Perspectives

พลังงานและอาหาร เทรนด์ลงทุนน่าสนใจช่วงเศรษฐกิจถดถอย

by
PeerPower Team
November 29, 2022

พลังงานและอาหาร เทรนด์ลงทุนน่าสนใจช่วงเศรษฐกิจถดถอย 

ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจ วิกฤตเงินเฟ้อและสงครามที่ยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่าย ๆ นักลงทุนอาจเริ่มตั้งคำถามถึงเศรษฐกิจปีหน้าว่าจะเป็นไปอย่างไร ควรลงทุนอะไรดีเพื่อรับมือวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น หรือมีเทรนด์ลงทุนน่าอะไรสนใจบ้าง? 

ประเด็นน่าสนใจจากงานประชุมเอเปคที่ผ่านมา คือ ผู้นำจากหลายประเทศต่างพุ่งความสนใจไปที่วิกฤตอาหารและพลังงาน ซึ่งจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญของภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ในปีหน้าหากสงครามยังยืดเยื้อ

บทความนี้ PeerPower จะขอเสนอข้อมูลน่าสนใจของอุตสาหกรรมอาหารและพลังงาน เผื่อใครสงสัยว่าลงทุนอะไรดี? เทรนด์ลงทุนมีอะไรน่าสนใจบ้าง? สองอุตสาหกรรมนี้อาจเป็นทางเลือกลงทุนที่ดีหากนักลงทุนต้องการกระจายความเสี่ยงและเตรียมพร้อมรับมือสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต

ในบทความนี้เราจะพูดถึง 

Future of Food อนาคตและทางเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร

โปรตีนจากพืช plant based meat วางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต พลังงานและอาหาร เทรนด์ลงทุนน่าสนใจช่วงเศรษฐกิจถดถอย 
โปรตีนจากพืช (plant-based meat) และโปรตีนทางเลือกอื่น ๆ วางขายในซุปเปอร์มาเก็ตที่เนเธอร์แลนด์

ธุรกิจอาหารอาจฟังดูไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่อุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัย 4 แบบนี้ยิ่งน่าสนใจโดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคือง 

ความจริงแล้วความมั่นคงทางอาหารเป็นประเด็นหนึ่งที่หลายประเทศทั่วโลกกังวลมาตลอด เพราะในอนาคตเราอาจมีอาหารไม่พอทุกคนบนโลก ในขณะที่ประชากรโลกมีมากถึง 8 พันล้านคน แต่ปัจจุบันเราสามารถผลิตอาหารได้เพียง 4 พันล้านตันต่อปี นอกจากนั้นปัจจัยอื่น ๆ ทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลง ราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นจนทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสูงขึ้นอีกเท่าตัว ไปจนถึงอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อราคาอาหารและสินค้าในครัวเรือน ก็ส่งผลด้านความมั่นคงทางอาหารเช่นกัน และอย่างที่พอล กิลดิง อดีตผู้อำนวยกรองค์กร Greenpeace กล่าวในเวทีเอเปคว่า มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตว่าอาหารจะถูกใช้เป็นอาวุธใหม่ของสงคราม ผ่านการควบคุมซัพพลายเชนเพื่อกดดันประเทศคู่ตรงข้าม 

นอกจากปัจจัยผลักดันแล้วก็ยังมีปัจจัยดึงดูด เช่น เทรนด์ผู้บริโภคที่หันมานิยมอาหาร “vegan” หรืออาหารที่ไม่ได้ผลิตมาจากสัตว์กันมากขึ้น และการใส่ใจเรื่องที่มาของอาหาร ทั้งด้วยความเชื่อด้านสุขภาพ และการตื่นตัวเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นโอกาสใหม่ ๆ ให้อุตสาหกรรมอาหาร

ดังนั้นหลายประเทศและธุรกิจจึงมุ่งไปที่ คือ “การเพิ่มผลผลิต” และ “การผลิตขึ้นมาทดแทน” ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การทำ Smart Farming ใช้เทคโนโลยี AI คำนวณปริมาณปุ๋ยและน้ำเพื่อผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการผลิตอาหารรูปแบบใหม่ขึ้นมาทดแทน เช่น โปรตีนจากพืช (plant-based meat) ที่พอเห็นบ้างแล้วในซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งไปจนถึงเนื้อที่เพาะเลี้ยงจากเซลล์  (cell-based meat) ในห้องแล็บโดยไม่ต้องฆ่าสัตว์ที่ขายแล้วในบางประเทศใกล้บ้านเรา เช่น สิงค์โปร์ และในประเทศไทยก็กำลังมีบริษัทพัฒนาวิจัยอยู่เช่นกันคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมโปรตีนทดแทนเหล่านี้จะมีมูลค่าอยู่ราว 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027 

ทางเลือกลงทุนน่าสนใจในอุตสาหกรรมอาหาร  

ความจริงแล้วโอกาสลงทุนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ “อาหาร” ที่เป็น final product ของอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสอยู่ในซัพพลายเชนทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการจัดจำหน่าย เพราะเป็นกระบวนการที่คิดมาคู่กัน ตัวอย่างอุตสาหกรรมย่อยที่เป็นทางเลือกลงทุนน่าสนใจ เช่น  

  • โปรตีนจากพืช / โปรตีนจากแล็บ
  • ฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farming) 
  • วัตถุดิบออร์แกนิกและวัตถุดิบทางเลือก 
  • บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนรักษ์สิ่งแวดล้อม 
  • ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ food supply chain 

Renewable Energy อนาคตและทางเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน

โซลาร์เซลล์ลอยน้ำในไทย พลังงานและอาหาร เทรนด์ลงทุนน่าสนใจช่วงเศรษฐกิจถดถอย 
โซลาร์เซลล์ลอยน้ำพลังงานสะอาดที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

วิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้นทับซ้อนกันอยู่หลายมิติ ส่วนหนึ่งมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้พลังงานในยุโรปขาดแคลน หลายประเทศจึงเริ่มโปรเจคผลิตพลังงานเพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศผนวกกับกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม วิสัยทัศน์ด้าน ESG และมาตรการ CBAM ที่ทำให้ต้องคิดถึงการผลิตงานใหม่ เพราะไม่ใช่แค่จะเอาพลังงานอะไรมาทดแทนก็ได้ แต่ต้องมองไปถึงอนาคตที่มุ่งไปสู่พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดด้วย 

พูดได้ว่ากระแสพลังงานหมุนเวียนที่กำลังจะกลายเป็นมาตรฐานโลกแบบใหม่นั้นได้แรงผลักดันจากวิกฤตพลังงาน ทำให้ยิ่งต้องรีบเปลี่ยนผ่านให้เร็วขึ้น ทั้งเพื่อสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

ทางเลือกลงทุนน่าสนใจในอุตสาหกรรมพลังงาน 

ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมีตลาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยหลายปัจจัยอย่างที่บอกก่อนหน้า คาดการณ์ว่าพลังงานหมุนเวียนจะทำรายได้มากถึง 2.97 พันล้านในปี 2030 ในอาเซียนเองก็มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นี่อาจเป็นสัญญาณและทางเลือกที่น่าลงทุน ในระยะแรกนักลงทุนอาจเริ่มแบ่งสัดส่วนลงทุนในพลังงานหมุนเวียนบ้างบางส่วน แล้วจึงค่อยเพิ่มมากขึ้นหากเห็นว่าเทรนด์พลังงานสะอาดขยับไปในทิศทางที่ดี 

สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของประเทศในอาเซียน พลังงานและอาหาร เทรนด์ลงทุนน่าสนใจช่วงเศรษฐกิจถดถอย 

ในประเทศไทยเองนอกจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำและแสงอาทิตย์ที่คุ้นเคยกันแล้ว เรายังมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวภาพ (bioenergy) ที่มีกำลังผลิตรวมเกือบจะเท่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากพลังงานชีวภาพใช้วัตถุดิบจากกากพืชในอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีจำนวนมากในประเทศ ธุรกิจเอกชนเหล่านี้เป็นโอกาสให้นักลงทุนได้ลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานแห่งอนาคต ซึ่งบนแพลตฟอร์ม PeerPower ก็มีธุรกิจประเภทนี้เปิดระดมทุนเช่นกัน

อุตสาหกรรมน่าลงทุนอื่น ๆ ตัวเลือกลงทุนรับมือเศรษฐกิจถดถอย

แม้รัฐบาลหรือธนาคารใด ๆ ในโลกจะไม่ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า ขณะนี้เราเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างเต็มรูปแบบ แต่ทั้งปีที่ผ่านมานี้เราจะเห็นสัญญาณ recession ชัดขึ้นมาก ตั้งแต่การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (fed) หลายครั้งติดในปีนี้ ไปจนถึงสัดส่วนผลต่างผลต่างบอนด์ยีลด์ (bond yield) หรือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐแบบ 2 และ 10 ปี (2-10 spread) ที่สูงสุดถึง 0.7% ในรอบ 40 ปี นักลงทุนหลายท่านอาจสงสัยว่าในช่วงเงินเฟ้อเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ควรลงทุนอะไรดี? ทางเลือกลงทุนอื่น ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงมีอะไรบ้าง?

คำตอบคือ กลยุทธ์ลงทุนแบบ Defensive ยังน่าสนใจ เพราะแม้กิจการเหล่านี้จะมีผลประกอบการจะไม่หวือหวา แต่ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอและได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจน้อย อุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ 

  • สุขภาพและการแพทย์
  • สินค้าครัวเรือน/สินค้าจำเป็น
  • สินค้าการเกษตร
  • สาธารณูปโภค
  • การคมนาคม ขนส่ง
  • กิจการค้าปลีกที่เน้นราคาถูก
  • บัญชี (ต่อให้ไม่มีเงิน คนก็ต้องเสียภาษี)
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ความต้องการบริโภคไม่เคยลดแม้เศรษฐกิจจะดีหรือแย่ก็ตาม)

 

ลงทุนอะไรดีในช่วงตลาดผันผวน ทางเลือกลงทุนน่าสนใจอื่น ๆ

ในช่วงตลาดลูกผีลูกคนที่ยังไม่เห็นแนวทางชัดเจน ผู้เชี่ยวชาญแนะนำแนวทางการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงเป็นทางเลือกไว้ดังนี้

  1. กระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ประเภท store of value เช่น ทองและอสังหาริมทรัพย์ 
  2. แบ่งเงินมาลงทุนในหุ้นกู้ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้น โดยเฉพาะหุ้นกู้ระยะสั้นเพื่อรักษากระแสเงินสดและง่ายต่อการปรับแผนลงทุนหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเองก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะระยะเวลาลงทุนยืดหยุ่น อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
  3. ลงทุนสินทรัพย์ใน Private Market (สินทรัพย์ที่ไม่ได้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์) เพราะสินทรัพย์ประเภทนี้จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดน้อยกว่า และไม่มีการปรับราคาตามตลาด (mark to market) มูลค่าจึงไม่ลดลง 

ทั้งหมดที่กล่าวมา นักลงทุนอาจพอเห็นภาพว่าอนาคตของอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานมีทิศทางที่ค่อนข้างน่าสนใจ ทั้งนี้การลงทุนมาพร้อมความเสี่ยงเสมอ แต่การกระจายความเสี่ยงด้วยการแบ่งสัดส่วนไปลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำที่แม้จะไม่ได้ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด แต่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ portfolio ลงทุน โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจเอาแน่เอานอนไม่ได้เช่นนี้ 

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร