เจาะลึกตลาด จาก Stagflation สู่ Recessionแนวทางการลงทุนช่วงเศรษฐกิจผันผวน
เศรษฐกิจปัจจุบันราคาสินค้ารอบตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่เศรษฐกิจโลกในภาพรวมเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่องทั้งจากโรคระบาดโควิด-19 ตามมาติด ๆ ด้วยสงครามรัสเซียยูเครน ส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตสวนทางกับต้นทุน ในภาวะเช่นนี้ เจ้าของกิจการและนักลงทุนควรปรับกลยุทธ์การบริหารและการลงทุนอย่างไร เพียร์ พาวเวอร์ชวนคุณจิม วรพล พรวาณิชย์ CEO และผู้ก่อตั้งเพียร์ พาวเวอร์ พร้อมแขกรับเชิญผู้เชี่ยวชาญ คุณ ตุ๊ วรุตม์ พรหมบุญ Head of Credit Research จาก Bondcritic มาร่วมหาคำตอบในงานเสวนา PeerPower Perspective: Making Sense of the Market Today ที่จัดไปเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ใครที่ไม่ได้ไปร่วมงาน สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่นี่เลย นอกจากนี้ทีมงานเพียร์ พาวเวอร์ยังนำสาระสำคัญมาสรุปให้ฟังที่นี่แล้ว
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกกับแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ
เป็นที่รู้กันว่าตอนนี้เราอยู่ในยุคเงินเฟ้อ แต่ที่น่ากังวลเป็นพิเศษเพราะเงินเฟ้อครั้งนี้เป็น “Cost Push Inflation” กล่าวคือ เกิดจากปัญหาด้านอุปทานส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาสินค้าจึงสูงขึ้นตาม เงินเฟ้อแบบนี้ต่างจากเงินเฟ้อที่เกิดจากเศรษฐกิจเติบโต เพราะราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้ที่เท่าเดิม ยิ่งทำให้ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจยิ่งชะลอตัวสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกก็คือแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐ หรือที่เรียกคุ้นหู้กันว่า “เฟด” (Fed) ได้ขึ้นดอกเบี้ยไป 1.5 แล้ว และยังมีแนวโน้มขึ้นได้อีกเพราะอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้เงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ และเมื่อเทียบอัตราเงินกู้ระหว่างธนาคาร (Fed Fund Rate) กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังถือว่าห่างกันอยู่มาก ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐจึงมีช่องให้ขึ้นได้อีกมาก ตั้งแต่ 1.4 ไปจนถึง 3 นโยบายการเงินจากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างแน่นอน สำหรับประเทศไทย แม้ว่าตอนนี้ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ย แต่คาดว่าอีกไม่นาน น่าจะมีแนวโน้มปรับนโยบายไปในทิศทางเดียวกับสหรัฐฯ
Stagflation กำลังมา : สัญญาณเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อสูง เติบโตต่ำ
สัญญาณเศรษฐกิจถดถอยประการสำคัญเห็นได้จากส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี และ 2 ปี ซึ่งหากค่านี้ติดลบ หมายความว่าผลตอบแทนของพันธบัตร 10 ปีน้อยกว่าพันธบัตร 2 ปี หรือที่มักได้ยินในข่าวว่า ‘inverted yield curve’ การที่ดัชนีดังกล่าวติดลบ หมายความว่าตลาดมองความเสี่ยงในสินทรัพย์ 10 ปี ว่ามีน้อยกว่าสินทรัพย์อายุ 2 ปี ซึ่งผิดกับสถานการณ์ปกติที่สินทรัพย์อายุยาวมักถูกมองว่าความเสี่ยงสูงกว่า การตีความเสี่ยงของตลาดเช่นนี้แสดงให้เห็นกลไกที่ผิดเพี้ยนของตลาด ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น นโยบายการเงิน หรือความเสี่ยงการผิดชำระหนี้ต่าง ๆ และเป็นสัญญานว่าเรากำลังเข้าสู่ stagflation นั่นคือเศรษฐกิจเติบโตลดลง แต่เงินเฟ้อสูงขึ้น สิ่งที่จะตามมาคือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession)
จาก Stagflation สู่ Recession
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจาก Stagflation คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) การแก้ปัญหาเงินเฟ้อของธนาคารกลางคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยายามหยุดการใช้จ่าย หากเปรียบเทียบง่าย ๆ เหมือนเงินเฟ้อคือโรคมะเร็ง ส่วนธนาคารกลางคือหมอที่กำลังพยายามให้การรักษาด้วยคีโม นั่นคือ ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อหยุดกลไกห้ามไม่ให้เกิดการใช้จ่าย ซึ่งก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าสุดท้ายเราจะหายจากมะเร็ง แต่ที่แน่ ๆ การขึ้นดอกเบี้ยทำให้เงินในกระเป๋าเรามีน้อยลงเรื่อย ๆ นำไปสู่การเติบโตที่ลดลง ขณะที่ไม่มีใครรู้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะไปหยุดลงที่ตรงไหน
สำหรับปัจจัยภาวะถดถอยในครั้งนี้ คาดว่าสงครามจะยังคงส่งผลต่อไปอีก 2 ปี ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศ G7 และ จีน-รัสเซีย จะยังคงอยู่ต่อไป ที่สำคัญคือ ราคาพลังงานและราคาอาหารจะยังสูงต่อไปเรื่อย ๆ ทำให้การทำธุรกิจลำบากขึ้น และการรีไฟแนนซ์ก็ยากขึ้นด้วยเพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนั่นเอง
สหรัฐขึ้นดอกเบี้ย สะเทือนถึงทั่วโลก
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะกระทบมาถึงประเทศอื่น ๆ จากการที่เงินดอลลาร์แข็งค่ามากจนค่าเงินประเทศอื่นอ่อนลงไปหมด ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศ ที่เห็นได้ชัดคือศรีลังกา ซึ่งประสบปัญหาเศรษฐกินอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเจอผลกระทบเรื่องค่าเงินเข้าไปอีกจึงผิดนัดชำระหนี้ไปเรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่น ๆ ที่เสี่ยงจะประสบปัญหาผิดชำระหนี้ (sovereign default) เช่นกัน ได้แก่ ปากีสถาน กาน่า ตุรกี ลาว ไม่เว้นแม้บางประเทศในกลุ่ม EU อย่าง โปรตุเกส ไอร์แลนด์ กรีซ และ สเปน
แนวโน้มและทิศทางของประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยยังนับว่าไม่ได้รับผลกระทบหนักมากนัก เนื่องจาก 1) เรามีโอกาสดึงเงินต่างชาติเข้ามาง่ายจากการท่องเที่ยวและขายวัฒนธรรม 2) ประเทศไทยไม่ค่อยมีศัตรูทางการเมืองในเวทีโลก จึงลดความเสี่ยงจากการกีดกันทางการค้า3) ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหาร จึงลดผลกระทบของเงินเฟ้อจากราคาอาหารโลกพุ่งสูงไปได้บ้าง อย่างไรก็ตาม การที่อัตราดอกเบี้ยขึ้น ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin – อธิบายง่าย ๆ ว่าเป็นผลกำไรของธนาคาร) ก็มีแนวโน้มสูงขึ้น อาจทำให้ธนาคารลดการปล่อยเงินกู้ให้ธุรกิจ SME เป็นปัจจัยที่คนทำธุรกิจต้องเตรียมพร้อมหาแหล่งเงินทุนอื่น ๆ เป็นทางเลือกคำถามสำคัญสำหรับประเทศไทยคือ เรามีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ในการผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภคภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร พลังงาน ปุ๋ย ฯลฯ เพราะยิ่งมีความสามารถในการผลิตเลี้ยงตัวเองได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกได้มากขึ้น ดังนั้นการเดินหน้าของประเทศไทยจึงควรกระตุ้นประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ให้มากขึ้น ในระดับบุคคลก็ต้องปรับมายด์เซ็ตเช่นกัน คือการสร้าง ‘production mindset’ มากกว่า ‘consumption mindset’ พยายามให้คนไทยสนใจเป็นผู้ผลิตกันมากขึ้น ซึ่งในยุคนี้มีตัวช่วยทำให้การเป็นผู้ประกอบการ หรือสร้างสตาร์ทอัพ ทำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก
อ่านเพิ่มเติม : อยากเริ่มต้นธุรกิจ หาแหล่งเงินทุนอย่างไร
หุ้นกู้ระยะสั้น ที่พักเงินของนักลงทุนในช่วงเศรษฐกิจผันผวนและเงินเฟ้อสูง
คำถามถัดมาคือ แล้วควรลงทุนกับอะไรดีในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ คำแนะนำคือสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงเหมาะสม ได้แก่ ทอง อสังหาริมทรัพย์ และ หุ้นกู้ระยะสั้นที่มีระดับความน่าเชื่อถือ (credit quality) เหมาะสม ข้อดีของหุ้นกู้ระยะสั้น คือ สามารถประเมินแนวทางการลงทุนใหม่ได้เรื่อย ๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ ข้อดีของการลงทุนในหุ้นกู้คือเมื่อถึงเวลาครบกำหนดยังไงก็ได้เงินคืน (ถ้าไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้) ยิ่งเป็นหุ้นกู้แบบมีหลักประกันก็เพิ่มความมั่นใจได้มากยิ่งขึ้นว่าจะได้เงินคืนแม้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ แม้เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ stagflation และอาจตามมาด้วย recession แต่วัฏจักรเหล่านี้ถือว่าเป็นธรรมชาติของวงจรเศรษฐกิจ นักลงทุนสามารถใช้โอกาสนี้เข้าถึงผลตอบแทนที่สูงหากลงทุนในสินทรัพย์ได้ถูกตัว เช่น หุ้นกู้คุณภาพต่ำถึงปานกลาง หรือที่เรียกว่า ‘junk bond’ ซึ่งให้ผลตอบแทนสูง แต่แน่นอนว่านักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดด้วยตนเองเพื่อพิจารณาความเสี่ยง
Private Market สินทรัพย์นอกตลาด ทางเลือกการลงทุนที่น่าจับตา
คุณวรุตม์กล่าวว่าสินทรัพย์อีกหนึ่งประเภทที่น่าสนใจ และกำลังเป็นที่นิยมมากในต่างประเทศคือการลงทุนใน Private Market หรือสินทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากมีข้อดีดังนี้
- ไม่มี ‘mark to market’ หรือการปรับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดและอัตราดอกเบี้ยล่าสุด เนื่องจากโดยปกติเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงมักจะทำให้หุ้นกู้ในตลาดหลักทรัพย์ถูกปรับมูลค่าลดลง แต่หุ้นกู้ที่ไม่ได้เสนอขายในตลาดหลักทรัพย์จะไม่ได้รับผลกระทบตรงนี้
- นักลงทุนมีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารธุรกิจใน Private Market ได้โดยตรงมากกว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้น ซึ่งจะช่วยในการทำการบ้านให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุนอย่างครบถ้วน
การลงทุนแบบคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ผ่านแพลตฟอร์มอย่างเพียร์ พาวเวอร์ ก็นับเป็นการลงทุนใน Private Market เช่นเดียวกัน จึงนับเป็นโอกาสของนักลงทุนในประเทศไทยในการได้ประโยชน์จากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้
อ่านเพิ่มเติม ลงทุนในหุ้นคราวด์ฟันดิง โอกาสทำกำไรนอกตลาดหุ้น
ถาม-ตอบ แนวทางแก้เกมพลิกวิกฤตการลงทุน
Q.1 ในช่วงเงินเฟ้อแบบนี้มีวิธีเลือกธุรกิจที่น่าลงทุนด้วยอย่างไรบ้าง
ในทางการเงิน สิ่งที่ต้องดูคือกระแสเงินสดของบริษัทว่าได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้ออย่างไร คุณวรุตม์แนะนำให้พิจารณาปัจจัยสำคัญ ๆ ดังนี้
- วัตถุดิบของธุรกิจขึ้นราคาหรือไม่
- ธุรกิจสามารถขึ้นราคาขายได้หรือไม่
- ความเสี่ยงในการหาแหล่งเงินทดแทน (refinancing risk) รวมทั้งปริมาณหนี้ที่จะครบกำหนด และช่องทางการรีไฟแนนซ์
แต่นอกจากปัจจัยทางเทคนิคแล้ว คุณจิมแนะว่าต้องให้ความสำคัญกับการพิจารณากลยุทธ์ของบริษัท จะเห็นได้ว่าแม้ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ธุรกิจหลายเจ้าก็สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส อยู่รอดและเติบโตได้แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก ดังนั้นการวิเคราะห์จุดแข็งของบริษัทในเชิงกลยุทธ์จึงเป็นแนวทางประกอบการเลือกบริษัทที่น่าลงทุนด้วยเช่นกัน
Q.2 เพียร์ พาวเวอร์มีแนวทางรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำอย่างไร
คุณจิมย้ำว่า ในวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้เราต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น แต่ไม่ใช่ด้วยการถอย แนวทางของเพียร์ พาวเวอร์คือการเพิ่มความระวังด้วยการพิจารณาข้อมูลของบริษัทให้ลึกยิ่งขึ้น สอบถามแผนธุรกิจกับผู้บริหารแบบเจาะลึก โดยเรายังยึดหลักการเดิม นั่นคือดูกระแสเงินสดและการดำเนินธุรกิจเป็นหลัก โดยไม่ยึดติดกับการต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
- เพิ่มความเข้มข้นในการให้คะแนนเครดิต (credit scoring) ซึ่งอาจส่งผลให้มีอัตราการปฏิเสธบริษัทสูงขึ้น แต่เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทที่ออกหุ้นกู้กับเรามีความน่าเชื่อถือที่เหมาะสม
- เพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณาแผนธุรกิจของบริษัทที่ต้องการออกหุ้นกู้ ว่าสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และมีแผนพร้อมรับมือกับเศรษฐกิจตกต่ำและผันผวนหรือไม่
- เรามีแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น หุ้นกู้แบบมีหลักประกัน (secured bond) เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน
ในช่วงเศรษฐกิจผันผวนแบบนี้ การเปิดตัวเลือกใหม่ ๆ ไว้เผื่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเป็นสิ่งสำคัญทั้งสำหรับนักลงทุนและผู้ประกอบการ สนใจศึกษาผลิตภัณฑ์การเงินของเพียร์ พาวเวอร์ให้มากขึ้น ติดต่อเราได้เลย