Financial Inclusion เป็นการพยายามแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการเงินโดยภาครัฐและธนาคาร ที่จับมือกับเอกชนเพื่อเข้าถึงผู้คนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน
- Financial Inclusion คือความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้
- Financial Inclusion แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ 1) ธนาคารให้การสนับสนุน Fintech เพื่อทำธุรกรรมได้แทนธนาคาร 2) Fintech ที่ช่วยเหลือกลุ่มคนที่ไม่มีเครดิตกับธนาคารให้สามารถทำธุรกรรมได้
- พาร์ทเนอร์ที่ธนาคารให้การสนับสนุน จะเป็นองค์กรที่ให้บริการเรื่องเทคโนโลยีโดยตรง หรือเป็นองค์กรอื่นที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ก็ได้
- หลายประเทศในเอเชียมีอัตราการเติบโตของ Fintech อันเป็นผลมาจาก Financial Inclusion ซึ่งมีข้อบ่งชี้ว่ามีผลต่อการเติบโตของ GDP ภายในประเทศ
- ในประเทศไทยเริ่มดำเนินการ Financial inclusion ในรูปแบบของ Banking Agent เมื่อปี 2010 ผ่านตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำธุรกรรมทุกอย่างแทนธนาคารได้ ยกเว้นการถอนเงินสด
Financial Inclusion ลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินด้วย Fintech
ถ้าเป็นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว การทำธุรกรรมทางการเงินของกลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีออมทรัพย์หรืออยู่ห่างจากธนาคารเป็นเรื่องยุ่งยาก และกลายเป็นต้นทุนที่ไม่มีใครอยากจ่าย ลองนึกภาพคนงานเก็บใบชาค่าแรงวันละ 200 บาท บนดอยที่ใช้เวลาในการเดินทาง 8 ชั่วโมงลงมาในเมืองเพื่อไปทำธุรกรรมกับทางธนาคารเพื่อฝากเงินไม่กี่พันบาท จะพบว่าต้นทุนไม่น้อยเลย เพราะนอกจากต้นทุนเรื่องเวลาแล้ว แน่นอนว่าย่อมมีค่าใช้จ่ายอื่นรวมเข้าไปด้วย แต่ในปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีเป็นใจ ทุกอย่างก็ง่ายขึ้น เราเรียกการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินนี้ว่า Financial Inclusion
Financial Inclusion คือ อะไร
แนวคิด Financial Inclusion คือการเพิ่มโอกาสทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยที่ไม่จำกัดว่าต้องทำผ่านธนาคารเท่านั้น เพื่อให้คนที่อยู่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ และมีฐานะยากจน สามารถบริหารจัดการการเงินของตัวเองได้
ส่วนใหญ่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล ที่ดำเนินการผ่านธนาคารพาณิชย์ในการแต่งตั้งตัวแทนเอกชน (Agent Bank ซึ่งจะพูดถึงในโอกาสต่อไป) ให้ดำเนินการให้บริการและจัดการการเงิน ให้สินเชื่อ โอน จ่าย หรือธุรกรรมต่างๆ แทน ซึ่งเป็นได้ทั้งร้านสะดวกซื้อ องค์กรไปรษณีย์ เคาท์เตอร์เซอร์วิส หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ให้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ และแบบที่เป็นการให้บริการทางการเงินผ่านเทคโนโลยี (Fintech) ที่เกิดขึ้นโดยเอกชน

Financial Inclusion เกี่ยวข้องอย่างไรกับ Fintech
จากแนวคิดดังกล่าวจะพบว่า Financial Inclusion จะเป็นอะไรก็ได้ที่เข้าถึงผู้ด้อยโอกาสทางการเงิน ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นเทคโนโลยีเท่านั้น แต่การนำ Fintech เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องเหตุผลหลายประการ ดังต่อไปนี้
Fintech เข้าถึงผู้ใช้งานได้ง่าย และครอบคลุม
ประชาชนส่วนมากในประเทศเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ด้วยตนเองผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งช่วยลดต้นทุนทั้งด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
Fintech ให้บริการเฉพาะเรื่อง
Fintech แต่ละประเภทจะตอบโจทย์ความต้องการใดความต้องการหนึ่งของผู้ใช้งาน ไม่ครบวงจรจบในที่เดียวเหมือนกับธนาคาร เช่นการจ่ายค่าบริการเล็กๆ น้อยๆ การแลกเปลี่ยนเงินต่างสกุล การฝากหรือโอนเงิน การให้สินเชื่อรายย่อย ซึ่งทุกอย่างที่กล่าวมาเคยทำได้เฉพาะที่ธนาคาร ซึ่งไม่จำเป็นในปัจจุบัน สำหรับผู้ใช้งานบางกลุ่มการเดินทางไปธนาคารเพื่อจ่ายบิลใบเดียว ในเวลา 15 นาที นั่นคือต้นทุนที่สามารถหายไปได้ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้
Fintech แก้ปัญหาเรื่องเครดิต
การไม่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารกระทบไปถึงเรื่องการขอสินเชื่อ เพราะธนาคารพิจารณาให้สินเชื่อจากหลักฐานทางการเงิน ซึ่งทำให้กลุ่มที่ไม่มีบัญชีถูกตัดขาดจากบริการในส่วนนี้โดยอัตโนมัติ แต่ Fintech ช่วยให้การขอสินเชื่อมีความเป็นไปได้ เพราะ Fintech ที่ให้บริการด้านสินเชื่อมักพัฒนาระบบการตรวจสอบวินัยทางการเงินหรือเครดิตขึ้นมาในองค์กร เช่นเพียร์ พาวเวอร์เองก็มีระบบเครดิตสกอร์ ให้บริการในส่วนนี้ จึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินหรือ Financial Inclusion รูปแบบหนึ่ง
Fintech มีความยืดหยุ่น
เพราะเป็นการบริการตัวเองจึงเข้าถึงได้ในทุกที่ทุกเวลา แค่มีอินเทอร์เนต และสมาร์ทโฟนเท่านั้น ไม่มีการเปิดปิดเหมือนธนาคาร

Financial Inclusion ในต่างประเทศเป็นอย่างไร
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเงินเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ และหลายประเทศมีนโยบายนำ Financial Inclusion เข้ามาปรับใช้ เป็นหนึ่งในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
เช่นประเทศจีน ที่เข้าสู่สังคมไร้เงินสด เมื่อมี Alipay เข้ามาใช้ หรือเป็นในประเทศเคนยา ที่มีการนำแอปพลิเคชั่น M-Pesa เข้ามาใช้ ทั้งสองแอปพลิเคชั่นเป็นบริการการใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ ในขณะที่ในมาเลเซีย Fintech ที่รัฐบาลนำมาปรับใช้เพื่อสร้างระบบ Financial Inclusion ให้เป็นจริง เป็นลักษณะของ Agent Banking ทำทุกอย่างแทนธนาคารได้ โดยในปี 2018 ในมาเลเซียมีตัวแทนธนาคารในลักษณะดังกล่าวถึง 7,984 ราย เน้นไปที่ให้บริการจ่ายบิลและฝากเงิน
ส่วนที่อินเดีย ระบบ Financial Inclusion ในอินเดียเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี 1960 เมื่อรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้มีการเข้าถึงบริการทางเงินของคนที่ไม่อยู่ในเมืองใหญ่มากขึ้น จึงดำเนินการให้ธนาคารพาณิชย์ขยายพื้นที่ให้บริการในพื้นที่ยากจนของอินเดียมากขึ้น โดยชะลอการขยายสาขาในเมืองใหญ่ของธนาคารลง ซึ่งธนาคารแห่งแรกที่เกิดขึ้คือ Bombay Banker โดยรูปแบบ Financial Inclusion ในอินเดียนั้น แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือแบบ Business Facilitators เป็นการช่วยเหลือ วางแผน ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการให้สินเชื่อ รวมทั้งตรวจสอบคุณสมบัติผู้กู้เบื้องต้น และให้คำแนะนำในการจัดการหนี้สิน เช่นกลุ่มชมรม สหกรณ์ต่างๆ และองค์กรที่อยู่ภายใต้ธนาคารพาณิชย์ และแบบ Business Corespondents ที่เป็นหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ให้บริการการทำธุรกรรมเหมือนธนาคาร
แต่ด้วยนโยบายการเพิ่มสาขาในพื้นที่ห่างไกลความเจริญของธนาคารที่ดำเนินการควบคู่ไปด้วย ทำให้แบบหลังไม่ค่อยได้รับความนิยมนักไม่เพียงแต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือมีประชากรจำนวนมากเท่านั้นที่มีความตื่นตัวด้าน Financial Inclusion เพราะ ในประเทศเวียดนาม ความพยายามในการผลักดันระบบเศรษฐกิจที่ประชาชนเข้าถึงได้ โดยมีนโยบายที่ชัดเจนว่า Fintech ต้องมีการกำกับดูแลโดยกรรมการจากธนาคาร ทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นมาเป็นรูปแบบของแอปพลิเคชั่น MOMO ระบบ E- Wallet เพื่อการใช้จ่าย โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคาร Standard Charterer

Financial Inclusion ในประเทศไทยเป็นอย่างไรในปัจจุบัน
ประเทศไทยเองก็มีนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลเช่นกัน และเริ่มมาตั้งแต่ปี 2010 นโยบายดังกล่าวสร้างความเท่าเทียมทางการเงินด้วย Financial Inclusion ในประเทศเราปรากฏออกมาในรูปแบบของการขยายสาขาของธนาคารพาณิชย์ และ Banking Agent ที่ธนาคารแห่งประเทสไทยให้อำนาจธนาคารพาณิชย์ในการแต่งตั้งตัวแทนเพื่อดำเนินการต่างๆ แทนธนาคาร สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่ให้บริการทุกอย่างได้ ยกเว้นการถอนเงินสด ที่ทำได้เฉพาะไปรษณีย์เท่านั้น แต่เราจะพบว่ามีการให้บริการแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่ให้บริการในด้านการจัดการทางการเงินมากขึ้น และดำเนินการโดยเอกชน
Financial Inclusion กับ GDP
Financial Inclusion ส่งผลต่อ GDP ในแง่การเพิ่ม Consumption ด้วยอัตราการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มมากขึ้น ผ่านแอปพลิเคชั่น และระบบ Mobile Payment ที่ช่วยให้โลกของการค้าไม่ต้องพึ่งพาหน้าร้านและเงินสดอีกต่อไป โดยธุรกิจประเภท E-Commerce
ในปี 2017 ของประเทศไทยมีตัวเลขสูงถึง 2,812,592.03 ล้านบาท ซึ่งการเกิดขึ้นและเติบโตของธุรกิจประเภทนี้ ยังช่วยเพิ่มการเติบโตและเกิดใหม่ของสายธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต นำเข้า ส่งออก ที่ล้วนแต่เพิ่มผลิตผลมวลรวมภายในประเทศทั้งสิ้น ยิ่ง Financial Inclusion เติบโตเข้าถึงผู้ใช้งานได้มากเท่าไหร่ อัตราการเติบโตของ GDP ก็ยิ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นเท่านั้น โดยมีสถิติบ่งชี้ว่า ในปี 2017 GDP มวลรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นราวๆ 6% จากผลของการนำเทคโนโลยีมาใช้ลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน -สพธอ.จะเห็นได้ว่าการส่งเสริมให้เกิด Financial Inclusion ส่วนใหญ่เกิดจากการสนับสนุนของรัฐบาล โดยนำเอาเทคโนโลยี Fintech ที่เข้าถึงประชาชนเข้ามาปรับใช้ภายใต้การกำกับดูแลและฟังก์ชั่นเดียวกับธนาคารที่ไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเอง ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น มีความรู้เรื่องการเงินเพิ่มขึ้น สิ่งที่รัฐบาลจะได้กลับมาคืออัตราการเติบโตของ GDP ภายในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
Ref.https://www.worldbank.org/en/topic/financialinclusion/overviewhttps://www.botlc.or.th/item/kc_recommendation/00000000010http://www.dv.co.th/blog-th/financial-inclusion-fintech-in-remote-area/
_______________________________________________________________________
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว