Software Engineer กับมายด์เซ็ทที่จะทำให้อาชีพเติบโตอย่างมั่นคง
เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ต้องรู้จัก วิศวกรรมซอฟต์แวร์ หรือ Software Engineer หนึ่งในอาชีพที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูง สวนทางกับจำนวนแรงงานที่ยังคงมีอยู่จำกัด อีกทั้งวิกฤตโควิด-19 ยังทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล (Digital Transformation) แต่ถึงจะมีความต้องการสูง การจะประกอบอาชีพนี้ก็ต้องมาพร้อมกับมายด์เซ็ทสำคัญ ที่จะทำให้อาชีพเติบโตอย่างมั่นคงใน EP02 ของซีรีส์ ‘PeerPower Team’ เพียร์ พาวเวอร์ได้คุยกับ เอก-ชวภณ วิทยาไพศาล Tech Lead มากประสบการณ์ในทีมของ PeerPower ที่จะมาบอกเล่าบทบาทของวิศวกรรมซอฟต์แวร์ในโลกปัจจุบัน
Software Engineer ของที่นี่มีหน้าที่อะไรบ้าง?
หลักๆ คือการเขียนโปรแกรม (Coding) ตามที่เรามี requirement ให้มา ต้องมอบงานทันตามที่กำหนด และเราก็จะมีมาตรฐาน เพราะว่าเราทำเกี่ยวกับการเงิน เราเป็นสตาร์ทอัพ ทุกอย่างมันสร้างมาได้ด้วยความน่าเชื่อถือ ถ้ามันเกิดปัญหาจริงๆ บนระบบ เกี่ยวกับตัวเลขหรือการเงิน มันจะเสียความน่าเชื่อถือได้แบบง่ายๆ เลย นึกภาพง่ายๆ เลยก็โอนเงินแล้วเงินไม่ถึงธนาคาร ถ้าคนไม่เชื่อในระบบเรามันก็คงไม่มีใครมาลงทุน ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือเป็นสำคัญ ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจสิ่งที่ต้องทำด้วย ต้องเข้าใจว่าเป้าหมายของเราคืออะไร ว่าพวกเรากำลังจะวิ่งไปที่ไหน ต้องไปกันเป็นทีม
เพียร์ พาวเวอร์ต้องการ Software Engineer แบบไหน?
เราเคยเจอโปรแกรมเมอร์ที่สั่ง A,B,C ก็ทำ A,B,C ที่นี่เราจะต้องการสูงกว่านั้น ก็คือให้ทำ A,B,C แล้วจะเกิดการสานต่อว่า A,B,C นี่จะไปเกิดอะไรต่ออีกได้บ้าง มีโอกาสจะเกิด D เพิ่มมาไหม หรือถ้าไม่ทำ A,B,C ทำยังไงให้มันดีขึ้น พวกนี้คือสิ่งที่ Engineer ของ PeerPower ต้องทำ อีกอย่างคือที่นี่เราค่อนข้างเปิดกว้างทางแนวคิด ถ้ามีคนบอกว่าภาษาโค้ดที่เราใช้อยู่มันไม่เวิร์กเลยอยากเปลี่ยนภาษา ก็สามารถนัดคุยได้ ถ้ามีเหตุผลก็พร้อมเปลี่ยนเสมอ ต้องไม่ใช่แค่เพราะภาษามันใหม่มันเท่ ต้องมีเหตุผล เช่นทดลองใช้แล้วรู้ว่ามันสามารถทำอะไรได้มากกว่า
อยากให้แนะนำกิจกรรมสำคัญที่ช่วยให้ทีมเดินหน้าต่อไปได้
สำหรับ Engineer การทำ Stand-up Meeting เป็นสิ่งหนึ่งที่แนะนำให้ใช้ เพราะว่าแต่ละคนจะได้รู้ว่าติดปัญหาอะไร ทุกเช้าที่นี่จะมีการนัดคุยกันเป็น Stand-up Meeting ประมาณ 15 นาที ให้ทุกคนอัปเดตงานของตัวเอง เมื่อวานทำอะไร วันนี้ทำอะไร ติดปัญหาอะไร มันเป็นสิ่งที่เหมือนสื่อสารสองทาง (Two-way communication) มาแชร์ว่าพวกเรากำลังทำอะไรอยู่ ติดปัญหาอะไรอยู่ เมื่อเรารู้ก็อาจจะช่วยแนะนำกันได้ ก็จะเร็วขึ้น
การประชุม Stand-up Meeting ของทีมในแต่ละวัน
มีตารางการทำงานในแต่ละวันอย่างไร?
หลังจาก Stand-up Meeting น้องแต่ละคนก็จะหยิบงานของตัวเองไปทำ และถ้าทำเสร็จแล้วก็จะให้เรารีวิว พอรีวิวว่ามีตรงไหนที่ต้องแก้ ก็จะเรียกมาคุยกันว่าจุดนี้ที่เขาเขียน พี่ปรับเป็นแบบนี้เพราะอะไร พี่คิดแบบนี้ และเขาที่เขียนแบบนั้น เขาคิดยังไง ก็จะมาแลกเปลี่ยนความคิด จะมีบางครั้งที่เราดูผิด รีวิวผิดแล้วน้องทักท้วงกลับมา เราก็ยอมรับแล้วขอโทษ การคุยกันไม่ใช่ว่าเขาต้องทำตามที่เราบอกเสมอ บางทีก็จะมีคุยแบบ 1 ต่อ 1 ถามสารทุกข์สุขดิบ เราก็จะให้ Feedback น้องว่าควรจะพัฒนาเรื่องอะไร สิ่งหนึ่งที่เราพยายามก็คือให้น้องให้ Feedback เราบ้าง (ขำ) เราทำอะไรไม่ดี เราต้องทำอะไรเพิ่มไหม เราช่วยดีพอหรือยัง อยากให้เราซัพพอร์ตอะไรอีก เขามองว่าภาพรวมของทีมโอเครไหม อันนี้คือสิ่งที่เราพยายามคุยกับน้องบ่อยๆ
ทำงานกับเพียร์ พาวเวอร์ มานานแค่ไหนแล้ว?
จะครบ 3 ปีในเดือนกรกฎาคมของปีนี้แล้วครับ ก่อนหน้านี้ไม่เคยอยู่ที่ไหนเกินปีครึ่ง
ทำไมถึงอยู่กับที่นี่นานกว่าที่อื่น?
ที่นี่มีความท้าทายที่โหยหา พออยู่แล้วอยากรู้ว่าคนที่นี่เขาแก้ปัญหายังไง คิดยังไงให้สิ่งที่ทำอยู่มันดีขึ้นไปอีก แล้วถ้ามองในมุมคนก็ท้าทายกว่าแต่ก่อนเยอะ แต่ก่อนเราเป็นคนชอบสอนคนอื่นอยู่แล้ว แต่พอมาที่นี่มันไม่ใช่แค่สอนให้ทำงานได้ เมื่อก่อนเราแค่สอนให้น้องในทีมเข้าใจว่าต้องเขียนโค้ดแบบนี้ แต่ตอนนี้ความยากคือสอนให้คิดเป็นได้ยังไง มันไปอีกขั้นที่แตกต่างจากแต่ก่อน เป้าหมายของการสอนที่นี่คือสอนเพื่อให้คนอื่นดีไปได้ด้วยกัน ทำไปได้ด้วยกัน เพราะงั้นมันก็เลยจะเปลี่ยนวิธีการใหม่ ค่อนข้างจะท้าทายกว่าแต่ก่อนเยอะ
โปรเจกต์ล่าสุดที่เพียร์ พาวเวอร์ คืออะไร?
ตอนนี้ที่ทำอยู่ก็เป็นเรื่องฟังก์ชัน Report ของนักลงทุน ตอนนี้เรามีโปรดักต์หลายตัวในระบบ แล้วเราก็มีโปรดักต์ใหม่ เพราะงั้นนักลงทุน 1 คนสามารถลงทุนหลายๆ อย่างได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เขาต้องการที่จะเห็นข้อมูลพวกนี้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน เหมือนแบบเราลงทุนโปรดักต์ A / B / C เราอยากได้ Report ที่มันสามารถดูได้ในอันเดียวว่าเราลงทุนในแต่ละอันแล้วได้อะไรเท่าไหร่บ้างอีกอย่างที่ทำอยู่ก็คือพัฒนาระบบ KYC (Know your customer) ของนักลงทุน เมื่อก่อนจะเป็นแบบ manual ที่เราต้องมีแอดมินคอยควบคุม มันเลยทำให้ช่วงที่นักลงทุนสมัครมาเยอะ แอดมินจะทำไม่ทันจนระบบช้า ทีนี้เราก็เลยต้องไปหาทางว่าจะทำยังไงให้ระบบของเราเป็น e-KYC เพื่อให้แอดมินเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องน้อยที่สุด ตอนนี้เราทำไปแล้ว 1 เฟส ซึ่งทำแล้วเห็นผลเยอะมาก ในอนาคตจะทำให้มันอัตโนมัติขึ้นไปอีก
คิดยังไงกับ Software Developer ในประเทศไทย
เรามองว่าคนไทยสนใจสายนี้ค่อนข้างเยอะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถ้าเป็นช่วงสมัยที่เรายังเรียนอยู่ คนส่วนใหญ่จะหนี ไม่อยากทำ แต่ช่วงหลังๆ เริ่มเป็นกระแสขึ้นมา พี่ว่ามาจากความต้องการของตลาด ซึ่งทำให้คนหันมาสนใจ หรือเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันเริ่มไปไกล คนที่สนใจก็น่าจะเริ่มอยากทำกันเอง เราว่ามันทำให้ตลาดมีคนที่หลากหลายจุดหนึ่งที่เราคิดว่า developer ในไทยยังพัฒนาไปได้อีกก็คือคนส่วนใหญ่ทำตามคำสั่งเฉยๆ เขาจะไม่ค่อยคิดนอกกรอบและต่อยอดไปได้ไกลกว่านั้น ถ้า developer ส่วนใหญ่คิดในอีกมุมที่มันดีขึ้นได้ คิดว่าเราจะพัฒนาตัวเองไปได้ยังไง ทำยังไงให้งานมันดีขึ้น และมายด์เซ็ทพวกนี้มันก็จะกลับมาพัฒนาตัวเราเอง บางคนอาจจะมองว่างานให้ทำแค่นี้ก็ทำแค่นี้แหละ แทนที่จะมองว่างานให้ทำเท่านี้ทำยังไงให้มันดีขึ้นกว่าเดิม เพราะถ้าดีกว่าเดิมได้ สิ่งที่เราได้กลับมาสุดท้ายมันก็คือประสบการณ์ของเราเอง อันนี้คือสิ่งที่อยากให้ทุกคนมี เหมือนค่านิยมคนไทยแต่ก่อนคือเรียนให้มีงานทำ บางคนก็คิดแค่นั้น แล้วพอมาทำจริงก็ทำไม่ไหว ถ้าเราพยายามแล้วมีมายด์เซ็ทที่ดีกับสายงานนี้ เราก็จะไปได้อีกไกลมากเลย เราว่า software developer คนไทยเก่งๆ มีเยอะเลย แต่อยู่เมืองนอก เราเห็นหลายคนออกมาแชร์ความคิดว่าทำไมถึงไปอยู่จุดนั้นได้ ซึ่งเราเห็นว่าในไทยยังมีแนวคิดแบบนั้นน้อย ถ้าเปลี่ยนความคิดได้ เราว่าทุกคนจะไปได้ไกลมาก
ติดตาม Software Developer คนไหนบ้าง?
คนที่ตามดูบ่อยๆ ก็อย่างเช่น หนูเนย (FB page: nuuneoi.com) กับ นายอาร์ม (FB page: นายอาร์ม) พวกเขาจะมีแนวคิดในการทำงาน จะพยายาม challenge ตัวเองไปเรื่อยๆ พยายามศึกษาหาความรู้ เวลาผิดก็ยอมรับว่าผิด แล้วมาคิดว่าทำยังไงให้มันดีขึ้น จะแก้ปัญหาที่เคยเจอยังไงให้ดีขึ้น ซึ่งถ้าอยากเติบโตในสายนี้เรารู้สึกว่าต้องเปิดกว้างและต้องรับ Feedback พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยความที่เทคโนโลยีมันวิ่งเร็วมาก มันเลยต้องใช้การเปิดกว้างเพื่อที่เราจะได้ตามคนอื่นทันได้
COVID-19 ส่งผลกระทบกับการทำงานยังไงบ้าง?
ส่งผลกระทบในมุมของการสื่อสารกัน เพราะแต่ละคนทำงานกันอยู่ที่บ้าน บางคนก็ไม่ถนัดที่จะทำงานที่บ้าน ทำแล้วอาจจะรู้สึกไม่ค่อยเวิร์กเพราะที่บ้านไม่มีมุมทำงาน ก็เลยไม่อยากคุย กลัวเปิดไมค์แล้วเสียงคนในบ้านจะแทรกเสียงคนอื่น อีกส่วนหนึ่งก็คือพอเราทำเป็นออนไลน์มันทำให้เราไม่เห็นหน้ากัน พอเราไม่เห็นบางทีพอพิมพ์ text เขาอาจจะเข้าใจความหมายเราผิดก็ได้ พี่ว่าอันนี้คือปัญหาอีกส่วนหนึ่ง อันนี้ก็อาจจะเป็นปัญหาหลักๆ ของการทำงานตั้งแต่เจอโควิด
คำแนะนำสำหรับช่วง COVID-19
แนะนำว่าอย่างน้อยๆ ต้องมีมุมในการทำงานที่ชัดเจน มีโต๊ะ มีเก้าอี้ที่มันนั่งแล้วไม่ปวด ส่วนการ communicate ก็ควรคุยกันบ่อยๆ แต่ไม่ใช่ว่าต้องคุยกันตลอดเวลา คืออาจจะคุย 5-10 นาทีต่อรอบหนึ่งก็ยังดี จะได้อัปเดตว่าเป็นยังไงบ้าง อันนี้คือสิ่งที่มันช่วยได้ ช่วงหลังๆ เราใช้ Discord ในการคุยกับน้องๆ พอเราอยากคุยก็เปิดเข้าไปเลย แล้วก็ดึงน้องมาถามว่าเป็นยังไงบ้าง มันดีตรงที่ใช้เสียงคุยกันได้เลย ดีกว่าการคุยนั่งพิมพ์ พี่ในทีมแนะนำให้ใช้ เหมือนเล่นเกมเลย (ขำ) เปิดห้องไว้ ใครจะมาก็เข้ามาคุยได้
ห้อง Discord ของทีม Tech
เพียร์ พาวเวอร์ มองหาวิศวกรรมซอฟต์แวร์มาร่วมทีมเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่นักลงทุน-เจ้าของธุรกิจ ในการเข้าถึงโอกาสทางการเงินได้ง่ายขึ้น เพื่อที่เราจะได้เติบโตไปด้วยกัน สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่