The Basics

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คืออะไร ? เอาเงินไปใช้ยังไงให้คุ้มสิทธิ์ที่สุด

by
PeerPower Team
February 9, 2024

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คืออะไร ? เอาเงินไปใช้ยังไงให้คุ้มสิทธิ์ที่สุด 

ตามสถิติจากบริษัทจัดหาพนักงาน เดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่ยุ่งที่สุดของปี เพราะมีคนลาออกเยอะที่สุด และจะมีคนหางานใหม่เยอะที่สุด ซึ่งทุกครั้งที่ลาออกฝ่ายบุคคลก็จะถามเราว่าจะทำยังไงกับเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดี หลายคนลังเลไม่รู้จะทำยังไงเพราะกลัวจะมีภาระตามมาสุดท้ายเลยปล่อยเงินไว้อย่างน่าเสียดาย

บล็อกนี้เราเลยจะมาคุยกันเรื่อง “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หรือที่เรียกติดปากกันว่า provident fund ว่าคืออะไร? มีสิทธิพิเศษอะไรบ้าง? ควรเอาไปลงทุนยังไง แล้วถ้าลาออกควรจัดการยังไงให้คุ้มเงินของเราที่สุด

TLDR เลือกอ่านเฉพาะบท

  1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คืออะไร ? ใครเป็นคนดูแล
  2. ควรสมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไม่ มีข้อดีอะไร?
  3. วางแผนลงทุนเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังไงดี? 
  4. ถอนเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้หรือไม่? มีผลอะไรตามมา
  5. ลาออกแล้วต้องทำยังไงกับเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ? 
  6. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเสียภาษีเท่าไหร่ คำนวณภาษียังไง?

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คืออะไร ? ใครเป็นคนดูแล

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund (PVD) คือ โครงการออมเงินเพื่อลงทุนระยะยาว เป้าหมายคือให้พนักงานมีเงินใช้หลังเกษียณโดยบริษัทจะช่วยออกเงินสมทบในกองทุนด้วยส่วนหนึ่ง 

เงินในกองทุนฯ จะมาจาก 

  1. เงินสะสม หักโดยตรงจากเงินเดือนของพนักงาน เราเลือกได้ว่าจะให้หักกี่เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ 2-15%
  2. เงินสมทบ เป็นเงินที่บริษัทช่วยออกมีตั้งแต่ 2-15% แล้วแต่นโยบายของบริษัท 

กองทุนสำรองเลี้ยงเชีพ (PVD) มักเป็นนโยบายที่แต่ละบริษัทใช้เพื่อเป็นสวัสดิการจูงใจพนักงาน ดังนั้นแต่ละบริษัทจะมีนโยบายจ่ายสมทบไม่เหมือนกัน บางบริษัทอาจมีนโยบายเพิ่มเงินสมทบตามอายุงานที่เพิ่มขึ้น เช่น ทำงานเกิน 5 ปี สมทบเพิ่มเป็น 5% หรือเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได เป็นต้น 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้จะมี “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ.” เป็นคนดูแลและคอยอัปเดตผลตอบแทนให้เสมอ เราสามารถเช็กได้ว่าตอนนี้กองทุนมีเงินเท่าไหร่ หรือถ้าเราเห็นผลประกอบการไม่น่าสนใจก็สามารถติดต่อ บลจ.เพื่อเปลี่ยนแผนการลงทุนได้เหมือนกัน 

ดังนั้นใครที่เปิดดูสลิปแล้วเห็นว่ามีเงินหักไปก็อย่าตกใจ เงินนี้ถูกหักไปลงทุนต่อ บริษัทไม่ได้เอาเงินคืน 

พนักงานออฟฟิศควรสมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไม่ สมัครแล้วมีข้อดีอะไร?

การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นนโยบายตามความสมัครใจ 

บริษัทต้องถามเราก่อนว่า อยากสมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไม่?  ถ้าเราโอเคที่จะสมัครกองทุนก็ต้องพิจาณาดูว่าจะให้บริษัทหักเงินไปเท่าไหร่ โดยคิดตามภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งเลือกให้หักได้สูงสุด 15% ของเงินเดือน

หรือถ้าเราไม่สมัครอยากเอาเงินไปลงทุนเองก็ทำได้เหมือนกัน (แต่ต้องวางแผนลงทุนดี ๆ เพราะถ้าฝากแบงค์กินดอกเบี้ยเฉย ๆ เงินเฟ้อเฉลี่ยปีละ 2-4% อาจจะได้ดอกเบี้ยไม่คุ้ม)

ซึ่งข้อดีของการสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ

  1. ตัดปัญหาไม่มีเงินออมเพราะเงินถูกหักก่อนเอาไปใช้ 
  2. มีคนช่วยออกเงินต้น ซึ่งก็คือบริษัท สมมุติเราหักเงินสะสมเดือนละ 2,000 บาท บริษัทช่วยสมทบอีก 2,000 บาท เท่ากับว่าเงินต้นรวม 4,000 บาท ยิ่งมีเงินต้นมากก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากตาม
  3. ได้ผลประโยชน์ทางภาษีเมื่อเป็นสมาชิกของกองทุน เพราะใช้ลดหย่อนภาษีประจำปีได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง และไม่เกิน 500,000 บาท 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมักกำหนดให้ลงทุน 5 ปีขึ้นไป แต่ถ้าเราลาออกไม่เป็นสมาชิกของกองทุนแล้ว ก็ต้องนำเงินสมทบจากบริษัทและผลประโยชน์ที่ได้ไปคำนวณยื่นภาษี (ขอยกไปเล่าต่อข้างล่าง)

วางแผนลงทุนโดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังไงดี? 

สมัยก่อนบลจ.มักจะมีแผนการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่หลากหลาย แต่ปัจจุบันแต่ละ บลจ.ก็ปรับปรุงให้มีแผนการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น คำถามต่อมาคือ “เราควรเลือกลงทุนยังไงดี?”

ถ้าใครเคยอ่านบล็อก “มีเงิน 100,000 บาทลงทุนอะไรดี? (คลิกอ่าน)” เราแนะนำว่าก่อนจะลงทุนควรถามตัวเอง 2 คำถาม ซึ่งคือ “ลงทุนไปทำไมและรับความเสี่ยงได้แค่ไหน” สิ่งนี้จะช่วยสโคปสินทรัพย์ที่เราควรลงทุน

หรืออาจจะประเมินคร่าว ๆ จากอายุ เช่น หากอายุยังไม่มากและมีภาระหนี้สินน้อย เราอาจจะเน้นลงทุนเพื่อสร้างความเติบโตในกองทุนหรือหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง หรือถ้ามีภาระมากก็อาจลงทุนแบบเน้นความมั่นคงในตราสารหนี้ได้ อ่านวิธีวางแผนลงทุนตามวัยได้ที่นี่ (คลิกอ่าน) ถ้ายังไม่รู้ว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้แค่ไหนลองทำ แบบทดสอบความเสี่ยงที่รับได้ จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้เหมือนกัน

ส่วนใหญ่แต่ละ บลจ. จะจัดแพ็คเกจลงทุนให้เราเลือกตามความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงมาก ความเสี่ยงปานกลาง และ ความเสี่ยงน้อย 

  • ถ้ารับความเสี่ยงได้มาก อาจเลือกแพ็คเกจที่มีสัดส่วนของหุ้นหรือกองทุนรวมเยอะหน่อย
  • ถ้ารับความเสี่ยงได้น้อย เลือกแพ็คเกจที่มีตราสารหนี้มากกว่าสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง

แต่ละ บลจ. มักจัดสินทรัพย์ต่าง ๆ คละกัน อาจไม่ได้ตรงตามที่เราต้องการเป๊ะ แต่ลองพิจารณาดูว่าในแต่ละแพ็คเกจมีสัดส่วนสินทรัพย์ความเสี่ยงมาก-น้อยกี่เปอร์เซ็นต์ และกระจายความเสี่ยงครอบคลุมหรือไม่เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ควรจะได้ 

บาง บลจ. มีนโยบายให้เราเลือกสินทรัพย์ได้ ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วว่ายังไม่ตรงกับที่ต้องการก็อาจปรึกษาเพื่อขอเปลี่ยนและเอาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอมาคละเพื่อประกันผลตอบแทนจากกองทุนได้เหมือนกัน 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คืออะไร ? เอาเงินไปใช้ยังไงให้คุ้มสิทธิ์ที่สุด

ถอนเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้หรือไม่? มีผลอะไรตามมา

ถอนได้ ซึ่งจะทำให้เราเสียผลประโยชน์และต้องเสียภาษี

แต่ก็ชดเชยได้ถ้าลงในสินทรัพย์อื่น ๆ ที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผลตอบแทนของสินทรัพย์เหล่านี้ไม่ต้องเอาไปยื่นรวมเพื่อคำนวณภาษีเพราะถูกหัก ณ ที่จ่าย เรียบร้อยแล้ว อ่านต่อที่ ลงทุนอะไรดีถ้าอยากลดภาษี (คลิก)

ส่วนใหญ่การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือการลงทุนยันเกษียณ ระยะเวลาลงทุนจะนาน ในช่วง 5-10 ปีแรกอาจไม่เห็นผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ เรียกได้ว่าคุ้มสำหรับการลงทุนระยะยาว แต่อาจจะไม่เหมาะหากต้องการลงทุนระยะสั้น

ดังนั้นถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าผลตอบแทนที่ได้ดูไม่น่าสนใจ ก็สามารถถอนเงินออกและนำไปลงทุนเองได้ แต่ต้องพิจารณาเลือกสินทรัพย์ ความเสี่ยง และระยะเวลาลงทุนให้เหมาะกับที่ตัวเองต้องการ

กรณีที่ต้องการ cash flow อาจเลือกสินทรัพย์ที่จ่ายผลตอบแทนรายเดือนมาเสริมได้ หรือถ้าอยากได้ปันผลสูงก็อาจลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้เช่นกัน (ถ้ารับความเสี่ยงไหว ย้ำ)

ลาออกแล้วต้องทำยังไงกับเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ?

คนส่วนใหญ่เพิ่งจะมาเห็นว่าเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตัวเองมีเยอะมากก็ตอนลาออก สมมุติเราลาออกแต่อยากรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ เราอาจจะ

1. ย้ายเงินไปฝากกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทใหม่ 

สามารถทำเรื่องขอย้ายกองทุนฯ มาที่บริษัทใหม่ได้ถ้าเขามีสวัสดิการนี้ให้ แต่ก็ต้องทำใจว่าแผนการลงทุนอาจจะเปลี่ยนไปเช่นกัน

2. เปลี่ยนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็น “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF for PVD

กองทุน RMF นี้จะไม่เหมือน RMF ทั่วไป เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะคล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม 

3. เก็บให้บลจ. เดิมบริหาร 

ทำได้เหมือนกันหากพอใจในผลตอบแทนที่ได้ แต่ทั้งนี้จะมีค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมเพราะถือว่าเราไม่ใช่พนักงานของบริษัทนั้นอีกต่อไป

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเสียภาษีเท่าไหร่ คำนวณภาษียังไง?

ตราบเท่าที่เราเป็นสมาชิกกองทุนฯ เราไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเราลาออกไม่เป็นสมาชิกของกองทุนฯ เมื่อถอนเงินออกมาแล้วเราจะต้องเสียภาษี โดยที่ เงินทั้งหมดจะแจกแจงเงินเป็น 4 ส่วน 

  1. เงินสะสม
  2. ผลประโยชน์จากเงินสะสม
  3. เงินสมทบ
  4. ผลประโยชน์จากเงินสมทบ 

ข้อกำหนดคือ

  • ถ้าเราทำงานและเป็นสมาชิกกองทุนฯ ไม่ถึง 5 ปี เราต้องเอาเงินก้อนที่ 2 3 4 ไปคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามปกติ 
  • ถ้าเราทำงานและเป็นสมาชิกกองทุน 5 ปี ขึ้นไป เราสามารถเอาก้อนที่ 2 3 4 คำนวณรวมแล้วยื่นภาษีตามปกติได้ หรือ แยกคำนวณซึ่งจะเสียภาษีน้อยกว่า 

วิธีคือ เอา 7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน ได้เท่าไหร่ก็เอามาลบกับเงินรวมจากก้อนที่ 2 3 4 แล้วหาร 2  เช่น ทำงานมา 20 ปี มีเงินรวมจากก้อนที่ 2 3 4 = 1,200,000 บาท 

  • 1,200,000 - (7,000 x 20) = 1,060,000 บาท 
  • 1,060,000 /2 = 530,000 บาท คือยอดที่เราเอาไปคำนวณยื่นภาษี 
  • ถ้าเราเป็นสมาชิกกองทุนยันเกษียณอายุ 55 ปี กรณีนี้ยกเว้นภาษีได้ทั้งจำนวน ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม 

อ่านเพิ่มเติมเรื่องการคำนวณภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ที่นี่ 

ทั้งหมดนี้คือเรื่องของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ใครมีแผนจะลาออกหรือเปลี่ยนงานก็โปรดศึกษาสิทธิของตัวเองให้ดี ๆ แนะนำให้ปรึกษาฝ่ายบุคคลและ บลจ. ล่วงหน้าเพื่อที่จะวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ใครอยากศึกษาเกี่ยวกับกองทุนสำรองเพื่อการเลี้ยงชีพเพิ่มเติม สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ ก.ล.ต.คลิกที่นี่

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร