งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flow) คือส่วนหนึ่งของงบการเงิน (Financial Statement) ที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทนั้นมีเงินสดหมุนเวียนภายในบริษัทอยู่เป็นจำนวนเท่าไหร่ และมีทิศทางเป็นอย่างไร
- งบกระแสเงินสดจะแสดงที่มาที่ไปของเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสดภายในองค์กรด้วย 3 กิจกรรม
- กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน Operating Activity (CFO) คิดจากกิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดรายได้ + กิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่กิจกรรมลงทุนหรือจัดหาเงิน ทิศทางที่ดีสำหรับนักลงทุนคือต้องเป็นบวก
- กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน Investing Activity (CFI) คิดจากการได้มาและจำหน่ายสินทรัพย์ระยะยาว + เงินลงทุนอื่นซึ่งไม่รวมอยู่ในรายการเทียบเท่าเงินสด ทิศทางจะบวกหรือลบไม่สำคัญเท่าเงินที่จ่ายไปได้กลับมาในระยะเวลาเท่าใด
- การแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน Financing Activity (CFF) คิดจากกิจกรรมที่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในขนาด เจ้าของ และการกู้ยืม ทิศทางจะบวกหรือลบต้องดูว่าเป็นการลงทุนหรือหนี้สิน
- ส่วนที่ซับซ้อนที่สุดคือกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงสภาพคล่องของกิจการ และทิศทางความเป็นไปได้ของการเติบโตในอนาคต เพื่อให้นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจ
งบกระแสเงินสด ตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจสำหรับนักลงทุน
สำหรับนักลงทุนแล้ว สิ่งที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางธุรกิจของบริษัทที่จะเลือกลงทุนได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดก็คืองบการเงิน (Financial Statement) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลประกอบการของบริษัทนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งงบการเงินที่แสดงในตลาดหลักทรัพย์ และหนังสือชี้ชวนจะประกอบด้วย 4 งบ คือ
- งบแสดงฐานะการเงิน (Balance Sheet)
- งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ (Income Statement)
- งบกำไรสะสม (Retained Earning Statement)
- งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flow)
ซึ่งในส่วนนี้ นักลงทุนจำนวนหนึ่งอาจสามารถตัดสินใจจากกำไรขาดทุนได้เลย แต่ในองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบของงบการเงินนี้ มีหนึ่งตัวที่จะบอกกับนักลงทุนได้ถึงสภาพคล่องและการบริหารการเงินที่แท้จริงของบริษัท นั่นคือ งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flow)
งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flow) คืออะไร แสดงให้เห็นถึงอะไรบ้าง
คืองบที่แสดงความเปลี่ยนแปลงทางการเงินของกิจการ ทั่วไปแล้วจะมีการรายงานงบส่วนนี้ทุกไตรมาส ใน 1 ปี ซึ่งจะชี้ให้นักลงทุนเห็นถึงสภาพเงินสดที่มีการใช้จ่ายภายในบริษัท เงินสดที่มี เงินลงทุนรวมถึงหนี้สินเพื่อประกอบการพิจารณาลงทุน ซึ่งส่วนนี้เองจะช่วยให้นักลงทุนประเมินสภาพคล่อง และความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทดังกล่าวได้
งบกระแสเงินสดจะแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเงินของแต่ละช่วงเวลา ว่ามีการได้มาและใช้ไปแต่ละงวดมากน้อยอย่างไร ใช้ไปกับอะไรบ้าง นอกจากการเปลี่ยนแปลงของเงินสดแล้ว งบกระแสเงินสดยังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินของบริษัท ทั้งเงินสดและทรัพย์สินอื่นที่เทียบเท่าเงินสดได้ด้วย นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการจัดการการเงินขององค์กรโดยรวม ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต
งบกระแสเงินสดมีกี่ประเภท อะไรบ้าง
งบกระแสเงินสดแบ่งย่อยออกมาตามกิจกรรมหมายถึงกิจกรรมในการใช้จ่ายเงินสดนั้น ออกมาเป็น 3 กิจกรรม คือกิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงิน ก่อนจะอธิบายอย่างละเอียดถึงแต่ละงบ เพียร์ พาวเวอร์ ขอพาไปทำความเข้าใจกับวิธีคิดงบกระแสเงินสดที่แบ่งออกเป็นทางตรงกับทางอ้อมก่อน
วิธีคำนวณกระแสเงินสดทางตรง
เงินสดรับ - เงินสดจ่าย = งบกระแสเงินสด
วิธีคำนวณกระแสเงินสดทางอ้อม
กำไรหรือขาดทุนสุทธิ ปรับปรุง ด้วยรายการที่ไม่ใช่เงินสด
- เงินสดรับ หมายถึง เงินสดที่ได้จากการขายสินค้าหรือได้รับจากการดำเนินการตามปกติ
- เงินสดจ่าย หมายถึง เงินสดที่ใช้ในการจ่ายสินค้า หรือจ่ายค่าดำเนินงาน
แม้ว่านักลงทุนไม่จำเป็นต้องคำนวณเองว่ากระแสเงินสดแต่ละตัวมีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะในงบการเงินจะแสดงตัวเลขที่คำนวณมาเรียบร้อยแล้ว แต่น่าจะดีกว่า ถ้านักลงทุนทราบว่าตัวเลขที่แสดงนั้นมาจากอะไร และมีความสมเหตุสมผลและบ่งชี้อะไรบ้างในโอกาสทางการลงทุนโดยการคำนวณกระแสเงินสดจะมาจาก
กิจกรรมดำเนินงาน + กิจกรรมลงทุน + กิจกรรมการจัดหา = Net Cash Flow (NCF)
งบกระแสเงินสด คำนวณได้อย่างไร
การคำนวณงบกระแสเงินสดทั้ง 3 องค์ประกอบ มีวิธีในการคำนวณที่ต่างกันไปในรายละเอียด โดยส่วนที่ซับซ้อนที่สุดคือส่วนของกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน ซึ่งใช้การคำนวณทั้งแบบทางตรงและแบบทางอ้อม ส่วนการคำนวณกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงินจะคำนวณจากวิธีทางตรงเท่านั้น
งบกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน Operating Activity (CFO)
เป็นงบที่แสดงถึงการใช้จ่ายด้วยเงินสดหรือสินทรัพย์เทียบเท่าเงินสด เช่นเงินสดที่ได้จากการขายสินค้าและบริการ ค่าธรรมเนียมหรือรายได้อื่น การรับชำระหนี้จากลูกค้า นำมาลบออกด้วยเงินสดสำหรับจ่ายค่าสินค้าและบริการ เงินเดือนพนักงาน ชำระหนี้ เป็นต้น วิธีการนี้คือวิธีการคำนวณแบบทางตรงคือ
เงินสดรับ - เงินสดจ่าย
งบกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานเป็นส่วนในงบกระแสเงินสดที่มีวิธีการคำนวณพิเศษจากประเภทอื่น คือการคำนวณแบบทางอ้อมอีกด้วย เพราะมีส่วนของรายได้หรือรายจ่ายแฝงที่ไม่ได้เป็นเงินสดโดยตรง แต่แปรสภาพเป็นเงินสดหรือมีมูลค่าเหมือนเงินสด นั่นคือส่วนของสินทรัพย์และหนี้สิน
สินทรัพย์
เช่นที่ดิน อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ถ้าบริษัทมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีการใช้เงินสดไป ส่วนนี้ต้องนำไปลบออกจากเงินสดรับ แต่ถ้ามีสินทรัพย์ลดลง แสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์นั้นถูกขายออกไป หรือแปรเป็นรายรับ ต้องนำไปบวกเข้า
หนี้สิน
ถ้าบริษัทมีหนี้สินมากขึ้น หมายความว่ามีเงินสดเข้ามาในบริษัท ต้องบวกเข้า แต่ถ้ามีการชำระหนี้ หมายความว่ามีการจ่ายเงินออกไป ต้องนำไปลบออก
เงินสดรับ ปรับปรุง ด้วยรายการที่ไม่ใช่เงินสด
งบกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานที่ดีควรมีค่าเป็นบวก เพราะแสดงถึงการมีเงินสดสำหรับใช้จ่ายภายในองค์กรมากกว่ารายจ่าย
งบกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน Investing Activity (CFI)
เป็นงบกระแสเงินสดที่ได้จากการนำเงินหรือสินทรัพย์อื่นๆ ไปลงทุนในระยะยาว โดยเป็นเงินที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน งบกระแสเงินสดส่วนนี้มักมีค่าเป็นลบ
โดยการลงทุนด้วยเงินสดของบริษัทมี 2 แบบ คือการลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนหรือลงทุนแบบไม่ใช่การขยายกิจการ กับการลงทุนในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน มักเป็นการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ซึ่งมีวิธีการคำนวณแบบเดียวคือ การคำนวณทางตรงงบกระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุนมักมีค่าเป็นลบ เพราะเป็นการจ่ายออกมากกว่ารับเข้า ยิ่งติดลบมาก ยิ่งแสดงให้เห็นว่ามีการจ่ายเงินสดออกไปเพื่อการลงทุนมาก
การจะตัดสินว่าเป็นบริษัทที่ดีหรือไม่ต้องดูจากระยะเวลาคืนทุน ถ้าได้รับเงินสดกลับมาเร็วจากการลงทุนนั้น หมายถึงสภาพคล่องและการจัดการองค์กรที่ดี รวมถึงวิสัยทัศน์ในการบริหารที่มีประสิทธิภาพ
งบกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหา Financing Activity (CFF)
เป็นงบกระแสเงินสดที่เอาไว้ดูวิธีการบริหารของเจ้าของนั่นเอง ข้อมูลในส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับบัญชี การกู้ยืม หนี้สินหมุนเวียน หนี้สินไม่หมุนเวียน ซึ่งจะเกิดจากการนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อออกตราสารทุน(หุ้น) หุ้นกู้ หรือเงินกู้ยืมระยะยาว และจะบอกถึงศักยภาพในการชำระหนี้จากตราสารและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รวมถึงการปันผลได้จากส่วนนี้ด้วย
วิธีคำนวณกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาคำนวณด้วยวิธีทางตรงเท่านั้น ซึ่งทิศทางจะเป็นบวกหรือลบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการนำเงินสดไปใช้ งบส่วนนี้ถ้าเป็นบวกแสดงถึงการรีบหาทุน แต่ถ้าเป็นลบมากแสดงถึงความสามารถในการจ่ายหนี้
งบกระแสเงินสดมีประโยชน์ต่อนักลงทุนอย่างไร
นักลงทุนที่มองงบกระแสเงินสดได้อย่างทะลุปรุโปร่ง จะมีโอกาสประเมินศักยภาพในการลงทุนกับบริษัทต่างๆ ได้อย่างแม่นยำมากกว่า เพราะเห็นสภาพคล่อง และความสามารถในการจ่ายเงินของบริษัทนั้นๆ นอกจากนี้งบกระแสเงินสดยังมีประโยชน์ต่อนักลงทุนอีกหลายข้อ เช่น
- สามารถประเมินศักยภาพในการทำกำไรและดำเนินกิจการ รวมถึงการชำระหนี้ จ่ายเงินปันผล และค่าตอบแทนอื่นๆ จากบริษัทได้ หากกำลังพิจารณาซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ออกโดยบริษัทนั้นๆ
- ทราบที่มาที่ไปของเงินสดภายในบริษัท รวมทั้งสภาพหนี้สิน และการลงทุน
- มองเห็นโครงสร้างทางการเงินว่าบริษัทนั้นมีความแข็งแรงดีหรือไม่ ทั้งของบริษัทเองและตัวเจ้าของ เพื่อให้มองเห็นความเสี่ยงในการลงทุน
นักลงทุนคงทราบดีอยู่แล้วว่า ไม่ว่างบการเงินในอดีตจะดีมากเท่าไหร่ ก็ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตบริษัทนั้นๆ จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป เพราะปัจจัยความเสี่ยงในการลงทุนอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ด้วยผลกระทบทั้งภายนอกและภายในตัวบริษัทเอง แต่การอ่านงบกระแสเงินสดอย่างน้อยจะช่วยให้นักลงทุนมองเห็นภาพรวมและทิศทางการดำเนินกิจการของบริษัทนั้นๆ ซึ่งช่วยในการตัดสินใจได้ดี
_______________________________________________________________________
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว