อยากเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจ หาแหล่งเงินทุนยังไง ?
จากกระแสในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งในวงสนทนากับเพื่อนช่วงปีใหม่ เราจะเห็นได้ว่าหลายคนอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อาจจะเป็นแบรนด์ผลิตสินค้าต่าง ๆ เช่นเสื้อผ้า ร้านอาหาร ฯลฯ หลายคนได้แรงบันดาลใจและมีเงินทุนก็เริ่มธุรกิจได้ตามฝัน แต่หลายคนไอเดียก็ยังเป็นแค่แผนในกระดาษเพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้โปรเจคในฝันเป็นรูปเป็นร่าง แถมไม่รู้จะหาแหล่งเงินทุนจากไหน
เผื่อใครตั้งเป้าไว้ว่าจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือมีแพลนจะขยายกิจการ PeerPower เลยอยากขอเสนอแนวทางการทำธุรกิจมาให้ผู้ประกอบการลองทำตาม ในท้ายบทความเราได้ รวมแหล่งเงินทุนต่าง ๆ รวมถึงเปรียบเทียบข้อดี–ข้อเสียของแต่ละประเภท เพื่อให้ผู้ประกอบการเลือกสิ่งที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจที่สุด
3 เรื่องที่ต้องรู้หากอยากทำธุรกิจ
- รู้ปัญหาและวิธีแก้ไข
- รู้จุดแข็งธุรกิจด้วย Business Model Canvas
- รู้จักแหล่งเงินทุนมีว่ากี่ประเภท? เลือกแบบไหนให้ใช่ที่สุด
ประเด็นนี้ขอให้โฟกัสเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบการที่ต้องการจะเริ่มกิจการ และผู้ประกอบการที่เริ่มกิจการแล้ว
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเริ่มกิจการ
คำถามนี้จะเป็น checklist ตั้งต้นสำหรับธุรกิจ โดยเริ่มจากหา Promblem และ Pain Points ของตลาดปัจจุบันก่อนว่า
- ลูกค้ามองหาอะไร?
- มีช่องว่างตรงไหนบ้างในตลาดที่ยังไม่มีใครทำ?
- แล้วธุรกิจเราจะเข้ามาตอบโจทย์ยังไงได้บ้าง?
สำหรับผู้ประกอบการที่เริ่มธุรกิจมาได้สักพัก
คำถามนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าธุรกิจเรามีจุดบกพร่องตรงไหน เพราะเมื่อเริ่มธุรกิจ กิจการอาจไปได้ดี มีลูกค้าเข้าร้านสม่ำเสมอ แต่เมื่อผ่านไปสักพักผู้ประกอบการจะเจออุปสรรคที่ทำให้แผนไม่สามารถเป็นได้ตามเป้า สิ่งที่ควรทำคือ ตั้งคำถามเพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสมที่สุด อาจเป็นคำถาม เช่น
- ลูกค้าต้องการอะไรจากธุรกิจนี้?
- เรื่องที่สำคัญที่สุดของธุรกิจคืออะไร?
- ลูกค้าจะต้องการเราเพื่ออะไร?
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น บทความนี้เราจะขอยกตัวอย่างว่า ถ้าเราต้องการจะเปิดร้านกาแฟ Problem และ Solution อาจเป็นอะไรได้บ้าง
สำหรับร้านกาแฟ ปัญหาคลาสสิกซ้ำซากที่หลายร้านต้องเจออาจเป็น กาแฟไม่อร่อย ร้านแต่งเก๋ไม่พอ หรือ เมนูไม่แตกต่างจากร้านกาแฟอื่น ๆ
วิธีที่จะทราบในส่วนนี้ได้ต้องมีการเตรียมข้อมูลมาก่อน โดยทั่วไปแล้วทำได้หลายวิธี เช่นด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ทำแบบสอบถามออนไลน์ สมัยนี้มี เครื่องมือทำแบบสอบถามออนไลน์ให้ใช้ฟรี และใช้ง่ายเยอะมาก คุณสามารถไปตั้งคำถามที่คุณต้องการหาคำตอบและโพสต์แบบสอบถามกับกลุ่มเป้าหมายของคุณได้เลย
- ถามเพื่อนที่มีโปรไฟล์ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เป็นอีกวิธีที่ทำได้ง่ายมาก ๆ คนพวกนี้จะเห็น insight ที่เราในฐานะผู้ประกอบการอาจมองพลาดไป
- หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต โดยหา Insight จากชุมชนออนไลน์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้อยู่เป็นจำนวนมาก เช่นกรุ๊ปในเฟชบุ๊ค เพจรีวิว หรือดูแฮชแท็ก (hashtag #) กระแสต่าง ๆ อาจทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่าผู้บริโภคยุคนี้ต้องการอะไร
ทีนี้เมื่อตั้งคำถามเสร็จ เราอาจจะสมมุติฐานออกมาเพื่อสร้างวิธีแก้ปัญหา เช่น ในกรณีของคำถามข้อแรกที่ว่าลูกค้าต้องการอะไรจากธุรกิจเรา คำตอบอาจเป็นต้องการสร้างประโยชน์ให้ลูกค้าด้วยเราทำกาแฟอร่อยแถมส่งเร็วมาก ดังนั้นนอกจากทำเลที่ดี คุณอาจต้องมีบริการส่งฟรีรัศมี 100 เมตร หรือส่งร้อนเย็นอย่างไรก็ยังอร่อยเหมือนดื่มที่ร้าน หรือจะเน้นว่า มีกาแฟหลากหลายชนิด หลากหลายเมนู มีแพคเกจจิ้งที่เหมาะกับการนำกลับบ้าน มีเมนู Signature หรือมีเครื่องดื่มเฉพาะฤดูกาล ฯลฯ
โมเดลธุรกิจส่วนมากที่เขียนกันหลายหน้ากระดาษกลับไม่ค่อยมีใครมานั่งอ่านจริงจัง สิ่งที่ผู้ให้เงินทุนตัดสินใจไม่ใช่โมเดลธุรกิจที่ฟังดูอลังการ เพราะต่อให้ฟังดูอลังการเท่าไหร่หากไม่สามารถทำจริงได้ ธุรกิจนั้นก็มีแนวโน้มเจ๊งอยู่ดี ดังนั้นเราขอแนะนำผังโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่เขียนแค่ 1 หน้ากระดาษแต่อธิบายธุรกิจได้ครบถ้วน
Business Model Canvas คือ แผนผังที่ใช้สำหรับตอบทุกคำถามในการทำธุรกิจ แบ่งออกได้เป็น 9 ช่อง ครอบคลุม 9 ประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เพื่อที่จะใช้วางแผนสร้างหรือขยายธุรกิจได้ ผังนี้มีประโยชน์มากเพราะจะทำให้ผู้ประกอบการและผู้ให้เงินทุนเห็นภาพรวมของทั้งหมดของธุรกิจ แถมเป็นเครื่องมือให้ทุกคนสามารถมาระดมสมองได้
เหมือนเดิม เราจะขอยกตัวอย่างว่า ถ้าเราต้องการจะเปิดร้านกาแฟต้องทำ Business Model Canvas ยังไง
1. กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย: Customer Segments
Customer Segments คือ การแบ่งกลุ่มลูกค้าและระบุให้ได้ว่าใครคือลูกค้าของเรา เมื่อเรารู้แล้วว่าผลิตภัณฑ์ที่จะนำเสนอคืออะไร ให้ลองมาจับกลุ่มดูว่าธุรกิจของเราตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มไหน ไอเดียในการแบ่งกลุ่ม เช่น
- ลูกค้าเป็นธุรกิจหรือลูกค้าผู้บริโภคทั่วไป (End User)
- ลูกค้า Mass Market หรือ Niche Market
- แบ่งกลุ่มตามฐานรายได้ กำลังซื้อ
- แบ่งกลุ่มตามลักษณะส่วนบุคคล เช่น อายุ เพศ อาชีพ ฯลฯ
ถ้ากำหนดในส่วนนี้ได้ การสร้างธุรกิจก็จะง่ายขึ้น เพราะทราบว่าขายให้ใคร สเกลของกลุ่มลูกค้ามีมากน้อยเท่าไหร่ มีกำลังซื้อหรือไม่ หรือยอมจ่ายได้เท่าไหร่ ผู้ประกอบการอาจลองทำ Buyer Persona เพื่อให้เห็นภาพลูกค้าก็ได้เหมือนกัน ซึ่งในธุรกิจเดียวอาจมีลูกค้าหลาย Segment ก็ได้ ตามแต่ว่าสินค้านั้นตอบโจทย์ลูกค้าได้กี่กลุ่ม
สมมุติ ร้านกาแฟ PeerPower Coffee ตั้งอยู่ในย่านออฟฟิศ ลูกค้าของคุณคือกลุ่ม End User เป็นพนักงานออฟฟิศ ที่มีเวลาไปร้านกาแฟแค่เช้ากับพักกลางวัน คุณก็จะเห็นภาพแล้วว่า ร้านกาแฟของคุณไม่จำเป็นต้องเป็นร้านขนาดใหญ่ ตกแต่งอลังการ คุณอาจเปิดเป็น Kiosk เล็ก ๆ เรียบง่าย เน้นบริการที่รวดเร็วและมีบริการส่งถึงที่ทำงานในตอนบ่าย เป็นต้น
2. คุณค่าที่แตกต่าง: Unique Value Proposition
เมื่อได้กลุ่มลูกค้าที่ต้องการมาแล้ว ต่อไปคือดูว่าผลิตภัณฑ์ของเราตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ได้มากกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ อย่างไร คำถามนี้อาจจะตอบยากเพราะการสร้างคุณค่าของแบรนด์ต้องเป็นสิ่งพิเศษแบบที่ใครไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ทั้งในแง่สินค้าและบริการ
กรณีของร้านกาแฟ คุณค่าของแบรนด์ที่ทำให้ลูกค้าติดใจอาจเป็น กาแฟกลิ่นหอมพิเศษเพราะคัดสรรมาจากป่าลึก กาแฟคุณภาพดีราคาถูก กาแฟที่ใช้เมล็ดออร์แกนิกจากเกษตรกรรายย่อย ใส่ในถ้วยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือคุณค่าในแง่ของการบริการ เช่น ส่งไวมากน้ำแข็งไม่ละลาย ลูกค้านั่งในร้านได้นานเท่าไหร่ก็ได้ ฯลฯ
3. Channels: ช่องทางการขายและประชาสัมพันธ์
ช่องทาง คือ เครื่องมือในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย คิดง่าย ๆ ว่าลูกค้าจะเจอเราผ่านแพลตฟอร์มอะไร อาจเป็นหน้าร้านหรือสื่อโซเชียลมีเดีย ฯลฯ ผู้ประกอบการต้องเข้าใจว่าลูกค้าเสพสื่อแบบไหนหรือรับสารผ่านช่องทางอะไรบ้าง เพื่อสร้าง Search and Discovery Process ให้ลูกค้าเจอเราได้ง่ายที่สุด
หรือจะผสมผสานช่องทางการขายเป็นแบบ Omnichannel ทั้ง Offline และ Online ก็ได้อีกเช่นกัน หากพิจารณาแล้วว่าเหมาะกับธุรกิจของตัวเองที่สุด
กรณีร้านกาแฟ เห็นภาพชัดสุดในปัจจุบันคือ อาจจะมีหน้าร้านสำหรับลูกค้า walk-in แต่ก็อยู่ในแพลตฟอร์มให้ลูกค้ากดสั่งจากแอปพลิเคชั่นได้ด้วย
4. ช่องทางสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า: Customer Relationships
เคยมีคนบอกว่าเครื่องมือการตลาดที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดคือการบอกปากต่อปาก แนวคิดนี้เช่นเดียวกัน ลองคิดว่า ธุรกิจมีวิธีในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างไร เพื่อให้เกิดการใช้สินค้าบริการต่อเนื่อง และทำยังไงให้เขาแนะนำร้านเราให้เพื่อนมาซื้อ
กรณีร้านกาแฟสีเขียวชื่อดัง ธุรกิจสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยระบบสมาชิกสะสมแต้ม กับอีกวิธีง่าย ๆ แต่สร้างความรู้สึกพิเศษให้ลูกค้าคือการเขียนชื่อข้างแก้ว นึกภาพการที่พนักงานจำชื่อเครื่องดื่มของเราได้โดยที่ไม่ต้องสั่ง หรือได้ส่วนลดพิเศษเพราะเป็นลูกค้าประจำ ลูกค้าหนียากแล้วแบบนี้
5. โครงสร้างรายได้: Revenue Streams
โมเดลรายได้ของธุรกิจมีหลากหลายรูปแบบ แต่ธุรกิจต้องมองให้ออกว่า เราจะสร้างรายได้ด้วยวิธีการใด เช่น จากส่วนแบ่งจากค่าสินค้าบริการ จากค่าสมาชิก หรือจากค่าโฆษณา คำตอบนี้จะช่วยให้ผู้ให้เงินทุนมั่นใจและอนุมัติเงินให้
6. ทรัพยากรของบริษัท: Key Resources
ทรัพยากร คือ เครื่องมือหรือสิ่งของที่ผู้ประกอบการต้องมีเพื่อสร้างธุรกิจ อนุมานได้หลายอย่าง เช่น เงินลงทุน เทคโนโลยี เครื่องมือ พนักงาน วัตถุดิบ โรงงานผลิตสินค้า ฯลฯ ต้องพยายามลิสต์มาให้หมดว่าใช้อะไรบ้าง เพื่อที่จะวางแผนได้อย่างรัดกุม
กรณีร้านกาแฟเจ้าเดิมของเรา สิ่งที่ต้องการแน่ ๆ คือ วัตถุดิบ เมล็ดกาแฟ เครื่องทำกาแฟ บรรจุภัณฑ์ หน้าร้าน ฯลฯ
7. กิจกรรมที่ขับเคลื่อนธุรกิจ: Key Activities
คือ การมองว่างานหลักของธุรกิจคืออะไร เมื่อเทียบกับคู่แข่งเป็นอย่างไร จะสามารถสร้างกิจกรรม หรือ Solutions ใหม่ ๆ ให้ลูกค้าได้อย่างไรบ้าง และจะวัดผลได้ยังไง
สำหรับร้านกาแฟ กิจกรรมหลักของเราคงเป็นการขาย การสั่งซื้อ และวัดผลโดยจำนวนลูกค้าที่มาซื้อซ้ำ หรือจำนวนที่ขายได้ต่อวัน การวัดผลช่วยให้เจ้าของกิจการรู้ว่าควรไปต่อหรือพอแค่นี้
8. พันธมิตรและคู่ค้า: Key Partners
ในบรรดาทุกอย่างที่เราต้องทำ จะต้องมีใครบ้างเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะคนเหล่านี้คือหุ้นส่วนทางธุรกิจที่จะมาช่วยส่งเสริม หรือเติมเต็มให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น
ร้านกาแฟมีพาร์ทเนอร์แน่ ๆ คือ ธุรกิจที่ขายเมล็ดกาแฟ ร้านขายแก้วกาแฟ หรืออาจรวมไปถึงธุรกิจเดลิเวอรี แต่นอกจากนี้ร้านกาแฟยังสามารถหาไอเดียเป็นพันธมิตรด้านอื่น ๆ เพื่อช่วยเสริมสร้างโอกาสการขายได้เพิ่มขึ้น เช่น พาร์ทเนอร์กับออฟฟิศแถวนั้นเพื่อให้ส่วนลดพนักงานออฟฟิศเป็นพิเศษ หรือพาร์ทเนอร์กับบาริสตาร์คนดังเพื่อออกเมนูใหม่ ๆ ซึ่งพันธมิตรเหล่านี้จะช่วยสร้างจุดแข็งให้ธุรกิจของเรายิ่งขึ้นได้
9. ค่าใช้จ่าย: Cost Structure
คุณควรลิสต์รายการของค่าใช้จ่ายทั้งหมดเท่าที่จะคิดได้ ทั้งค่าใช้จ่ายหลักและค่าใช้จ่ายแฝง เพื่อรู้ว่าภายในหนึ่งเดือนคุณต้องใช้เงินเท่าไหร่ และเงินเก็บที่มีทั้งหมดสามารถดำเนินธุรกิจได้มากที่สุดกี่เดือน คุณควรคิดเผื่อในกรณีฉุกเฉินด้วย เช่น เครื่องทำกาแฟเสีย ต้องซื้อใหม่ เจ้าของที่ขึ้นค่าเช่า ฯลฯ จากนั้นคุณสามารถนำรายได้และค่าใช้จ่ายมาคิดจุดคุ้มต้นทุนได้
ทาง TCDC ได้ทำวิดีโออธิบาย Business Model Canvas อย่างง่าย ๆ พร้อมยกตัวอย่างเคสประกอบ ลองดูตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นได้ตามคลิป
มาถึงคำถามสุดท้ายที่เชื่อว่าทุกคนอยากจะรู้คำตอบ เมื่อเริ่มคิดถึงทำการธุรกิจส่วนตัว ร่างแผนเสร็จเรียบร้อยพร้อมเสนอ คำถามต่อมาคือ “จะหาเงินทุนอย่างไร แหล่งเงินทุนไหนให้โอกาสธุรกิจเล็ก ๆ บ้าง?"
ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จและมีประสบการณ์มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "การหาเงินทุนไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งที่ยากกว่าคือการหา product/market fit" (บัญญัติโดย Marc Andressen) แปลตรง ๆ ก็คือหาเงินน่ะไม่ยากหรอก ที่ยากก็คือสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดต่างหาก ถ้ามันเจ๋งจริงใครก็อยากร่วมทุน
แต่ PeerPower เชื่อว่าสิ่งแรกที่ยากที่สุดคือตอนเริ่มนั่นแหละ เพราะยากมาก (ก.ไก่ล้านตัว) ที่จะมีคนให้เงินธุรกิจที่ยังไม่มีผลประกอบการให้เห็นชัดเจน แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะเราจะมาบอกว่าความจริงแล้วแหล่งเงินทุนที่พร้อมสนับสนุนธุรกิจของคุณนั้นมีแน่ ๆ ถ้าเข้าถูกทาง และเราจะกำลังจะบอกหมดเปลือกว่ามีทางเลือกอะไรที่เป็นไปได้บ้างหากคุณต้องการเงิน
1. เงินออม
หากคุณได้ทำการคำนวณค่าใช้จ่ายและเห็นว่าเงินออมของคุณสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ประมาณ 6 เดือน-1 ปีโดยไม่เดือดร้อน ก็ขอแสดงความยินดีด้วย คุณอาจจะเริ่มใช้เงินออมของคุณในการเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรใช้เงินออมทั้งก้อน ควรจะแบ่งมาใช้เพียงครึ่งเดียว
2. ขอยืมจากพ่อ แม่ หรือคนใกล้ชิด (ในกรณีที่ท่านมีกำลังทรัพย์พอ)
สำหรับใครที่ไม่มีเงินเก็บมากนักแต่มีความตั้งใจทำธุรกิจจริง ๆ คุณอาจขอยืมคนใกล้ตัวที่มีกำลังทรัพย์และไม่ได้เผชิญความลำบากทางการเงินอยู่ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่คิดดอกเบี้ย คุณอาจจะให้คนในครอบครัวของคุณมีหุ้นในธุรกิจ ในกรณีที่ธุรกิจของคุณไปได้ดี มีกำไร คุณสามารถแบ่งปันผลให้คนที่ช่วยเหลือคุณในตอนเริ่มต้นได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม การใช้เงินคนใกล้ชิด (หรือเงินของตัวเองก็ตาม) มาทำธุรกิจนั้น ควรระวังอย่าให้เรื่องส่วนตัวและเรื่องธุรกิจปะปนกันไปหมด หลายคนต้องเสียความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดเพราะเรื่องเงินทอง ดังนั้นควรทำบัญชีแยกเงินส่วนตัวและธุรกิจออกจากกันให้เป็นเรื่องเป็นราว
3. ขอสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อธุรกิจ หรือสินเชื่อเพื่อ SME
แตกต่างกันนิดหน่อยแต่กระบวนการคล้ายกัน โดยทั่วไปสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารต่าง ๆ จะปล่อยกู้เงินอย่างถูกกฎหมายให้คนที่ต้องการเงินก้อน ตามหาเงินทุน ไปใช้จ่ายทำธุรกิจต่าง ๆ มีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับรอง แต่จะมีเงื่อนไขจุกจิกและมักมีกฎเกณฑ์ไม่ยืดหยุ่น เช่น สำหรับผู้ต้องการเริ่มต้นธุรกิจธนาคารจะขอดูผลประกอบการและการเดินบัญชีอย่างต่ำ 2-3 ปี ต้องมีหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน โดยวงเกินในการขอสินเชื่อก็จะขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่นำไปค้ำ
หรือกรณีเช่น ธุรกิจบริการ หรือธุรกิจสตาร์ทอัพเทคโนโลยีที่ไม่มีเครื่องจักรหรือที่ดินเป็นของตนเอง อาจจะขอสินเชื่อประเภทนี้ยาก ทำให้ต้องหันไปพึ่งสินเชื่อส่วนบุคคลหรือใช้บัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 15-28% ต่อปี และมักมีวงเงินน้อยไม่ค่อยพอเพียงสำหรับการทำธุรกิจ
4. บัตรเครดิต
รูดก่อนผ่อนทีหลัง คือคำอธิบายที่ชัดเจนที่สุด ข้อดีคือได้เงินเร็ว ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ข้อเสียก็มีมากมาย เช่น วงเงินค่อนข้างจำกัด และสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยมักไม่สามารถขอบัตรเครดิตสำหรับธุรกิจได้ เมื่อใช้บัตรเครดิตส่วนบุคคลก็เสี่ยงที่เงินสำหรับใช้ส่วนตัวและเงินสำหรับธุรกิจปนบัญชีกันไปหมด ในระยะยาวจะมีผลต่อการพิจารณาเครดิตหากต้องการกู้เงิน
5. Angel Investor
Angel Investor คือ นักลงทุนอิสระที่มีเงินทุนและประสบการณ์ มองหาธุรกิจที่จะช่วยให้เงินลงทุนของตนเองนั้นงอกเงยได้ ส่วนใหญ่นักลงทุน Angel ลงทุนเพราะเชื่อในไอเดียและทีมงาน Angel Investor จะให้เงินก้อนหนึ่งเพื่อเป็นการเริ่มต้น หรือที่เราเรียกว่า Seed Funding ฟังดูดีสมเป็นเทวดา แต่ในความเป็นจริง การตามหา Angel Investor เป็นเรื่องไม่ง่าย และถึงหาเจอ ก็อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกับกันในเรื่องของทิศทางการดำเนินงาน ดังนั้นถ้าใครหาเจอและตรงควาามต้องการทุกอย่างถือว่าโชคดีมาก ๆ
6. Venture Capital (VC)
VC คือ กลุ่มองค์กรที่รวบรวมเงินจากกลุ่มคนหรือบริษัทที่ต้องการลงทุนและทำหน้าที่บริหารเงินกองทุนนั้นโดยการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยระยะเวลาการลงทุนจะอยู่ที่ 3-5 ปี และมักให้เงินลงทุนที่สูงกว่า Angel Investor แต่ก็จะแลกกับสัดส่วนของหุ้นหรือเงินปันผลที่มากขึ้นด้วย รวมถึงการมีอำนาจในการตัดสินใจต่าง ๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกันไว้ ส่วนใหญ่ VC จะมองหาธุรกิจที่มี traction ซึ่งหมายถึงรายได้ หรือจำนวนผู้ใช้ในระดับหนึ่ง ฉะนั้นทางเลือกนี้อาจจะไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการเริ่มธุรกิจใหม่
7. ขายฝาก
ข้อนี้เป็นทางเลือกสำหรับคนที่มีหลักทรัพย์ การขายฝากคือ การที่เรานำหลักทรัพย์ไปขายและโอนกรรมสิทธิ์แก่เจ้าหนี้เพื่อแลกกับเงินทุน เราจะได้หลักทรัพย์และกรรมสิทธิ์คืนก็ต่อเมื่อนำเงินไปไถ่ถอนได้ครบตามสัญญาที่ตกลง ข้อดีคือได้วงเงินโดยสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 70% ของราคาประเมิน แต่ก็ต้องเสียกรรมสิทธ์ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินหรือหลักทรัพย์ได้เพราะถือว่าขายให้เขาไปแล้ว การขายฝากจึงไม่เหมาะกับธุรกิจที่ต้องการใช้กรรมสิทธิ์ของหลักทรัพย์ที่มีอยู่
8. จำนอง
จำนองคือ การที่เราเอาหลักทรัพย์ไปค้ำประกันเพื่อขอกู้ยืมเงิน แต่ไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้กับเจ้าหนี้ ข้อดีคือไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์หลักทรัพย์ สามารถใช้ประโยชน์ของที่ดินหรือหลักทรัพย์ได้ตามเดิม ข้อเสียคือมักได้เงินน้อยกว่าเมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ เราเคยเขียนเกี่ยวกับข้อแตกต่างของการขายฝากและการจำนองแบบละเอียดลองอ่านเพิ่มเติมได้
9. ระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding)
เมื่อก่อนหลายคนอาจตรงไปหาธนาคารถ้าต้องการเงิน แต่ปัจจุบันธนาคารไม่ใช่แหล่งเงินทุนเดียวที่มอบโอกาสให้ผู้ประกอบการ เพราะยุคนี้มีเว็บไซต์มากมายที่คุณสามารถนำเสนอโปรเจคของคุณและเปิดให้ระดมทุนจากบุคคลทั่วไป ในต่างประเทศมีเว็บไซต์ เช่น Indigogo, Kickstarter, Gofundme ฯลฯ รองรับผู้ประกอบการ
สำหรับในไทย PeerPower เองก็เป็นผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบหนึ่ง (ลองอ่านเกี่ยวกับประโยชน์ขางการทำคราวด์ฟันดิงเพื่อผู้ประกอบการได้ที่นี่) ซึ่งเป็นช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจที่จดทะเบียนในรูปแบบบริษัทจำกัด ด้วยวิธีการเสนอขายหุ้นกู้ (อธิบายง่าย ๆ ว่าเป็นการกู้ยืมจากบุคคลทั่วไปโดยมี PeerPower เป็นตัวกลางดูแลนั่นเอง) นอกจากนั้นการระดมทุนยังมีหลากหลาย ผู้ประกอบการสามารถเลือกดูผลิตภัณฑ์ของเราได้ว่าต้องการเงินทุนในระยะสั้น - ยาว เพื่อต่อยอดธุรกิจ หรือถ้าไม่แน่ใจก็สามารถปรึกษาเราได้ฟรีที่นี่
และนี่ก็คือเทคนิคเบื้องต้นสำหรับคนที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือผู้ประกอบการที่อยากขยายธุรกิจ ใครทำแล้วได้ผลเป็นยังไงมาเล่าให้ฟังด้วยนะคะ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว