สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สงสัยว่าควรจดทะเบียนบริษัทเมื่อไหร่ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง PeerPower มีข้อมูลมานำเสนอดังนี้
- จดทะเบียนบริษัทเมื่อมีรายได้มากกว่า 750,000 บาทต่อปีขึ้นไปและต้องการสร้างเครดิตทางบัญชี
- จดทะเบียนบริษัทมี 2 ประเภท ได้แก่ ทะเบียนพาณิชย์และนิติบุคคล
- ทะเบียนพาณิชย์ เหมาะสำหรับกิจการขนาดเล็กที่มีมูลค่ากิจการไม่สูงมาก
- ทะเบียนนิติบุคคล เหมาะสำหรับกิจการที่มีผู้ประกอบการร่วมกัน 2 คน การกระทำทุกอย่างจะเป็นไปในนามกิจการ
- จดทะเบียนบริษัทมี 5 ขั้นตอน ได้แก่ ตรวจและจองชื่อบริษัท จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ รอนายทะเบียนตรวจสอบเอกสาร เตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อใช้จดทะเบียนบริษัทและสุดท้าย คือ ยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัท
จดทะเบียนบริษัทดีไหม? มีขั้นตอนอะไรบ้าง
ทำงานมาสักพักธุรกิจก็เริ่มขยับขยาย คำถามที่ผู้ประกอบการ SME จะเริ่มคิดคือ “การจดทะเบียนบริษัท” แต่ก็ยังตัดสินใจไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าจะมีผลอะไรตามมา รวมถึงไม่แน่ใจด้วยว่าตอนนี้คือเวลาที่ควรจดทะเบียนแล้วหรือยัง
ดังนั้นบล็อกนี้เราจะมาเล่าข้อดี-ข้อเสียของการจดทะเบียนบริษัทเผื่อเป็นไกด์ไลน์ช่วยตัดสินใจ เผื่อใครสงสัยว่า “จดทะเบียนบริษัทดีมั้ย” บล็อกนี้ก็อาจเป็นคำตอบ
TLDR เลือกอ่านเฉพาะบท:
- ควรจดทะเบียนบริษัทเมื่อไหร่
- ทะเบียนบริษัทมีกี่ประเภท ควรเลือกแบบไหน
- ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทอย่างไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง
- ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัทเท่าไหร่
- คำถามที่พบบ่อยเมื่อจดทะเบียนบริษัท
กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าเมื่อไหร่กันแน่ที่ควรจดทะเบียนการค้า แล้วแต่ความพร้อมของเราล้วน ๆ แต่สิ่งที่อาจใช้เป็นสัญญาณบอกความพร้อมคือ “รายรับต่อปี” ลองสำรวจตัวเองจากคำถาม 2 ข้อนี้
1. มีรายได้มากกว่า 750,000 หรือยัง?
เพราะ รายรับจะมีผลต่อเนื่องมายังภาษีที่ต้องจ่าย
ตราบที่ยังไม่จดทะเบียนบริษัท ภาษีที่ต้องจ่ายจะถูกคำนวณจากฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจเสียภาษีสูงสุดที่ 35% แต่ถ้าจดทะเบียนบริษัทแล้วภาษีจะคิดจากภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุดที่ต้องจ่ายจะอยู่ที่ 20% เทียบดูได้จากตารางด้านล่าง
ตรงนี้จะมองว่ามากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ เพราะปัจจัยในการคำนวณเงินได้ของบุคคลกับบริษัทที่ผ่านการจดทะเบียนมาแล้วมีความแตกต่างกัน
2. ต้องการสร้างเครดิตทางบัญชีเพื่ออนาคตทางการงานหรือไม่?
ถ้าอยากขยายบริษัทเพื่อความเติบโต เรื่องที่ต้องคิดต่อคือหลักฐานที่ใช้แสดงเพื่อยื่นขอสินเชื่อ เพราะสิ่งนี้จะใช้เป็นเอกสารประกอบการอนุมัติสินเชื่อ
หลักฐานที่สามารถใช้พิจารณาได้ เช่น บัญชีรายรับรายจ่าย งบการเงิน ฯลฯ เอกสารพวกนี้จะเป็นบันทึกเครดิตทางการเงินที่ดีหากต้องการทำเรื่องกู้เงินในอนาคต
การจดทะเบียนบริษัทจะทำให้ผู้ประกอบการต้องทำบัญชีอย่างเป็นระบบ แยกบัญชีรายรับ-รายจ่ายส่วนตัวออกจากบัญชีบริษัทอย่างชัดเจน สิ่งนี้จะช่วยให้เห็นตัวเลขจริงที่เกิดจากการบริหารงานของบริษัท
สมมติตัดสินใจได้แล้วว่าจะจดทะเบียนฯ เรื่องต่อมาที่ต้องคิดคือจะจดทะเบียนประเภทไหนดี เพราะการจดทะเบียนบริษัทแบ่งประเภทย่อยได้อีก 2 อย่าง ได้แก่
1. จดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนพาณิชย์ (บุคคลธรรมดา)
คือ การจดทะเบียนบริษัทของกิจการที่มีผู้ประกอบการเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว คิดเอง ทำเอง มีอิสระและสามารถตัดสินใจทุกอย่างเกี่ยวกับกิจการได้เต็มที่ เป็นการจดทะเบียนเพื่อบอกให้ชาวบ้านรับรู้ว่า ฉันทำธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
การจดทะเบียนพาณิชย์จะเหมาะกับกิจการขนาดเล็กที่ขายสินค้าหรือบริการง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก มูลค่าของกิจการไม่สูงมาก ข้อดีคือผู้ประกอบการจะได้รับกำไรเต็ม ๆ และเสียภาษีโดยคำนวณอัตราภาษีหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเท่านั้น แต่ถ้ากิจการขาดทุนก็ต้องรับผิดชอบทุกอย่างรวมถึงหนี้สินแบบไม่จำกัดเช่นกัน
ใครอยากจดทะเบียนพาณิชย์สามารถดูวิธีได้จากเว็บไซต์ ระบบจดทะเบียนพาณิชย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (คลิก)
2. จดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนนิติบุคคล
อันนี้เป็นขั้นแอดวานซ์กว่าแบบแรก เหมาะสำหรับกิจการที่มีผู้ประกอบการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน การกระทำทุกอย่างจะเป็นไปในนามกิจการทั้งหมด
ข้อดีคือ ภาษีเงินได้สูงสุดที่ต้องจ่ายจะอยู่ที่ 20% ซึ่งน้อยกว่าจดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนพาณิชย์ ส่วนข้อเสียคือ การดำเนินกิจการอาจมีความล่าช้าเพราะมีผู้ตัดสินใจหลายคน
ทะเบียนนิติบุคคลมี 3 ประเภทแบ่งตามการรับผิดชอบหนี้สิน ที่ "จำกัด" หรือ "ไม่จำกัดจำนวน"ดังนี้
2.1 ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญ
คือ กิจการที่มีผู้ประกอบการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จะจดหรือไม่จดทะเบียนนิติบุคคลก็ได้ ความรับผิดชอบของหุ้นส่วนมีประเภทเดียวเท่านั้น คือ ผู้ที่รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “ไม่จำกัดจำนวน” ผู้เป็นหุ้นส่วนสามารถตกลงทำกิจการร่วมกันและแบ่งปันกำไรจากกิจการได้ แต่ถ้ากิจการขาดทุนหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดชอบหนี้สินร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวน
2.2 ห้างหุ้นส่วนจำกัด
คือ กิจการที่มีผู้ประกอบการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล ความรับผิดชอบของหุ้นส่วนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือแบบ "จำกัด" และ แบบ "ไม่จำกัด" ผู้ที่รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “จำกัด” จะไม่สามารถตัดสินใจในกิจการได้ และผู้ที่รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “ไม่จำกัด” จะมีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในกิจการได้ทั้งหมด ถ้าหากกิจการขาดทุนห้างหุ้นส่วนจำกัดจะไม่ต้องจ่ายภาษี
2.3 บริษัทจำกัด
คือ กิจการที่มีผู้ประกอบการ 2 คนขึ้นไป ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล ความรับผิดชอบของหุ้นส่วนมีประเภทเดียว คือ ผู้ที่รับผิดชอบในหนี้สินแบบ "จำกัด" ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระ ซึ่งกิจการแบบนี้ต้องมีภาพลักษณ์ดี มีการวางแผนกิจการรัดกุม และมีการบริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการบริษัท เพื่อทำให้กิจการเกิดความน่าเชื่อถือ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ หรือ e-Registration ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมฯ (คลิก) โดยขั้นตอนอาจแบ่งได้คร่าว ๆ ดังนี้
1. ตรวจและจองชื่อบริษัท
- เข้าไปที่ เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อสมัครสมาชิกได้ฟรี
- เข้าไปที่ จองชื่อ/ตรวจทะเบียนคำขอนิติบุคคล เพื่อจองชื่อบริษัท ซึ่งสามารถทำได้มากถึง 3 ชื่อ โดยชื่อนั้น ๆ จะต้องไม่ซ้ำหรือใกล้เคียงกับบริษัทที่เคยจดทะเบียนไปแล้ว
2. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ
- หนังสือบริคณห์สนธิ คือ หนังสือแสดงความต้องการในการจัดตั้งบริษัท โดยจะต้องยื่นไม่เกิน 30 วันจากวันที่นายทะเบียนรับรองชื่อเรียบร้อย
- ข้อมูลที่ต้องใช้ในการจัดตั้งบริษัท
- ชื่อของบริษัท (ตามที่ได้จองชื่อไว้)
- ที่ตั้งสํานักงานใหญ่ / สาขา
- วัตถุประสงค์ของบริษัท
- ทุนจดทะเบียน
- ชื่อ ที่อยู่ อายุ สัญชาติ ของพยาน 2 คน
- ข้อบังคับ (ถ้ามี)
- จํานวนทุน (ค่าหุ้น) ที่เรียกชําระแล้ว อยางน้อยร้อยละ 25% ของทุนจดทะเบียน
- ชื่อ ที่อยู่ อายุของกรรมการ
- รายชื่อหรือจํานวนกรรมการที่มีอํานาจลงชื่อแทนบริษัท (อํานาจกรรมการ)
- ชื่อ เลขทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตพร้อมค่าตอบแทน
- ชื่อ ที่อยู่ สัญชาติ และจํานวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน
3. รอนายทะเบียนตรวจสอบเอกสาร
เมื่อส่งเอกสารตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ให้รอการตรวจสอบจากนายทะเบียน หากมีส่วนไหนจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมจะได้รับการแจ้งกลับ
4. เตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อใช้จดทะเบียนบริษัท
เอกสารที่ต้องเตรียมมา
- แบบจองชื่อนิติบุคคล
- สําเนาบัตรประจําตัวของผู้เริ่มก่อการและกรรมการทุกคน
- สําเนาหลักฐานการรับชําระคาหุ้นที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้น
- แผนที่แสดงที่ตั้งสํานักงานใหญ่และสถานที่สําคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป
หมายเหตุ: เอกสารทุกฉบับผู้ขอจดทะเบียนจะต้องเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องอย่างน้อยหนึ่งคน ยกเว้นสำเนาบัตรประจําตัวหรือหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อผู้ขอจดทะเบียน เจ้าของบัตรจะต้องเป็นผู้เซ็นรับรองความถูกต้องด้วยตนเอง
5. ยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัท
ยื่นคำขอได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตที่ใกล้บ้านผู้ประกอบการทุกจังหวัดทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 87 แห่ง เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนและมอบหนังสือรับรอง ก็แสดงว่าผู้ประกอบการเป็นเจ้าของบริษัทที่ได้จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
- ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ คิดจากเงินทุนแสนละ 50 บาท โดยเกณฑ์การชำระขั้นต่ำอยู่ที่ 500 บาท และขั้นสูงได้ไม่เกิน 25,000 บาท
- ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัท ตามทุนจดทะเบียนแสนละ 500 บาท ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5,000 บาท และขั้นสูงไม่เกิน 250,000 บาท
- ค่าธรรมเนียมออกหนังสือรับรอง ฉบับละ 200 บาท
- ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท
- ค่ารับรองสำเนาเอกสาร หน้าละ 50 บาท
- จดทะเบียนบริษัท ทำด้วยตนเองหรือจ้างผู้เชี่ยวชาญดีกว่า?
ตอบ: ผู้ประกอบการสามารถจดทะเบียนด้วยตนเองได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ข้อดีก็คือผู้ประกอบการจะได้เรียนเกี่ยวกับขั้นตอนการจดทะเบียนตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ถ้าผู้ประกอบการไม่อยากเสียเวลาหรือไม่อยากวุ่นวายในขั้นตอนและเอกสาร ก็สามารถจ้างสำนักงานบัญชีได้เช่นกัน
- จดทะเบียนบริษัทใช้ทุนเท่าไหร่?
ตอบ: กิจการทั่วไปไม่มีกำหนดทุนจดทะเบียน โดยปกติแล้วทุนที่ใช้มากน้อยจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับกิจการนั้น ๆ โดยมูลค่าหุ้นจะต้องไม่ต่ำกว่า 5 บาท/หุ้น
- จดทะเบียนบริษัทใช้เวลากี่วัน ?
การจองชื่อและยื่นตรวจเอกสารออนไลน์ใช้เวลาประมาณ 1 วัน และเมื่อนายทะเบียนตรวจสอบเอกสารเสร็จดำเนินการยื่นจดทะเบียนใช้เวลาประมาณ 1 วันเป็นอันเสร็จสิ้น
- จดทะเบียนบริษัท ต้องมีเงินสดไปวางตามจำนวนที่จดทะเบียนหรือไม่?
ตอบ: ก่อนอื่นผู้ประกอบการจะต้องชำระค่าหุ้น 25% ของทุนจดทะเบียน โดยส่วนที่เหลือสามารถค้างชำระไว้ก่อนได้ ยกตัวอย่างเช่น ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ต้องชำระค่าหุ้น 250,000 บาทก่อน
- จดทะเบียนบริษัท ต้องมีหุ้นส่วนกี่คน?
ตอบ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด จะต้องมีหุ้นส่วน 2 คนขึ้นไป
- เราสามารถให้พ่อแม่เป็นผู้ถือหุ้นได้หรือไม่?
ตอบ: ผู้ประกอบการสามารถให้พ่อแม่ถือหุ้นให้คนละ 1% และผู้ประกอบการถือหุ้นจำนวนที่เหลือทั้งหมด หรือตามความต้องการได้ โดยผู้ประกอบการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามกระทำแทนบริษัทแต่เพียงผู้เดียว ขอบเขตการรับผิดชอบจะไม่มากเกินกว่ามูลค่าหุ้นที่ถือเอาไว้
- ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ควรเป็นที่ไหน?
ตอบ: การจดทะเบียนบริษัทควรจะมีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่งชัดเจน จะเป็นเจ้าของเองหรือเช่าคนอื่นก็ได้ ถ้าเป็นเจ้าของเองก็ต้องทำหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่เป็นสถานประกอบการ แต่ถ้าเป็นผู้เช่าก็ต้องทำสัญญาเช่าให้ชัดเจน
- เป็น Freelance ควรจดทะเบียรบริษัทหรือไม่?
ตอบ: พิจารณาฐานภาษีที่ต้องจ่าย โอกาสของรายได้ และต้นทุน ถึงแม้บุคคลธรรมดาจะเสียภาษีสูงสุด 35% ในขณะที่นิติบุคคลเสียภาษีน้อยกว่าที่ 20% แต่ถ้าต้นทุนที่จ่ายในการทำงานไม่สามารถนำมาลดภาษีได้ การจดทะเบียนบริษัทอาจทำให้ freelance ต้องเสียภาษี 2 ต่อ คือเสียทั้งภาษีนิติบุคคลจากบริษัทตัวเองตั้ง และเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินเดือนที่ได้จากบริษัทตัวเอง กรณีนี้จะเสียประโยชน์
แต่ถ้าสมมุติคำนวณแล้วว่าต้นทุนที่จ่ายจากการทำงานแต่ละครั้งสามารถนำมาลดภาษีได้ การจดทะเบียนบริษัทอาจทำให้เสียภาษีน้อยกว่า กรณีอาจเป็นจัวหวะเหมาะที่จะจดทะเบียน
การจดทะเบียนบริษัทส่งผลดีกับบริษัทของผู้ประกอบการหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษี ความน่าเชื่อถือของธุรกิจ รวมทั้งสร้างโอกาสในการขอสินเชื่อเพื่อพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการและสร้างความถูกต้องในเรื่องของกฎหมาย เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ประกอบการศึกษาการจดทะเบียนบริษัทอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่าการจดทะเบียนย่อมสร้างประโยชน์มากกว่าโทษ
สำหรับบริษัทที่ต้องการเงินทุน PeerPower คือตัวกลางช่วยระดมทุนธุรกิจ โดยเชื่อมต่อผู้ประกอบการเข้ากับนักลงทุนผ่านระบบคราวด์ฟันดิงที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ใครที่สนใจสามารถกดดูเงื่อนไขการสมัครระดมทุนได้ที่นี่ (คลิก)
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว