Perspectives

อยากลดภาษี ลงทุนอะไรดี

by
PeerPower Team
March 3, 2023

อยากลดภาษี ลงทุนอะไรดี (เคล็ดลับฉบับแอดวานซ์)

อยากลดหย่อนภาษีต้องลงทุนอะไรดี? ข้อนี้เราเคยเอามาบอกกันไปแล้วว่าตามนโยบายรัฐบาลมีการลงทุนอะไรที่เอาเงินลงทุนไปหักภาษีได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นกองทุน SSF กองทุน RMF หรือประกันชีวิตแบบต่าง ๆ ซึ่งจะซื้อลดหย่อนได้เท่าไหร่ก็ขึ้นกับรายได้และฐานภาษีของนักลงทุน ถือเป็นเรื่องสำคัญในการวางแผนภาษีตั้งแต่ต้นปีเพื่อจะได้เตรียมทะยอยซื้อแบบ DCA กันไปตลอดทั้งปี

แต่สำหรับใครที่ไม่นิยมลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี หรือลงทุนจนครบสิทธิ์แล้วก็ยังมีรายได้ส่วนที่ต้องจ่ายภาษีในฐานที่สูงอยู่ รู้หรือไม่ว่ายังมีวิธีการลงทุนอื่น ๆ ที่ช่วยให้คุณประหยัดภาษีได้ในทางอ้อม หรือจะเรียกว่าเป็นการ “เลี่ยงภาษี” แบบถูกกฎหมายทุกประการก็ว่าได้ วิธีที่ว่านี้ ยิ่งใครเป็นนักลงทุนรายใหญ่ มีพอร์ตลงทุนมูลค่าสูง ยิ่งต้องรู้เพราะจะช่วยคุณประหยัดภาษีไปได้หลายเปอร์เซนต์

วันนี้ PeerPower จะมาแนะนำการลงทุนเพื่อลดภาษีแบบที่ตำราทั่วไปไม่ได้บอก สำหรับนักลงทุนขั้นแอดวานซ์โดยเฉพาะ

การลงทุนเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี (Tax Shield) คืออะไร?

การลงทุนเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี (tax shield) หมายถึง การลงทุนในสินทรัพย์ที่จะช่วยให้นักลงทุนจ่ายภาษีน้อยลง 

ในวงการลงทุนและวางแผนการเงินเป็นที่รู้กันว่ายุทธศาสตร์ลงทุนเพื่อลดภาษีนั้นเป็นหัวใจสำคัญของการวางแผนลงทุนสำหรับ “รายใหญ่” ทั้งนักลงทุนบุคคลและสถาบัน เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มนี้มีฐานภาษีอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้หลายแสนหลายล้านต่อปี

ทางเลือกการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี 

เราขอแบ่งการลงทุนเพื่อลดภาษีออกเป็น 2 แนวทางด้วยกัน

1. การลงทุนในสินทรัพย์ที่นำไปลดหย่อนภาษีได้

โดยนำจำนวนเงินลงทุนไปหักลบกับรายรับ ทำให้เหลือรายรับส่วนที่ต้องจ่ายภาษีน้อยลง แนวทางนี้เรียกได้ว่าเป็นพื้นฐานที่นักลงทุนทั่วไปทุกคนควรศึกษาเพื่อลดการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น 

  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) หักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และต้องถือกองทุนดังกล่าวเป็นเวลา 10 ปี  
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หักลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิต และประกันชีวิตแบบบำนาญ
  • การกู้เงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท แต่ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เราใช้อยู่อาศัยเองจริง ๆ เท่านั้น

2. การลงทุนที่ผลตอบแทนมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย

โดยไม่ต้องนำไปคำนวณรวมกับรายรับอื่น ๆ อีก เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก 15% เงินปันผล (dividend) 10% แนวทางนี้แอดวานซ์ขึ้นมาจากแนวทางแรก ซึ่งเราจะอธิบายต่อไป 

ลดภาษีด้วยการใช้ “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” ในการลงทุน 

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษีเงินได้ที่ผู้จ่ายเงินจะหักไว้เลยก่อนที่จะให้เงินกับเรา เช่น ถ้าเรามีรายได้จากเงินเดือน นายจ้างก็จะเป็นคนหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ถ้าเรามีรายได้จากดอกเบี้ยในการลงทุน คนที่หักภาษี ณ ที่จ่ายนี้ก็คือธนาคาร หรือสถาบันการเงินใด ๆ ที่เป็นคนจ่ายดอกเบี้ยให้เรา 

อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายของผลตอบแทนการลงทุนแต่ละประเภท

ดอกเบี้ยและเงินปันผลจากการลงทุน โดนหักภาษี ณ ที่จ่ายเท่าไหร่ก่อนเข้ากระเป๋านักลงทุน

  • ดอกเบี้ยเงินฝาก 15%
  • ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 15%
  • ดอกเบี้ยหุ้นกู้ 15%
  • เงินปันผลหุ้น 10%
  • เงินปันผลกองทุนรวม 10%
อัตราหักภาษี ณ ที่จ่ายของดอกเบี้ยและเงินปันผลจากการลงทุน

เนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้นักลงทุนเลือกได้ว่าต้องการยื่นรายการเงินได้ในส่วนที่โดนหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว ให้นำไปประเมินรวมกับรายได้อื่น ๆ หรือไม่ ดังนั้นถ้านักลงทุนมีรายรับอยู่ในเกณฑ์ฐานภาษีที่มากกว่าจำนวนเปอร์เซนต์ที่โดนหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว ก็เท่ากับเราได้กำไรจากการจ่ายภาษีน้อยลง 

ตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น พี่เพียร กับน้องเพา ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ได้ดอกเบี้ยปีละ 3,000 บาท โดนหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% หรือคิดเป็นเงินภาษี 450 บาท 

น้องเพามีรายได้จากเงินเดือนปีละ 360,000 บาท เมื่อรวมดอกเบี้ยพันธบัตร 3,000 บาทแล้วก็ยังควรจ่ายภาษีเงินได้ตามฐานที่ 10% ดังนั้นภาษีที่โดนหักจากดอกเบี้ยพันธบัตรไป 450 บาท น้องเพาควรจ่ายจริงแค่ 300 บาท น้องเพาสามารถยื่นหลักฐานขอคืนภาษีได้ 150 บาท

ส่วนพี่เพียรมีรายได้จากเงินเดือนปีละ 1.9 ล้านบาท เมื่อรวมดอกเบี้ยพันธบัตรแล้วตามฐานภาษีจะต้องจ่ายภาษีเงินได้ 25% หรือคิดเป็น 750 บาท แต่โดนหัก ณ ที่จ่ายไป 450 บาทแล้ว พี่เพียรสามารถนั่งเงียบ ๆ ไม่ต้องยื่นภาษีเพิ่มในส่วนนี้ แล้วได้กำไรไปเลย 300 บาทแบบถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

ปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินว่าเราควรยื่นรายได้จากผลตอบแทนการลงทุน (ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ย หรือเงินปันผล) รวมไปในการยื่นภาษีประจำปีหรือไม่ ก็คือดูว่ารายได้รวม (หลังหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ) ของคุณว่าตกอยู่ในฐานภาษีขั้นไหน ถ้าฐานนั้นเป็นเปอร์เซนต์สูงกว่าจำนวนที่โดนหักภาษี ณ ที่จ่ายไป ก็ควรยื่นขอคืนภาษี แต่ถ้าฐานรายได้คุณสูงกว่าเปอร์เซนต์ที่โดนหักไปแล้วล่ะก็… ขอแสดงความยินดีด้วย คุณได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว!

ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับการเสียภาษี

เนื่องจากการคำนวณหากำไรทางภาษีของเราต้องดูด้วยว่าเดิมเราอยู่ในฐานภาษีที่เท่าไหร่ ต้องเสียภาษีเงินได้ปีละกี่เปอร์เซนต์ ถ้าใครยังไม่แน่ใจลองดูตารางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ข้างล่างนี้

ตารางฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

แต่เลือกลงทุนอะไรดี “เลี่ยงภาษี” ได้คุ้มที่สุด

มาถึงตรงนี้ คุณคงเริ่มมองออกแล้วล่ะว่าวิธีลงทุนให้ได้กำไรทางภาษีแบบนี้มันจะเวิร์คก็ต่อเมื่อเรามีรายได้ในระดับค่อนข้างสูง หรือพูดให้ชัดก็คือมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเกินปีละ 750,000 ขึ้นไป เพราะนั่นหมายถึงคุณต้องจ่ายภาษีที่ฐาน 20% ซึ่งมากกว่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายของดอกเบี้ยคือ 15%

สมมติเล่น ๆ ว่าคุณไม่มีรายได้ทางอื่นเลย เอาเงินเก็บไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ดอกเบี้ย 3% การที่คุณจะได้ดอกเบี้ยถึงปีละเกิน 750,000 ได้นั้นคุณต้องซื้อพันธบัตรไปเบา ๆ 25 ล้านบาท

คุณอาจจะเริ่มคิดว่า ถ้าฉันมีเงินไปลงทุนพันธบัตรตั้ง 25 ล้าน ก็คงไม่แคร์ที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีกหน่อยหรอกมั้ง…

แต่เดี๋ยวก่อน จริง ๆ แล้วจุดสำคัญของการเลือกลงทุนเพื่อผลประโยชน์ทางภาษีแบบนี้อยู่ที่อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนด้วย เราลองมาดูใหม่ว่าถ้าคุณไม่ซื้อพันธบัตรรัฐบาล แต่เปลี่ยนมาลงทุนหุ้นกู้แทนล่ะ

สมมติคุณลงทุนหุ้นกู้ที่ซื้อขายทั่วไปในตลาด ได้อัตราดอกเบี้ย 5% ถ้าดูตัวเลขเดิมที่ดอกเบี้ยเกินปีละ 750,000 บาท คุณต้องลงทุนหุ้นกู้ 15 ล้านบาท … เอ้า ก็ใช้เงินน้อยกว่าลงทุนพันธบัตรตั้ง 10 ล้านบาทเชียวนะ

เอาใหม่ ถ้าคุณลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงของ PeerPower ที่อัตราดอกเบี้ย 11% (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยในปี 2022) แค่คุณลงทุน 6.8 ล้านบาท ก็สามารถทำรายได้จากดอกเบี้ยได้เกินปีละ 750,000 บาทแล้ว

เลือกลงทุนอะไรลดภาษีได้คุ้มที่สุด พันธบัตร หุ้นกู้

ถ้าอยากรู้ว่าต้องลงทุนอะไรในวงเงินขั้นต่ำเท่าไหร่ถึงได้ดอกเบี้ยมากพอจะลดภาษี สามารถคำนวณได้ด้วยสูตรนี้ 

จำนวนเงินลงทุน = 750,000 / อัตราดอกเบี้ยต่อปี

สูตรคำนวณจำนวนเงินลงทุนเพื่อลดภาษี


เช่น อยากลงทุนในหุ้นกู้ PeerPower ที่ให้อัตราดอกเบี้ย 11% ก็เอา 750,000 หาร 0.11 ก็จะได้วงเงินขั้นต่ำที่ต้องลงทุนนั่นคือประมาณ 6.8 ล้านบาท (ตัวเลข 750,000 มาจากรายได้ขั้นต่ำที่เข้าเกณฑ์ฐานภาษี 20% ขึ้นไป)

สูตรคำนวณมูลค่าภาษีที่ลดได้จากการลงทุน

ในทางกลับกัน ถ้าคุณลงทุนด้วยจำนวนเงินที่เท่า ๆ กัน การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า นอกจากจะทำกำไรให้มากกว่ากันแบบตรง ๆ แล้ว ยังได้เปรียบในเชิงภาษีมากกว่าอีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรพิจารณาสำหรับนักลงทุนขั้นเซียนที่มีพอร์ตหลักหลายล้าน

แต่ถ้าคุณมีรายได้ทางอื่น ๆ อยู่ด้วย หรืออยากรู้ว่าถ้าลงทุนซักเท่านี้ จะลดภาษีไปได้เท่าไหร่ สามารถคำนวณได้ด้วยสูตรนี้ ภาษีที่ลดไปได้ = (% ฐานภาษี - % ภาษีหัก ณ ที่จ่าย) x อัตราดอกเบี้ย x จำนวนเงินลงทุน

เช่น ตอนนี้มีรายได้อยู่ในฐานภาษี 25% ลงทุนในหุ้นกู้ PeerPower ที่ได้ดอกเบี้ย 11% ต่อปีเป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาท ถูกหักภาษี ณ​ ที่จ่าย 15% จะประหยัดภาษีไปได้ = (0.25-0.15) x 0.11 x 1,000,000 เท่ากับลดภาษีไปได้ 11,000 บาท

และนี่ก็คือเทคนิคง่าย ๆ ที่จะช่วยในการวางแผนภาษีสำหรับนักลงทุนฐานภาษีสูงที่เราเอามาฝากกัน 

สรุป ลดภาษีทางอ้อมด้วยการลงทุน วางแผนยังไงดี

  • ข้อแรกในการวางแผนภาษี ตรวจสอบดูก่อนว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ มีส่วนที่ต้องยื่นภาษีเงินได้อยู่ในฐานขั้นไหน ถ้าพบว่าฐานภาษีเราอยู่ในเกณฑ์ 20% ขึ้นไป (รายได้พึงประเมินขั้นต่ำปีละ 750,001 บาท) ก็ไปต่อข้อต่อไปได้เลย
  • เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ยิ่งสินทรัพย์ไหนให้ดอกเบี้ยสูง นักลงทุนยิ่งได้ประโยชน์ทางภาษีมากขึ้น
  • ในกรณีที่คุณไม่มีรายได้ทางอื่นนอกจากการลงทุนเลย แล้วอยากรู้ว่าต้องลงทุนในสินทรัพย์อะไรในวงเงินเท่าไหร่ถึงจะได้เปรียบทางภาษี สามารถคำนวณโดยใช้สูตร จำนวนเงินลงทุน = 750,000 / อัตราดอกเบี้ยต่อปี
  • กรณีที่คุณมีรายได้พึงประเมินอื่น ๆ เกิน 750,000 อยู่แล้ว อยากรู้ว่าถ้าลงทุนเพิ่มอีกด้วยเทคนิคนี้จะประหยัดภาษีได้เท่าไหร่ สามารถคำนวณโดยใช้สูตร ภาษีที่ลดไปได้ = (% ฐานภาษี - % ภาษีหัก ณ ที่จ่าย)  x อัตราดอกเบี้ย x จำนวนเงินลงทุน
  • ที่สำคัญ อย่าลืมวิเคราะห์ด้วยว่าสินทรัพย์ที่เราลงทุนด้วยมีโอกาสให้ผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหน ไม่เช่นนั้น แทนที่จะได้ประหยัดเงินจากการลดหย่อนภาษี กลับจะกลายเป็นเสียเงินมากขึ้นแทนเพราะขาดทุนจากการลงทุน

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนได้ลงทะเบียนและผ่านการทำแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Tags
Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร