดำเนินนโยบายโดยเป็นฐานการลงทุน ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปแบบไร้เทคโนโลยี ทำให้การพัฒนาของไทยเป็นไปแบบไม่ยั่งยืน การจะพัฒนาประเทศให้เร็วที่สุดอาจไม่ใช่การก้าวไปทีละก้าวอีกต่อไป แต่เป็นการเลือกทางใหม่เทคโนโลยีเอื้อให้ทำได้ และเห็นผลเชิงพัฒนาได้รวดเร็วกว่า ดังนั้นจึงเสนอระบบ Hyperloop ระบบขนส่งผ่านท่อความเร็วสูงที่ใหม่กว่ารถไฟความเร็วสูง มีความสามารถในการเดินทางได้ด้วยความเร็ว 1,100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้งบประมาณราวๆ 900,000 ล้านบาท(น้อยกว่ารถไฟฟ้าความเร็วสูง) ซึ่งจะสร้างเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ การจ้างงานในภาคผลิต และโอกาสใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต
จึงกล่าวได้ว่านโยบายของพรรคอนาคตใหม่เป็นนโยบายที่เน้นแก้ไขระบบเก่าเพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้า ซึ่งประโยชน์จะเกิดขึ้นกับคนทำธุรกิจมากกว่านักลงทุนในระยะแรก เพราะเน้นสร้างการแข่งขันให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ และทำให้มีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาในตลาดที่เดิมถูกผูกขาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลายธุรกิจเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล เช่นเหล้า เบียร์ ยาสูบ ซึ่งถ้ามีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาโอกาสที่จะเกิดการลงทุนกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ก็จะเพิ่มขึ้น และมีนโยบายเกี่ยวกับการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินร่วมด้วย และถือเป็นพรรคเดียวที่มีความชัดเจนว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ พร้อมทั้งมีที่มาที่ไปของเงินที่จะมาใช้จัดสรรรัฐสวัสดิการอย่างค่อนข้างชัดเจน สำหรับนักลงทุนแล้ว นโยบายของพรรคนี้ต่อการลงทุนก็เป็นไปตามชื่อพรรคคือ “อนาคต” ที่ต้องดูกันไปยาวๆ และมีความเป็นไปได้ที่เป็นการเปิดทางให้เกิดผู้แข่งขันในตลาดเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการแข่งขันเพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดที่มากขึ้น เจ้าเก่าในตลาดอาจจะได้ถูกแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปและทำให้มีรายได้ที่ลดลง แต่ละพรรคก็มีข้อดีข้อด้อยในนโยบายที่ต่างกันไป สิ่งหนึ่งที่ทุกพรรคมีเหมือนกันคือ การสร้างให้เกิดผู้ประกอบการและสร้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชนสามารถยืนหยัดด้วยตนเองได้ ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการ SMEs แล้ว ทุกพรรคมีการสนับสนุนในส่วนนี้เหมือนๆ กัน แตกต่างในเงื่อนไขและรายละเอียดเล็กน้อย แต่สำหรับนักลงทุนแล้ว อาจเป็นเวลาที่ต้องรอคอยให้เศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาก่อน จึงจะมองเห็นโอกาสในการลงทุนได้ชัดเจนขึ้น การตัดสินใจเลือกรัฐบาลเหมือนการตัดสินใจเลือกความเป็นไปของประเทศ นโยบายที่เราเห็นนอกจากข้อดีข้อด้อยที่ต้องคำนึงถึงแล้ว ยังต้องมองสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันเพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการปฏิบัติจริงของนโยบายเหล่านั้นในอนาคตด้วย
_______________________________________________________________________
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว