กองทุนรวม (Mutual Fund) เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการลงทุนที่ได้รับความนิยม เพราะเป็นการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในหุ้นรายตัว
- กองทุนรวม คือ การที่ผู้จัดการกองทุนซึ่งเป็นนิติบุคคลระดมเงินทุนจากคนจำนวนมากเพื่อลงทุนตามนโยบายต่างๆ ของกองทุนนั้น แล้วนำผลกำไรที่ได้มาเฉลี่ยคืนให้ผู้ซื้อหน่วยลงทุน
- ข้อดีของกองทุนรวมคือเป็นการลงทุนที่มีผู้เชี่ยวชาญบริหารจัดการให้
- ข้อเสียของกองทุนรวมคือเป็นบริการที่มีค่าธรรมเนียม ทำให้ได้ผลตอบแทนน้อยลง
- ผลตอบแทนของกองทุนรวมแบ่งออกเป็น 2 แบบ เหมือนกับการลงทุนในหุ้นคือผลตอบแทนจากการปันผล (Dividend) และผลตอบแทนจากการซื้อขาย (Capital Gain)
- กองทุนรวมในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ตามระดับความเสี่ยง
- การลงทุนในกองทุนรวม ควรพิจารณาจาก 3 ข้อ คือ เงินทุน ความเสี่ยง จุดประสงค์ในการลงทุน
กองทุนรวมคืออะไร กองทุนแบบไหนใช่สำหรับคุณ
มือใหม่หัดลงทุนจำนวนหนึ่ง จะมุ่งเป้าไปที่การลงทุนกับหุ้นเพราะมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงและรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูงมาก และค่อนข้างต้องการเวลาในการติดตามสถานการณ์และศึกษาตลาด เพื่อให้ลงทุนได้ถูกต้อง ในขณะที่นักลงทุนอีกส่วนหนึ่งที่เป็นมือสมัครเล่น เช่นหนุ่มสาวออฟฟิศซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน และไม่พร้อมจะรับความเสี่ยงมากขนาดนั้น จะมองการลงทุนกับกองทุนรวม (Mutual Fund) แทน
กองทุนรวม (Mutual Fund) คืออะไร
กองทุนรวม คือกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนจากคนจำนวนมาก โดยมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อจัดตั้งผู้จัดการกองทุน แล้วนำเงินที่ได้มาจากการระดมทุนนั้นมาลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามนโยบายของกองทุน เพื่อให้เงินงอกเงยขึ้นและนำผลกำไรที่ได้มาเฉลี่ยคืนให้กับนักลงทุนตามหน่วยลงทุนที่ถือไว้ กองทุนมีผลดำเนินงานอย่างไรสามารถดูได้จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน Net Asset Value (NAV) คำนวณจาก
กองทุนรวมมีทั้งแบบระยะสั้นคือมีอายุในการถือครองหน่วยลงทุนไม่ถึงปี ไปจนถึงกองทุนระยะยาวที่ถือกันได้เป็น 10 ปี ผลตอบแทนจากกองทุนรวมจะมาจาก 2 ทางเช่นเดียวกับหุ้น คือมาจาก การปันผลกองทุน (Dividend) และการขายหน่วยลงทุน (Capital Gain) ซึ่งผลตอบแทนของกองทุนรวมขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของกองทุนนั้นๆ กองทุนรวมสามารถแบ่งตามลักษณะการซื้อขายได้เป็น 2 แบบ คือ
กองทุนรวมแบบปิด
กองทุนที่เปิดขายเพียงครั้งเดียว ซึ่งผู้ซื้อหน่วยลงทุนกับกองทุนประเภทนี้ต้องถือไว้จนครบสัญญา จึงเป็นกองทุนที่มีสภาพคล่องน้อย หากมีการซื้อขายเกิดขึ้นก่อนหมดสัญญามีโอกาสที่จะไม่ได้กำไรเท่าที่ควร คนที่คิดจะลงทุนกับกองทุนประเภทนี้ จึงต้องมีเงินเย็นที่เย็นพอจะเก็บไว้เฉยๆ ในระยะยาว
กองทุนรวมแบบเปิด
กองทุนที่เปิดขายหน่วยลงทุนเรื่อยๆ สามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการของ บลจ. ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย จึงเป็นกองทุนที่มีสภาพคล่องสูง ผู้ซื้อจะซื้อหรือขายหน่วยลงทุนเท่าไหร่ก็ได้ โดยราคาขายจะขึ้นอยู่กับ NAV กองทุนรวมประเภทนี้ที่มีระดับความเสี่ยงต่ำจึงเป็นอีกตัวเลือกที่ดีสำหรับคนที่ต้องการลงทุนระยะยาวแล้วได้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากประจำ
กองทุนรวมมีข้อดีอะไรบ้าง
มีให้เลือกหลากหลายตามระยะเวลาในการลงทุน ประเภทความเสี่ยง ประเภทธุรกิจ เป็นการบริหารการลงทุน กระจายความเสี่ยงให้โดยผู้เชี่ยวชาญ โอกาสผิดพลาดจึงน้อยกว่าลงทุนด้วยตัวเอง
กองทุนรวมมีข้อเสียอะไรบ้าง
มีค่าดำเนินการหรือค่าธรรมเนียม ซึ่งจะทำให้ได้ผลตอบแทนน้อยลง และไม่มีกองทุนรวมไหนที่ให้ผลตอบแทนดีตลอดไป ต้องหมั่นตรวจสอบว่ากองทุนที่เราถืออยู่ยังเป็นกองทุนที่ดีอยู่หรือไม่
กองทุนรวมที่ขายในประเทศไทยมี 8 ประเภท แบ่งตามระดับความเสี่ยง
ความเสี่ยงระดับที่ 1 กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ คือกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น อายุไม่เกิน 1 ปี ของสถาบันต่างๆ มีความเสี่ยงต่ำมาก เพราะมักจะออกมาโดยองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ เช่นธนาคาร
ความเสี่ยงระดับที่ 2 กองทุนรวมตลาดเงินต่างประเทศ คือกองทุนของคนไทยที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศได้ ซึ่งจะมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเข้ามา แต่กองทุนมักมีการคำนวณเพื่อลดความเสี่ยงในส่วนนี้ไว้แล้ว
ความเสี่ยงระดับที่ 3 กองทุนรวมพันธบัตร คือกองทุนที่มีนโยบายในการลงทุนกับพันธบัตรรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจมักมีอายุการถือครองนานกว่า 1 ปี จึงมีความเสี่ยงจากอัตรเงินเฟ้อเพิ่มเข้ามา
ความเสี่ยงระดับที่ 4 กองทุนรวมตราสารหนี้ คือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้เอกชน มีความเสี่ยงกับความขึ้นลงของกิจการที่กองทุนไปลงทุนอยู่
ความเสี่ยงระดับที่ 5 กองทุนรวมผสม คือกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ ร่วมกับตราสารทุน (หุ้น) ความเสี่ยงจะพิจารณาจากนโยบายการลงทุน
ความเสี่ยงระดับที่ 6 กองทุนรวมตราสารทุน คือกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น เนื่องจากหุ้นมีความผันผวนค่อนข้างมากจึงทำให้การลงทุนในตราสารทุนมีความเสี่ยงมากตามไปด้วย กองทุนประเภทนี้รวมไปถึงกองทุน LTF / RMF / ด้วย
ความเสี่ยงระดับที่ 7กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ คือกองทุนรวมที่มีนโยบายในการลงทุนในธุรกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่นธุรกิจพลังงาน ธุรกิจโทรคมนาคม ความเสี่ยงของกองทุนประเภทนี้คือธุรกิจในกลุ่มเดียวกันจะมีทิศทางในการเติบโตขึ้นลงคล้ายกัน ซึ่งหมายความว่าโอกาสจะกำไรทั้งหมดมีมากเท่ากับขาดทุนทั้งหมด
ความเสี่ยงระดับที่ 8 กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก คือกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในทรัพย์สินอื่นๆ ที่ไม่ใช่สินทรัพย์พื้นฐานที่ไม่ใช่หุ้นหรือกองทุนและมีโครงสร้างการลงทุนที่ซับซ้อน เช่นทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์
ความเสี่ยงแปรผันกับผลตอบแทนเสมอ ความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนก็น้อย แต่ถ้าความเสี่ยงสูงผลตอบแทนก็มีโอกาสสูงตามไปด้วย สำหรับคนทั่วไป การลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงระดับ 1 - 2 ถือเป็นการลงทุนระยะสั้นที่ปลอดภัยและผลตอบแทนค่อนข้างดี แต่ถ้าต้องการเงินทุนในระยะยาวกว่านั้น โดยได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เช่นประมาณ 5 ปีขึ้นไป ก็อาจมองการลงทุนในระดับความเสี่ยงที่มากขึ้นได้ แต่ถ้ายังไม่เชี่ยวชาญมาก ไม่ควรลงทุนที่เกินกว่ากองทุนรวมที่ระดับความเสี่ยงที่มากกว่า 5 - 6 เพราะกองทุนรวมในระดับความเสี่ยงที่สูงกว่านั้นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์ที่มากขึ้นตามไปด้วย
กองทุนรวมมีมากมาย จะเลือกจากอะไรดี
การเลือกกองทุนรวมไม่ได้มีวิธีที่ตายตัว และดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าไม่มีกองทุนไหนที่ให้ผลตอบแทนดีไปตลอดกาล ดังนั้นการเลือกลงทุนในกองทุนรวมอาจจะเลือกได้จากปัจจัยภายในของผู้ลงทุนเอง และปัจจัยจากกองทุน
เลือกลงทุนกองทุนรวมด้วยปัจจัยภายในของผู้ลงทุน
อาจเลือกลงทุนในประเภทกองทุนที่สอดคล้องกับ 3 ข้อนี้ก็ได้
- เงินเย็นที่ใช้ลงทุน ที่จริงแล้วกองทุนรวมลงทุนด้วยต้นทุนที่ไม่มาก เงิน 100 บาทก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมได้แล้ว ต่ถ้าจะให้ไม่ลำบาก ผู้ลงทุนควรมีเงินสำหรับลงทุนไม่น้อยกว่า 3 - 6 เท่าของรายได้ต่อเดือน และสำหรับพนักงานออฟฟิศ ถ้ามีเงินสำหรับเก็บเดือนละประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป แล้วนำมาลงทุนในกองทุนรวมที่ความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง ก็เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะกองทุนรวมมีผลตอบแทนที่ดีกว่าดอกเบี้ยฝากประจำ
- ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และระยะเวลาที่ต้องการจะได้ผลตอบแทน จะเห็นได้ว่า การลงทุนในกองทุนรวมแต่ละประเภทมีเงื่อนไข ระยะเวลาในการได้รับผลตอบแทนที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้ากำหนดในส่วนนี้ได้ เราก็จะสามารถตัดตัวเลือกออกไปได้ง่ายขึ้น นักลงทุนจึงต้องรู้ความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ก่อนที่จะตัดสินใจกับการลงทุนทุกประเภท
- จุดประสงค์ในการลงทุนในกองทุนรวม นอกจากกองทุนรวมที่ถูกจัดประเภทตามความเสี่ยงแล้ว ยังมีกองทุนรวมพิเศษที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์บางอย่างเช่น เพื่อการลดหย่อนภาษี (LTF/RMF) กองทุน ETF ที่มีความเสี่ยงสูงมาก แต่ให้ผลตอบแทนสูงมากเช่นกัน หรือถ้าอยากลงทุนในต่างประเทศแต่ความรู้ยังไม่แน่นพอ กองทุนประเภทนี้ก็มีให้เลือก
เลือกลงทุนกองทุนรวมด้วยปัจจัยจากกองทุน
คือการเลือกลงทุนโดยมองโอกาสในผลตอบแทนจากกองทุนเป็นหลัก ซึ่งอาจมองจากผลการดำเนินการของกองทุน ดูเบื้องต้นได้จากตัวเลข 3 ค่าในหนังสือชี้ชวนการลงทุน คือ
- ค่า NAV ถ้าสูงหมายความว่ามีผลการดำเนินงานที่ดี
- ค่าสถิติที่ผ่านมา มีการเติบโตเป็นอย่างไร กำไร เป็นอย่างไร และขาดทุนเป็นอย่างไร
- ราคาซื้อ - ราคาขายคืน เอาราคาเมื่อซื้อ - ราคาที่ขาย ถ้าเพิ่มคือกองทุนนี้กำไร แต่ถ้าลบ หมายความว่ากองทุนนี้ขาดทุน
แม้ตัวเลขดังกล่าวจะบอกได้ว่าผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุนนี้เป็นอย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตกองทุนนั้นจะทำกำไรได้เสมอไป การพิจารณาเลือกกองทุนรวมมีปัจจัยเพื่อพิจารณาได้อีกหลายอย่าง ซึ่งเพียร์ พาวเวอร์จะแชร์วิธีการเลือกกองทุนรวม รวมถึงวิธีอ่านค่าตัวเลขต่าง ๆ แบบละเอียดในครั้งต่อไป กองทุนรวมให้ผลตอบแทนสูงสุดได้ราวๆ 11% ต่อปี ขณะที่การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงกับเพียร์ พาวเวอร์ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ 6-22% ต่อปี ถ้ามองหาการลงทุนรูปแบบใหม่ ๆ ที่ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับกองทุนรวม มาลงทะเบียนกับเพียร์ พาวเวอร์ก็ได้ เริ่มต้นเพียง 50,000 บาทเท่านั้น
_______________________________________________________________________
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว