4 ขั้นตอน ปลูกฝังเรื่อง "การเงิน" แก่ "ลูก" ของคุณ
ความสุขของคนเป็นพ่อแม่จะมีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าการเห็น ลูก ๆ ตัวน้อยเติบโตขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง มีทักษะความรู้ และยืนหยัดใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง เพราะว่าพ่อแม่ไม่สามารถอยู่ดูแลลูกได้ตลอดไป การปลูกฝังให้ลูกรู้จักบริหารจัดการชีวิตของตัวเอง โดยเฉพาะในเรื่อง "การเงิน" จึงเป็นเกราะคุ้มภัยชั้นดีที่คอยปกป้องเขาให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ต่อไปในอนาคต
PeerPower เชิญชวนคุณพ่อ คุณแม่ นักลงทุนทุกท่านมาร่วมกันส่งผ่านความรักให้แก่ลูก ๆ ของเรา ด้วยการให้ความรู้เรื่องการเงิน ผ่าน “4 ขั้นตอน ปลูกฝังเรื่องการเงินแก่ลูกของคุณ” ด้วยการแบ่งปัน “เครื่องมือบริหารการเงินสำหรับเด็ก” ให้ทุกท่านสามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้เลยครับ …เพราะ เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องยาก และไม่มีคำว่าเร็วเกินไปสำหรับเรื่องการเงินครับ
ขั้นตอนที่ 1 : เปิดโอกาสสร้างการมีส่วนร่วม
เพราะ เรื่องการเงินไม่สามารถสอนผ่านบทเรียนได้ การบริหารเงินจำเป็นต้องถ่ายทอดผ่านการ “ปลูกฝัง” อย่างต่อเนื่อง ทุกบทสนทนา และทุกการกระทำในชีวิตประจำวันของครอบครัว ล้วนแต่มีแง่มุมที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิด ถกเถียงด้วยเหตุผล และถ่ายทอดประสบการณ์ ให้กับลูก ๆ ได้ทั้งสิ้น ดังนั้นการเปิดโอกาสให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมเรื่องการเงินของครอบครัวจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ อย่างเช่น การออกไปซื้อของใช้เข้าบ้าน เราสามารถพาลูก ๆ ไปด้วย และขอความเห็นจากเขาได้ “คุณแม่จะซื้อแชมพู ลูกคิดว่าซื้อ ขวดเล็ก หรือ ขวดใหญ่ ดีครับ?” รับฟังความคิดเห็นของลูก และอธิบายเหตุผลในการตัดสินใจของเรา “คุณแม่ว่าขวดใหญ่ดีกว่า บ้านเราต้องใช้แชมพูเยอะซื้อขวดใหญ่ทีเดียวจะถูกกว่าและไม่ต้องออกมาซื้อใหม่บ่อย ๆ ด้วยนะ”หรือ ถ้าลูกอยากได้ของเล่น การตอบปฏิเสธด้วยคำว่า “สิ้นเปลือง” หรือ “ไม่มีประโยชน์” นอกจากจะตีกรอบความคิดของลูก ยังทำให้เขาไม่สามารถประเมิน และตัดสินใจด้วยตัวเองได้ คุณพ่อคุณแม่ ควรถามความคิดเห็น “ทำไมลูกถึงอยากได้ของเล่นชิ้นนี้ ลองบอกคุณพ่อหน่อยได้มั้ยครับ?” โยนคำถามให้ฉุกคิด “ถ้าไม่ซื้อของเล่นลูกเอาเงินไปซื้อขนมที่โรงเรียนได้ 5 ห่อเลยนะ ยังอยากซื้ออยู่มั้ยครับ?” จะปลูกฝังให้เกิดการยั้งคิดก่อนใช้จ่าย และ พัฒนาความสามารถในการตัดสินใจ ซึ่งในบางครั้งหากไม่ใช่เรื่องใหญ่โตร้ายแรงคุณพ่อคุณแม่อาจยอมตามการตัดสินใจของลูก เพื่อให้ลูกได้รู้สึกมีส่วนร่วม และเรียนรู้ที่จะยอมรับผลจากการตัดสินใจด้วยตัวเองสิ่งสำคัญ คือ ไม่ควรตีกรอบให้กับลูก เปิดโอกาสให้เขาได้คิด และพูดอย่างเต็มที่ รับฟังการตัดสินใจของเขาด้วยใจที่เปิดกว้าง ใช้เวลาค่อย ๆ อธิบายถึงเหตุผลการตัดสินใจของเรา หากครอบครัวสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างสม่ำเสมอ ลูก ๆ จะซึมซับการใช้เหตุผล และการตัดสินใจเรื่องการเงินไปโดยปริยายครับ
ขั้นตอนที่ 2 : ติดตามพฤติกรรมการใช้เงิน
บางครอบครัวอาจให้ค่าขนมลูก ๆ เป็นรายวันซึ่งวิธีนี้คุณพ่อคุณแม่จะสามารถควบคุมการใช้จ่ายของลูกได้ง่ายก็จริงแต่ก็ปิดโอกาสที่เด็ก ๆ จะได้ฝึกการบริหารเงินไปด้วย การเปลี่ยนมาให้ค่าขนมเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้เขาได้เรียนรู้การบริหารจัดการเงินของตัวเอง แต่ไม่ใช่การให้เงินแล้วจบนะครับ
คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนให้ลูกได้มีการจดบันทึกรายรับรายจ่ายทุกวัน และช่วยเขาสรุปการใช้จ่ายทุกปลายสัปดาห์หรือปลายเดือน เพื่อให้เขาได้รู้พฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเองคุณพ่อ คุณแม่อาจซื้อสมุดจดเล่มเล็ก ๆ หรือโหลดแอปพลิเคชัน จดบันทึกรับจ่ายเอาไว้ในมือถือของลูก ๆ แล้วใช้เวลาช่วงก่อนนอนทุกวันมานั่งพูดคุยกับเขา ให้เขาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้นให้ฟัง ถามลูกว่าได้เงินหรือใช้เงินไปกับอะไรบ้าง แล้วสอนเขาจดบันทึกรายการรับจ่ายไปพร้อมกัน
โดยอาจจะฝึกลูกเพิ่มเติมด้วยการให้เขาแบ่งแยกว่า ของที่เขาซื้อมานั้น “เป็นสิ่งจำเป็น” หรือ “เป็นสิ่งที่เขาอยากได้” เมื่อลูกของเราสามารถจดบันทึกการใช้จ่ายได้อย่างต่อเนื่องแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรช่วยเขาสรุปการใช้จ่ายทุกปลายงวด โดยรวบรวมเงินที่เขาใช้จ่ายแต่ละรายการในสัปดาห์ที่ผ่าน ๆ มาเปรียบเทียบกัน
ชี้ให้เห็นพฤติกรรมการใช้เงินของเขาเอง ว่าในสัปดาห์หรือเดือนนั้น ๆ ได้ใช้จ่ายไปกับสิ่งที่จำเป็นมากหรือน้อยแค่ไหน กับสิ่งที่อยากได้แต่ไม่จำเป็นเขาใช้ไปเท่าไร ถามความเห็นว่าเขาสามารถลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นรายการใดได้บ้างเพื่อเพิ่มเงินเก็บออมให้มากขึ้นหากคุณพ่อ คุณแม่ และคุณลูก รู้พฤติกรรมในปัจจุบันแล้ว ก็จะเป็นฐานตั้งต้นที่ดีในการปรับพฤติกรรมให้ใช้จ่ายเงินได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น รวมทั้งเป็นการปูพื้นไปสู่การสอนลูกในการวางแผนเก็บออมเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายได้ด้วยครับ
ขั้นตอนที่ 3 : วางแผนการเพื่อบรรลุเป้าหมาย
การที่ลูกของเราอยากซื้อเกมแพง ๆ หรืออยากได้โทรศัพท์มือถือใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด หรือฟุ่มเฟือย ความอยากได้อยากมีเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ เพียงแต่ในชีวิตจริงหลายครั้ง คนเราไม่สามารถได้ของที่ต้องการมา ในทันทีทันใด หรือได้มาโดยไม่ต้องพยายาม ดังนั้นหากลูกของคุณเกิดอยากได้ของเล่นชิ้นใหม่ ก็ถือเป็นโอกาสดีที่คุณจะได้ช่วยลูกวางแผนเก็บออมเพื่อให้เขาบรรลุเป้าหมายด้วยเงินของเขาเอง สิ่งของที่เขาได้มาด้วยความพยายาม จะมีค่าไม่เพียงแค่สนองความสุขของเขาเท่านั้น แต่ ความภูมิใจ และการเรียนรู้ที่จะอดทน จะเป็นมูลค่าเพิ่มที่ไม่มีใครหยิบยื่นให้เขาได้นอกจากตัวเองคุณพ่อ คุณแม่อาจเริ่มต้นด้วยการพูดคุยกับลูก
“ลูกอยากได้ของชิ้นนี้เพราะอะไร?” “ลูกว่าของสิ่งนี้จำเป็นสำหรับลูกมั้ยครับ?” “ลูกพร้อมที่จะใช้เงินให้น้อยลงเพื่อเก็บเงินมาซื้อมันรึเปล่า?” หากลูกของคุณแสดงออกอย่างชัดเจนว่าอยากได้ของชิ้นนี้ งั้นก็ถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยเขาวางแผนการออมเงิน เพื่อให้เขาบรรลุเป้าหมายด้วยกำลังของตัวเองแล้วครับการเริ่มต้นช่วยคุณลูกวางแผนการออม เราต้องตั้งโจทย์ให้เขาช่วยตอบมา 2 อย่างก่อนครับ
1) สิ่งของที่ลูกอยากได้ราคาเท่าไร?
2) ลูกอยากได้ของชิ้นนั้นภายในเวลากี่สัปดาห์?
เพียงแต่ต้องระมัดระวังเรื่องระยะเวลาให้ดีเพราะธรรมชาติของเด็กจะอดทนรอเป็นเวลานาน ๆ ไม่ได้ และหากเงินที่ต้องเก็บมีจำนวนเยอะเกินไป อาจทำให้เขาล้มเลิกความตั้งใจไปได้ ดังนั้น ในครั้งแรก ๆ การเริ่มด้วยเป้าหมายเล็ก ๆ หรือการที่คุณพ่อคุณแม่ช่วยลงเงินเพิ่มตามจำนวนเงินออมที่คุณลูกเก็บได้ ก็จะช่วยให้เขามีกำลังใจทำสำเร็จได้มากขึ้น แล้วค่อย ๆ เพิ่มขนาดของเป้าหมายให้มากขึ้นในครั้งถัด ๆ ไปครับเมื่อรู้รายละเอียดของเป้าหมายใหญ่แล้ว
ขั้นตอนต่อไปคือการย่อยเป้าหมายใหญ่มาเป็นจำนวนเงินที่ต้องเก็บออมรายสัปดาห์ ซึ่งสรุปบัญชีรายรับรายจ่ายที่ลูก ๆ ทำอยู่ทุก ๆ สัปดาห์จะช่วยให้เขาประเมินความสำเร็จของการออมได้อย่างดีครับ หากปัจจุบันลูกมีเงินเหลือเก็บอยู่ที่ 100 บาท/สัปดาห์ แต่เขาอยากได้ของเล่นชิ้นใหม่ ราคา 1,000 บาท ภายใน 4 สัปดาห์ หมายความว่าเขาต้องเก็บเงิน 250 บาท/สัปดาห์ ซึ่งจากพฤติกรรมปัจจุบันเขาจะทำตามเป้าหมายไม่สำเร็จ คุณพ่อคุณแม่ต้องค่อย ๆ สื่อสารแนวคิดสำคัญของการเก็บออมให้คุณลูกฟัง “หากลูกอยากซื้อของเล่น ลูกต้องเก็บเงินให้ได้มากขึ้น แล้วถ้าลูกเก็บเงินได้มากกว่า 250 บาท ลูกก็จะได้ของเล่นเร็วขึ้น แต่ถ้าลูกเก็บได้ไม่ถึง 250 บาท ลูกก็จะได้ของเล่นช้าลง”
โดยแผนการเพิ่มเงินออม คุณพ่อคุณแม่ก็นำตัวเลขเงินออมส่วนที่ขาด กับ สรุปรายรับรายจ่ายของลูกมาเป็นโจทย์ตั้งต้นเพื่อให้เขาวางแผนการออมได้ “ลูกต้องเก็บเงินเพิ่ม สัปดาห์ละ 150 บาทนะครับ ลูกคิดว่าทำได้มั้ย แล้วจะลดค่าใช้จ่าย หรือหาเงินเพิ่ม อย่างไรดี?” คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยไกด์ถึงวิธีการเพิ่มเงินเก็บ เช่น การลดค่าใช้จ่ายประเภทต่าง ๆ สิ่งที่เป็นของอยากได้แต่ไม่จำเป็นอย่าง ขนม หรือ การ์ตูน ลูกสามารถลดได้ก่อนและลดได้เยอะ แต่ สิ่งที่จำเป็นอย่าง ค่าอาหารกลางวัน เราไม่ควรลด หรือ ลดให้น้อยที่สุด หรือกระทั่ง การเพิ่มเงินรับ ด้วยการช่วยทำงานบ้านเพื่อแลกกับเงินที่คุณพ่อคุณแม่จะให้เพิ่ม เป็นต้น ซึ่งการแนะนำแนวทาง และ ตั้งคำถามเหล่านี้จะทำให้ลูกได้เรียนรู้การลำดับความสำคัญ และ การตัดสินใจ Trade-off ไปโดยอัตโนมัติ
และในลำดับสุดท้ายของการเก็บออมเงินเพื่อบรรลุเป้าหมาย คือ การลงมือทำ ซึ่งการสอนให้ลูกรู้จักการ “ออมก่อน ใช้ทีหลัง” จะทำให้โอกาสในการเก็บเงินได้ตามเป้าหมายเพิ่มขึ้นมาก ทีเดียวครับสำหรับเด็กแล้ว การยอมสละความสนุกสบายในปัจจุบันเพื่อเป้าหมายในอนาคตเป็นสิ่งที่ยากและขัดกับธรรมชาติของเขา ดังนั้น การสนับสนุนที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ ทั้งการพูดคุยถามไถ่ แนะนำแนวทาง และให้กำลังใจ จะทำให้เขาค่อย ๆ ฝ่าฟันจนสามารถบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ แล้วลูกของคุณจะค่อย ๆ เติบโต อย่างมีทักษะ และ ภูมิใจในตัวเองครับ
ขั้นตอนที่ 4 : เรียนรู้การให้และแบ่งปัน
เมื่อลูกของเราเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการเรื่องการเงินของตัวเองแล้ว สิ่งสำคัญสุดท้ายที่เราควรปลูกฝัง คือ ทัศนคติที่ถูกต้อง “ เงิน เป็นแค่เครื่องมือที่ช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก และสร้างความสุขให้เราได้ในบางเรื่อง แต่เงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต”การมัธยัสถ์เก็บออมเป็นเรื่องที่ดี แต่การตระหนี่ไม่ใช้เงินเลยไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เราสามารถใช้เงินซื้อความสุขเล็ก ๆน้อย ๆ เพื่อเป็นรางวัลชีวิตให้ตัวเองได้บ้าง อย่าง การท่องเที่ยว การซื้อเครื่องประดับสวย ๆ อีกทั้ง การลงทุนเพื่อสิ่งที่จะสร้างประโยชน์ให้กับตัวเราก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เช่น การเรียนเสริมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ การออกไปสังสรรค์พบปะผู้คนกลุ่มใหม่ ๆ ซึ่งเราสามารถจัดสรรเงินเพื่อใช้จ่ายสำหรับสิ่งเหล่านี้ได้ตามแต่กำลังทรัพย์ของแต่ละคน และที่สำคัญที่สุด คือ การรู้จักให้และแบ่งปัน เมื่อเรามีมากพอการเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะเป็น เงิน สิ่งของ หรือแม้กระทั่ง โอกาส สิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้ทำให้จำนวนเงินในกระเป๋าเราเพิ่มขึ้น แต่จะเพิ่มความสุขทางใจ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างให้สังคมของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้นครับการปลูกฝังเรื่องการเงินแก่ลูก ๆ เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ต้องใช้ทั้งความเอาใจใส่และเสียสละเวลาของคนเป็นพ่อแม่ แต่เชื่อได้เลยว่า ความรัก และความรู้ที่พ่อแม่ตั้งใจส่งผ่านให้กับลูกนี้ จะเป็นเสมือนเกราะคุ้มภัยที่คอยปกป้องเขาให้เติบโตได้อย่างมั่นคงแข็งแรงในโลกใบนี้อย่างแน่นอนครับสำหรับในบทความนี้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะสนับสนุนคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านปลูกฝังเรื่องการเงินให้แก่ลูก ๆ PeerPower มี “เครื่องมือบริหารการเงินสำหรับเด็ก” มาแบ่งปันกัน เครื่องมือนี้จะช่วยให้การวางแผนการเงินของเด็ก ทำได้อย่างสะดวกง่ายดาย และเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน สามารถคลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดไฟล์เลยครับ
_______________________________________________________________________
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว