Peer Story

เส้นทางระดมทุนคราวด์ฟันดิงกับ MuvMi

by
PeerPower Team
October 10, 2022

เส้นทางระดมทุนคราวด์ฟันดิงของ MuvMi

หากคุณใช้บริการรถไฟฟ้า BTS และ MRT ในกรุงเทพฯ เป็นประจำ อาจคุ้นเคยกับรถตุ๊กตุ๊กสีสดขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของ MuvMi (มูฟมี) ที่คอยวิ่งรับส่งผู้โดยสารตามแนวรถไฟฟ้าเข้าซอยหรือไปบริเวณใกล้เคียง

MuvMi เป็นสตาร์ทอัปไทยแท้ที่ต้องการแก้ปัญหาการเดินทางในเมืองใหญ่และทำให้คนทั่วไปสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้สะดวกที่สุด ซึ่ง MuvMi เป็นธุรกิจเจ้าแรกที่ระดมทุนแบบหุ้นคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding Equity) กับ PeerPower ได้สำเร็จโดย นอกจากจะได้รับเงินทุนแล้ว ยังได้ผู้ถือหุ้นที่เป็นทั้งลูกค้าและหุ้นส่วนคอยเสนอแนะ และให้ความเห็นที่ช่วยให้ธุรกิจได้เข้าใจตลาดมากขึ้น

บล็อกนี้เราจะพามาทำความรู้จักจุดเริ่มต้นธุรกิจของ MuvMi และเส้นทางต่อไปที่บริษัทต้องการจะเติบโต

คุณมิก-ดร. กฤษดา กฤตยากีรณ กับเบื้องหลังของ MuvMi  

ผู้ก่อตั้ง MuvMi ดร. กฤษฎา กฤตยากรีรณ
ดร. กฤษดา กฤตยากีรณ

“คุณมิก” หรือ ดร. กฤษดา กฤตยากีรณ ก่อตั้งมูฟมีขึ้นจาก ‘pain point’ ที่ประสบด้วยตัวเองในฐานะคนกรุงเทพฯ ที่ใช้บริการรถไฟฟ้าไปทำงานเป็นประจำ และพบปัญหาว่าเมื่อลงจากรถไฟฟ้าแล้วยังต้องหาวิธีเดินทางต่อไปไกลพอสมควรกว่าจะถึงที่ทำงานหรือบ้าน 

คุณมิกเชื่อว่าปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ต้องแก้ที่การใช้ขนส่งมวลชน ไม่ใช่การให้ทุกคนมีรถ โจทย์ของมูฟมีคือการช่วยให้คนสามารถใช้รถไฟฟ้าได้มากขึ้นด้วยการแก้ปัญหาการเดินทางช่วงสุดท้ายที่ต่อจากรถไฟฟ้า โดยราคาต้องเข้าถึงได้ (ราคาต่อเที่ยวเริ่มต้นที่ 10 บาท) จึงเกิดเป็นแอปพลิเคชัน ride sharing ที่ให้ทุกคนเลือกได้ว่าอยากขึ้นและลงรถที่ไหน คนที่อยู่บนเส้นทางเดียวกันก็นั่งไปด้วยกัน 

จุดเด่นอย่างหนึ่งของมูฟมีคือการออกแบบผลิตภัณฑ์เองทั้งหมด ทั้งซอฟต์แวร์ที่เป็นแอปพลิเคชันเรียกรถ และฮาร์ดแวร์คือตัวรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า เลือกใช้รถตุ๊กตุ๊กรูปร่างกะทัดรัดคล่องตัวในการเข้าตรอกซอกซอย แต่ออกแบบที่นั่งใหม่ให้สามารถนั่งได้ถึง 6 คนโดยไม่ขวางทางขึ้นลงกัน และมีพื้นต่ำขึ้นลงสะดวก ทั้งยังผ่านการทดสอบการชนด้วยระบบ FEA เพื่อความปลอดภัย

ไอเดียของคุณมิกได้รับการพิสูจน์ว่าตอบโจทย์คนเดินทางในกรุงเทพฯ ด้วยยอดให้บริการกว่า 1.3 ล้านเที่ยวเดินทางตั้งแต่ก่อนมาระดมทุนกับ เพียร์ พาวเวอร์

MuvMi มูฟมี สตาร์ทอัพที่ระดมทุนผ่าน Crowdfunding
รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าของมูฟมี

PeerPower x MuvMi และการระดมทุนคราวด์ฟันดิงเพื่อธุรกิจ

“หลังจากระดมทุนผ่าน PeerPower เราก็รู้สึกได้ว่าเราใกล้ชิดกับนักลงทุนมากขึ้น เขาไปลองใช้ผลิตภัณฑ์ มีฟีดแบ็ก ทำให้เราได้เห็นมุมมองหลากหลาย”

ดร. กฤษดา กฤตยากีรณ

CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Urban Mobility Tech เจ้าของ MuvMi

MuvMi ภายใต้บริษัท Urban Mobility Tech ระดมทุนผ่านหุ้นคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding Equity) กับเพียร์​ พาวเวอร์เมื่อปลายปี 2021 ถือเป็นบริษัทแรกที่ใช้การระดมทุนแบบหุ้นกับเพียร์ พาวเวอร์ ซึ่งนับว่าไม่ง่าย เพราะจัดเป็นการลงทุนระยะค่อนข้างยาวที่นักลงทุนมักใช้ความระมัดระวังอย่างมาก แต่การที่มูฟมีประสบความสำเร็จโดยได้รับเงินลงทุนถึง 10 ล้านบาทนั้นแสดงให้เห็นว่านักลงทุนมองเห็นอนาคตในธุรกิจนี้อย่างแท้จริง 

เส้นทางระดมทุนของ MuvMi

  • ระดมทุนสำเร็จ 10 ล้านบาท
  • ระดมทุนผ่าน Crowdfunding Equity

รถตุ๊กตุ๊กในวันนั้นสู่ความสำเร็จในวันนี้

มูฟมียังคงพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ทั้งในแง่บริการและการพัฒนาเทคโนโลยี เมื่อคนกรุงกลับมาเดินทางเป็นปกติอีกครั้งหลังช่วงโควิด มูฟมีก็พร้อมรองรับด้วยการเปิดโซนให้บริการใหม่ ๆ เช่น สีลม-สาทร และรัชดา-พระราม 9 ทั้งยังเพิ่มจำนวนรถโดยสาร ขยายประเภทจากรถตุ๊กตุ๊กเป็นแท็กซี่ไฟฟ้าเพิ่มเข้ามาเพื่อให้บริการได้อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น

ในด้านเทคโนโลยี มูฟมียังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางธุรกิจอย่างยั่งยืน จากการออกแบบตัวรถโดยสารที่จดสิทธิบัตรไปแล้ว ตอนนี้มูฟมียังออกแบบจุดชาร์จรถไฟฟ้าโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงจากแผงโซลาร์ตรงเข้ารถ โดยมีสมองกลในรถคอยควบคุมกระแสไฟ เทคโนโลยีที่ว่านี้ก็กำลังอยู่ในระหว่างการจดลิขสิทธิ์เช่นกัน 

ปัจจุบันมูฟมีมีรถโดยสารแบบ EV ให้บริการถึง 200 คัน และให้บริการผู้โดยสารแล้วกว่า 2 ล้านเที่ยวเดินทาง

MuvMi มูฟมี สตาร์ทอัพที่ระดมทุนผ่าน Crowdfunding
รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าสีแดงสัญลักษณ์ของ Muvmi ที่สะดุดตาบนท้องถนน

เคล็ดลับความสำเร็จแบบ MuvMi

1. เข้าใจ “คน” และ “ปัญหา”

จุดเริ่มต้นของมูฟมีสำคัญที่สุด เพราะเกิดจากปัญหาจริงที่คุณมิกประสบ และยังมีคนกรุงอีกนับล้านที่ประสบปัญหาเดียวกัน ในกรุงเทพฯ มีการสัญจรระยะสั้น (micro transit) เกิดขึ้นกว่า 3,500 ล้านเที่ยวโดยสารในแต่ละปี ส่วนทั่วโลกการสัญจรระยะสั้นนี้คาดว่าจะเติบโตสูงถึง 20% ในช่วง 5-7 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ด้วยความเข้าใจในปัญหานี้ บวกกับความเข้าใจใน “คน” หรือผู้ใช้งานว่าพวกเขาต้องการอะไร ทำให้มูฟมีเริ่มต้นได้ถูกจุด และมีชัยไปกว่าครึ่งในการเดินหน้าธุรกิจนี้

2. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี

มูฟมีเข้าใจดีว่าความได้เปรียบทางธุรกิจในระยะยาวจะเกิดได้ยากหากต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากคนอื่นตลอดไป การพัฒนาองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ของตัวเองอาจต้องใช้ทรัพยากรและเวลามากกว่า แต่ก็เป็นฐานที่แข็งแรงในการสร้างความสำเร็จต่อไป มูฟมีพัฒนาเองตั้งแต่แอปพลิเคชันของผู้ใช้งาน ไปจนถึงเทคโนโลยีที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนจนได้จดสิทธิบัตร คุณมิกเคยเล่าว่าในช่วงโควิดที่เกิดขาดแคลนชิปในการผลิตชิ้นส่วนไฟฟ้า ทีมวิศวกรของมูฟมียังเคยได้ออกแบบชิปด้วยตัวเองกันมาแล้ว ดังนั้นในทุกวิกฤตมีโอกาสให้เรียนรู้เสมอ

3. น้ำขึ้นให้รีบตัก

สำหรับมูฟมี ไม่ใช่แค่ช่วงวิกฤตเท่านั้นที่ต้องพยายามเป็นพิเศษ แต่ช่วงที่ธุรกิจกำลังขาขึ้นจากการที่ผู้คนกลับมาเดินทางมากขึ้น ประกอบกับน้ำมันแพงทำให้รถ EV มีความคุ้มค่าทางตัวเงินมากขึ้น ช่วงเวลาที่น่าจะไปได้สวยแบบนี้ก็เป็นช่วงที่ธุรกิจต้องพยายามเป็นพิเศษเช่นกัน เพื่อให้มั่นใจว่ามูฟมีจะมีความพร้อมพอที่จะตอบรับความต้องการของตลาด และไม่ปล่อยให้โอกาสต้องหลุดลอยไปแม้แต่น้อย

MuvMi มูฟมี สตาร์ทอัพที่ระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิง

PeerPower ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของ MuvMi และเราพร้อมสนับสนุนธุรกิจให้ก้าวไปได้ไกลขึ้นด้วยการช่วยสนับสนุนธุรกิจที่มีศักยภาพให้เข้าถึงแหล่งทุนจากนักลงทุนนับพันบนแพลตฟอร์มของเพียร์ พาวเวอร์

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร