The Basics

Working Capital กับ เทคนิคการบริหารจัดการ

by
August 6, 2019

เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินกิจการ ผู้ประกอบการควรศึกษาว่าเงินทุนหมุนเวียนคืออะไรและควรบริหารอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น

  • เงินทุนหมุนเวียน คือ เงินที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจก่อนได้รับเงินสดจากการขายสินค้าและบริการ หรือลูกหนี้การค้า ซึ่งมีความสำคัญกับธุรกิจ SME อย่างมาก เพราะเงินทุนหมุนเวียนเป็นเงินที่ใช้ทำให้กิจการดำเนินไปได้โดยไม่สะดุด
  • วิธีบริหารเงินทุนหมุนเวียนมี 5 วิธี ได้แก่ ขายสินค้าที่มีอยู่ในสต็อกเป็นเงินสดให้ได้ เลือกกลุ่มลูกค้าในการให้เครดิต สร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้การค้าชำระเงินเร็วขึ้น ขอเครดิตการค้าจากคู่ค้าทางธุรกิจ และระดมทุนคราวด์ฟันดิงเพื่อรักษาสภาพคล่อง

เงินทุนหมุนเวียน คืออะไร เราควรบริหารอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจราบรื่น

ในการดำเนินธุรกิจ เงินทุนหมุนเวียนมีความสำคัญมากครับ เพราะเกี่ยวข้องกับความคล่องตัวของกิจการ ยิ่งมีเงินทุนหมุนเวียนดี โอกาสในการเติบโตของธุรกิจก็จะมากตามไปด้วย แต่ถ้าเงินทุนหมุนเวียนไม่ดีขึ้นมาเมื่อไหร่ การจะเติบโตหรือขยายกิจการก็อาจติด ๆ ขัด ๆ ได้ เพราะไม่มีทุนในการเพิ่มกำลังการผลิตนั่นเอง ในส่วนนี้ผู้ประกอบการหลายคนอาจจะเริ่มคิดแล้วว่า จะมีวิธีไหนบ้างที่จะจัดการกับเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการพิจารณาสินเชื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้บ้าง เพียร์ พาวเวอร์ มีคำแนะนำตามนี้เลยครับ

เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) คืออะไร

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คงพอจะเข้าใจว่าเงินทุนหมุนเวียนคืออะไรใช่มั้ยครับ ในบทความนี้เพียร์ พาวเวอร์จะพูดถึงเงินทุนหมุนเวียนในทางการทำบัญชีหรือการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งหมายถึง เงินทุนที่ต้องสำรองไว้ใช้สำหรับดำเนินกิจการก่อนได้รับเงินสดจากการขายสินค้าและบริการ รวมถึงการชำระหนี้จากลูกหนี้การค้าครับ

ลูกหนี้การค้าคือใคร เขาคือลูกค้าที่ซื้อสินค้าของเรา รับของไปแล้ว แต่ยังไม่ถึงกำหนดจ่ายเงิน ผู้ประกอบการน่าจะคุ้นเคยกับการขอเครดิต หรือถ้าเป็นภาษาโบราณหน่อยจะเป็นการขอเชื่อไว้ก่อนแล้วจะจ่ายทีหลังนั่นเอง

ในการทำธุรกิจหลายประเภทเราหลีกเลี่ยงไม่ให้มีลูกหนี้การค้าไม่ได้ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการยังคงมีเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัทดี ผู้ประกอบการต้องบริหารสัดส่วนของลูกหนี้การค้าให้ดีครับ เพราะระหว่างที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้นั้นหมายถึงเงินในธุรกิจของเราเองที่ต้องเสียไปในกระบวนการผลิตนั่นเอง

เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) มีข้อดีอย่างไร

ถ้าผู้ประกอบการสามารถบริหารเงินทุนหมุนเวียนได้อย่างดี จะช่วยให้ธุรกิจมีเงินเพียงพอในการซื้อสินค้าเพื่อนำมาขายและมีเงินในการชำระคืนเจ้าหนี้การค้าหรือสถาบันการเงินอื่น ๆ ได้ตรงตามเวลา รวมถึงรักษาสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจอีกด้วยครับ

ควรบริหารเงินทุนหมุนเวียนอย่างไรเพื่อลดโอกาสเกิดปัญหา

เพื่อลดโอกาสเกิดปัญหาธุรกิจติดขัด ผู้ประกอบการควรบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้ดี ทั้งด้านการขายสินค้า และการบริหารลูกหนี้การค้าให้รายรับที่เข้ามามีความสมดุลกับต้นทุนในการบริหารธุรกิจนั่นเอง ซึ่งทำได้หลายวิธีเลยครับ

1. ขายสินค้าที่มีอยู่ในสต็อกเป็นเงินสดให้ได้

การขายสินค้าที่อยู่ในสต็อกเป็นเงินสด จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้ไว้ใช้ในการดำเนินการธุรกิจต่อไปครับ แต่ถ้าหากไม่สามารถทำได้ สินค้าก็จะค้างสต็อกซึ่งเสี่ยงต่อการเสียเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ดังนั้นผู้ประกอบการควรวางแผนการตลาดเพื่อให้สินค้าของเราเกิดการซื้อขายด้วยเงินสดมากที่สุดนะครับ

2. เลือกกลุ่มลูกค้าในการให้เครดิต

การให้เครดิตกับลูกหนี้การค้ามีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ได้ครับ แต่สำหรับคู่ค้าที่ทำธุรกิจด้วยกันมานานแล้ว การขอเครดิตก่อนแล้วจ่ายทีหลังเป็นเรื่องธรรมดา เพราะผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ก็ต้องการบริหารสภาพคล่องทางการเงินทั้งนั้น การให้เครดิตกับคู่ค้าจึงเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการซื้อขายด้วยกันต่อเนื่องอีกทางหนึ่ง

แต่ในอีกด้านผู้ประกอบการควรเลือกให้ดีว่าธุรกิจของเราสามารถให้เครดิตกับคู่ค้าได้มากน้อยอย่างไร ที่จะไม่ทำให้กิจการของเราขาดเงินทุนหมุนเวียนจนติดขัดเสียเอง การเลือกจะให้เครดิตกับลูกค้ารายไหนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนมากแล้วผู้ประกอบการมักเลือกให้เครดิตกับลูกค้าที่มีประวัติการซื้อขายด้วยกันมาตั้งแต่ 6 เดือน - 2 ปี และไม่มีประวัติการผิดนักชำระหนี้ครับ

3. สร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้การค้าชำระเงินเร็วขึ้น

การจ่ายช้าหรือไม่จ่ายของคู่ค้าก็ส่งผลต่อธุรกิจของเราได้เช่นกันครับ ดังนั้นสำหรับธุรกิจที่มีลูกหนี้การค้า ผู้ประกอบการจึงต้องพยายามให้คู่ค้าชำระเงินให้ตรงเวลา ซึ่งเพียร์ พาวเวอร์เคยเห็นก็มีอยู่หลายวิธี เช่นการทำข้อเสนอหรือเงื่อนไขพิเศษบางอย่าง ให้ส่วนลดกับลูกหนี้ 1 - 2% ถ้าชำระหนี้เร็วขึ้น เป็นต้น

5 วิธีบริหารเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจ
5 วิธีบริหารเงินทุนหมุนเวียน

4. ขอเครดิตการค้าจากคู่ค้าทางธุรกิจ

นอกจากจะเป็นผู้ให้เครดิตแล้วผู้ประกอบการยังเป็นลูกหนี้การค้าเองได้ด้วยครับ ด้วยหลักการเดียวกัน คือขอสินค้ามาผลิตก่อนแล้วจ่ายทีหลัง เป็นข้อดีแง่การบริหารเงินทุนหมุนเวียน เพราะยังไม่ต้องเอาเงินในธุรกิจของตัวเองไปใช้ ทำให้มีเวลาในการบริหารกระแสเงินสด เมื่อผู้ประกอบการเป็นลูกหนี้การค้าเสียเอง ก็ต้องมีวินัยในการจ่ายหนี้เพื่อรักษาเครดิตด้วยนะครับ

5. ระดมทุนคราวด์ฟันดิงเพื่อรักษาสภาพคล่อง

คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) คือ การระดมทุนจากผู้ลงทุนหลายๆ คน เพื่อสนับสนุนโครงการ หรือ ธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ โดยจะระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้ธุรกิจและนักลงทุนสามารถเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น การระดมทุนจะช่วยให้เรามีเงินดำเนินกิจการต่อไปได้ครับ ซึ่งผู้ประกอบการควรคำนึงว่าบริษัทของตน เหมาะสมกับคราวด์ฟันดิงไหม เพราะว่าการระดมทุนคราวด์ฟันดิงจะคิดค่าดอกเบี้ยแตกต่างกันไปตามแพลตฟอร์มครับ

เพียร์ พาวเวอร์ ให้บริการคราวด์ฟันดิงสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มสภาพคล่อง โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่ 8-22% และมีระยะเวลาชำระอยู่ที่ 6-24 เดือน ผู้ประกอบการที่สนใจลองปรึกษาเพียร์ พาวเวอร์ได้เลยครับ

เงินทุนหมุนเวียนมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมาก ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรบริหารเงินให้เพียงพอต่อการชำระค่าสินค้าและหนี้สินต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น

ถ้าผู้ประกอบการ จดทะเบียนบริษัทมากกว่า 2 ปีขึ้นไปและกำลังมองหาเงินทุนหมุนเวียน เพียร์ พาวเวอร์ เป็นผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง​เจ้าแรกในไทยที่ได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต. และเราเป็นผู้ให้บริการที่พร้อมให้คำปรึกษาเสมอ

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร