เรื่องน่ารู้นักลงทุน: เกิดอะไรขึ้นเมื่อหุ้นกู้ชำระล่าช้า
ช่วงนี้นักลงทุนในแวดวงหุ้นกู้อาจจะเห็นข่าวการชำระล่าช้า-เลื่อนจ่ายของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ต่าง ๆ แม้การชำระล่าช้าจะเป็นความเสี่ยงหนึ่งที่ย่อมเกิดขึ้นในการลงทุน แต่นักลงทุนบางท่านอาจข้องใจว่าทำไมเหตุการณ์นี้ถึงเกิดขึ้นเพราะบริษัทก็ดูมีผลประกอบการดี พอเจอเหตุการณ์แบบนี้เลยรับมือต่อไม่ถูก
บล็อกนี้ PeerPower จะมาอธิบาย "เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อหุ้นกู้จ่ายช้า" จากมุมมองแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางระหว่างบุคคลทั้งสองฝ่าย พร้อมทั้งแนะนำแนวทางปฏิบัติเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เพื่อที่นักลงทุนจะได้เตรียมตัว next step ต่อไป
ทำไมหุ้นกู้ถึงชำระล่าช้า ?
ปัจจัยที่เป็นไปได้เมื่อหุ้นกู้ชำระช้าคือ
- คู่ค้าของบริษัทขาดเงินทุนหมุนเวียน ส่งผลให้รอบเบิกจ่ายนานกว่าปกติ
- เหตุอื่นที่เกิดจากการดำเนินงานของธุรกิจเอง
ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ผู้ออกหุ้นกู้จะต้องมีเอกสารชี้แจงรายละเอียดให้นักลงทุนทราบถึงสาเหตุที่ทำให้จ่ายล่าช้าและเสนอวันที่จะจ่ายหนี้ใหม่ ซึ่งต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนที่จะถึงกำหนดวันชำระ
การชำระล่าช้าจะส่งผลให้บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม ซึ่งคิดเป็นค่าปรับที่บริษัทต้องจ่ายเพราะถือว่าทำผิดสัญญา ศึกษาการคำนวณดอกเบี้ยเพิ่มเติมที่นี่
หุ้นกู้มีแนวโน้มผิดนัดชำระ
บางกรณีอาจเกิดเหตุสุดวิสัยที่ส่งผลต่อการชำระหนี้ในรอบต่อ ๆ ไป ในกรณีนี้บริษัทผู้ออกหุ้นกู้อาจยื่นข้อเสนอเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ต่อผู้ถือหุ้นกู้
การประชุมผู้ถือหุ้นกู้
เมื่อบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ต้องการที่จะเปลี่ยนข้อสัญญาต่าง บริษัท ฯ ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนได้เลยทันที ต้องมีการหารือกับผู้ถือหุ้นกู้ก่อน ซึ่งการหารือนี้จะนำไปสู่ “การประชุมผู้ถือหุ้นกู้” ที่คนทั้งสองฝ่ายต้องมาตกลงเพื่อหาทางออกร่วมกัน ในการประชุมนี้บริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะต้อง
1. เสนอแผนการปรับโครงสร้างหนี้
2. อัปเดตแนวทางการการชำระหนี้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ในที่ประชุม
โดยทั่วไปการประชุมจะกินเวลาราว 1 ชั่วโมงหรือมากกว่าขึ้นอยู่กับมติที่หารือ การแต่งตั้งตัวแทน ฯลฯ ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่ "การโหวตและหามติร่วมกันว่าจะอนุมัติข้อเสนอที่บริษัทยื่นหรือไม่" (บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้เองได้ ผู้ถือหุ้นกู้ต้องอนุมัติเท่านั้น) กรณีที่ไม่อนุมัติก็สามารถยื่นเรื่องฟ้องร้องได้เช่นกัน
การฟ้องร้องดำเนินคดี
กรณีที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ และผู้ถือหุ้นกู้ต้องการที่จะดำเนินการทางกฏหมายก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งจะมีกระบวนการดังนี้
- การประชุมผู้ถือหุ้นกู้จะถูกจัดขึ้นเพื่อหาข้อสรุป ผู้ถือหุ้นกู้ต้องตอบรับคำเชิญเข้าร่วม
- ที่ประชุมต้องมีมติอนุมัติให้ดำเนินการทางกฏหมาย
- แต่งตั้งตัวแทนเพื่อเป็นผู้ดำเนินการแทนนักลงทุน
ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นกู้ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางกฎหมายเอง
ผู้ถือหุ้นกู้ต้องทำอะไรบ้างเมื่อเกิดการผิดนัดชำระ ?
โดยทั่วไปแพลตฟอร์มตัวกลางจะเป็นผู้ประสานงาน คอยอัปเดต และแจ้งให้ผู้ถือหุ้นกู้ทราบถึงสถานการณ์ของบริษัทเสมอ
กรณีที่ต้องจัดการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ แพลตฟอร์มตัวกลางจะแจ้งให้ผู้ถือหุ้นกู้ทราบถึง วัน-เวลา-สถานที่ในการจัดประชุม ผู้ถือหุ้นกู้จะต้อง
- กดตอบรับคำเชิญเพื่อรักษาสิทธิของตัวเองในที่ประชุม (หรือแต่งตั้งตัวแทนถ้าไม่สะดวกเข้าร่วม)
- ออกเสียงเพื่อหาข้อสรุป หรือให้ความเห็นในประเด็นต่าง ๆ
เมื่อการประชุมเสร็จสิ้น แพลตฟอร์มตัวกลางจะเป็นผู้สรุปการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้ถือหุ้นกู้อีกครั้งหนึ่ง
กรณีที่ต้องดำเนินคดี จะมีประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อหามติอีกครั้ง โดยแพลตฟอร์มตัวกลางจะเป็นผู้รับผิดชอบจัดการประชุม แจ้ง วัน-เวลา-สถานที่ ในการจัดประชุมให้ผู้ถือหุ้นกู้ทราบ เมื่อประชุมผู้ถือหุ้นกู้จะต้อง
- กดตอบรับคำเชิญเพื่อรักษาสิทธิ (หรือแต่งตั้งตัวแทนถ้าไม่สะดวกเข้าร่วม)
- หารือมติต่าง ๆ แต่งตั้งผู้แทนดำเนินการด้านคดี การติดตามทวงหนี้ ฯลฯ
- ออกเสียงเพื่อหาข้อสรุป
และเมื่อจบการประชุม แพลตฟอร์มตัวกลางจะเป็นผู้สรุปการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้ถือหุ้นกู้เช่นเดิม
บางกรณีการประชุมอาจเป็นแบบออนไลน์ผ่านลิงก์ หรือประชุมในสถานที่จริง (แล้วแต่ผู้จัด) สมมุติถ้านักลงทุนคนไม่สะดวกเข้าร่วมประชุมก็สามารถให้ตัวแทนเข้าประชุมได้เช่นเดียวกัน แต่ต้องแจ้งผู้จัดงาน (แพลต์ฟอร์มตัวกลาง) ทราบก่อนล่วงหน้าเพื่อที่จะได้ทำเรื่องแต่งตั้งตัวแทนรักษาสิทธิของนักลงทุน
หวังว่าทั้งหมดนี้จะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน บล็อกหน้าเราจะคุยเรื่องอะไรกัน โปรดติดตามได้ในบทความหน้า
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่าน เพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว