Yield Curve อ่านได้ เข้าใจภาพรวมเศรษฐกิจ
ในการเลือกถือหุ้นกู้ที่มีอยู่มากมายในตลาด นักลงทุนจะพิจารณาจากช่วงผลตอบแทน หรือที่เรียกว่า Yield Curve ซึ่งจะสัมพันธ์กับระยะเวลาในการถือครองและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งถูกกำหนดโดยรัฐบาลและแรงกดดันจากตลาดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ผลสะท้อนที่เห็นได้จาก Yield Curve ไม่ได้มีเพียงผลตอบแทนที่จะได้รับเท่านั้น แต่ยังช่วยให้นักลงทุนสามารถมองเห็นทิศทางเศรษฐกิจ ที่ช่วยลดความเสี่ยงทางการลงทุน รวมถึงการบริหารสินทรัพย์ในพอร์ตโฟลิโอได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Yield Curve คืออะไร
PeerPower เคยเล่าถึงทั้งหุ้นกู้ และ Yield to Maturity ไปแล้วในบทความก่อนหน้า แต่ยังไม่ได้เจาะลึกในส่วนของช่วงผลตอบแทน หรือ Yield Curve ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะบอกได้ว่าหุ้นกู้นั้นให้ผลตอบแทนในแต่ละช่วงเวลาเป็นอย่างไร
ค่า Yield นี้จึงอิงอยู่กับอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อในอนาคตของแต่ละช่วงเวลา ซึ่งระยะเวลาถือครองหุ้นกู้ มีตั้งแต่ระยะสั้นคือไม่เกิน 90 วัน ไปจนถึงถือครองเป็นระยะเวลานับ 10 - 30 ปี ซึ่งทั้ง 2 อัตราขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกัน
อัตราดอกเบี้ย
อัตราดอกเบี้ยจะถูกกำหนดด้วยธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ เช่นธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ควบคุมอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ถ้าประชาชนมีอัตราการยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารในอัตราต่ำ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้คนในประเทศเกิดการออม รวมไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยวิธีอื่นๆ เช่นออกพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้นซึ่งอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้จะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและพันธบัตรรัฐบาลเสมอ เพราะมีความเสี่ยงมากกว่า ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยธนาคารนี้จะเป็นตัวกำหนด Yield Curve ของหุ้นกู้ระยะสั้น เพราะถ้าธนาคารดึงอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานเกินไป จะเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น
อัตราเงินเฟ้อ
ในเมื่ออัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากหุ้นกู้ เป็นการเสนอซื้อขายด้วยค่าเงินในปัจจุบัน และมีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะมีความเปลี่ยนแปลงไปจากราคาซื้อขายในปัจจุบัน ถ้าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากดอกเบี้ยจะยิ่งน้อยลง โดยมีความเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ถูกตั้งโดยธนาคารในปัจจุบัน จะเป็นอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ด้วยวิธีการนี้ เงินเฟ้อในอนาคตจึงจะไม่มีทางสูงไปกว่าอัตราผลตอบแทนจากหุ้นกู้ อัตราผลตอบแทน หรือ Yield Curve ในหุ้นกู้ระยะยาว จึงต้องดูจากส่วนนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจ
Yield Curve มีกี่แบบ อะไรบ้าง
หน้าตาของ Yield Curve คือกราฟที่อิงกับระยะเวลาในการถือครองและอัตราผลตอบแทน ที่แตกต่างกันตามปัจจัยทั้ง 2 ด้าน ซึ่งรูปแบบของ Yield Curve แบ่งออกได้เป็น 4 แบบใหญ่ ๆ คือ
Normal Yield Curve ช่วงผลตอบแทนปกติ
เป็น Yield Curve ที่เริ่มจากอัตราผลตอบแทนน้อยแล้วเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงจุดหนึ่งแล้วจะราบเรียบเท่าเดิมเป็นผลตอบแทนคงที่ไปจนครบกำหนดระยะเวลาการไถ่ถอน จะพบค่า Yield ในลักษณะนี้ได้ในหุ้นกู้ระยะสั้น โดยมีข้อสังเกตุว่า หุ้นกู้ระยะยาวจะมีช่วงผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นกู้ระยะสั้นเสมอ เพราะนักลงทุนต้องบวกความเสี่ยงและอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย
Steep Yield Curve ช่วงผลตอบแทนมีความชัน
Yield Curve ของหุ้นกู้ลักษณะนี้มองเผินๆ จะคล้ายกับ Normal Yield Curve แต่มีจุดต่างที่สำคัญ 2 จุดคือ 1. มันจะเชิดขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีจุดสิ้นสุด และ 2. สูงกว่าค่า Yield ปกติในทุกช่วงค่าตอบแทน ซึ่งหุ้นกู้ที่มีลักษณะนี้ จะเป็นหุ้นกู้ที่เกิดขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจเติบโตไปในทางบวกและเป็นไปในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงตามไปด้วย
Hump Yield Curve ช่วงผลตอบแทนแบบหลังเขา
คือค่า Yield ที่เริ่มด้วยอัตราที่ต่ำ แล้วสูงขึ้นมาระยะหนึ่งก่อนจะลดลง และอยู่ในช่วงผลตอบแทนคงตัว ช่วงที่ทอัตราผลตอบแทนพุ่งขึ้นมักจะอยู่ในช่วงเวลา 6 เดือน - 1 ปี มักเป็นหุ้นกู้ทั่วไปที่มีราคาซื้อขาย รวมถึงอัตราผลตอบแทนไม่ต่างจากหุ้นกู้ตัวอื่นในตลาด
Flat Yield Curve ช่วงผลตอบแทนแบบราบเรียบ
ค่า Yield ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในผลตอบแทนไม่ว่าจะถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ หรือถือในระยะยาว Yield ลักษณะนี้จะบอกถึงเศรษฐกิจที่มีความสมดุล
Inverted Yield Curve ช่วงผลตอบแทนแบบลาดลง
คิดภาพว่าเป็น Yield Curve ที่ตรงกันข้ามกับ Yield แบบมีความชัน เพราะช่วงผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่มี Yield ประเภทนี้จะเป็นผลตอบแทนที่สูงสุดตอนแรกแล้วค่อยๆ ลดลงจนคงที่ในปีหลังๆ มักพบได้ในหุ้นกู้ระยะยาว
ซึ่งค่าผลตอบแทนจะเป็น Yield ประเภทใด นักลงทุนจะสามารถพิจารณาได้จากหนังสือชี้ชวนการลงทุน (Fact Sheet) ของการเสนอขายหุ้นกู้นั้นๆ และจะสามารถคำนวณผลตอบแทนในแต่ละช่วงเพื่อประกอบการตัดสินใจได้
Yield Curve เปลี่ยนแปลงได้ด้วยปัจจัยใดบ้าง
ตามที่เพียร์ พาวเวอร์เล่าไว้ข้างต้นว่าอัตราผลตอบแทนจากหุ้นกู้นั้น มีความเกี่ยวพันกับระบบเศรษฐกิจทั้งระบบด้วย ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อ Yield Curve มีทั้งหมด 4 ปัจจัยสำคัญ
เศรษฐกิจระดับมหภาค
ทิศทางการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ หากเป็นไปในทิศทางบวก เศรษฐกิจดี มีแนวโน้มการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่ดี ช่วงผลตอบแทนในขณะนั้นย่อมมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ในทางกลับกัน ถ้าเศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี การปล่อยกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้เพียงระยะสั้นๆ หุ้นกู้ระยะยาวก็จะมีช่วงผลตอบแทนที่ไม่ดีตามไปด้วย
อัตราเงินเฟ้อ
เพียร์ พาวเวอร์ กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าอัตราเงินเฟ้อมีผลต่อค่า Yield Curve ของหุ้นกู้โดยตรง เพราะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับ ยิ่งอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นผลตอบแทนที่เป็นอัตราคงตัวจะยิ่งลดน้อยลงตามไปด้วย
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP)
เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ถ้าประชาชนมีเงินมาก เกิดการใช้จ่าย ขอสินเชื่อมาก เท่ากับว่ามีเงินหมุนเวียนในระบบมากตามไปด้วย การให้ผลตอบแทนจากหุ้นกู้ก็จะให้ได้ตามอัตราการเติบโตของเงินในระบบตามไปด้วย
ดุลการค้า
นอกจากจะเกี่ยวข้องกับค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแล้ว ดุลการค้ายังส่งผลต่อช่วงผลตอบแทนของหุ้นกู้ เพราะหมายถึงแรงดึงดูดต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้จากต่างประเทศ และเงินที่จะแลกเปลี่ยนกันระหว่างประเทศด้วยซึ่ง Yield Curve จะเปลี่ยนรูปร่างไปตามสิ่งเกิดขึ้นกับปัจจัยทั้ง 4 ตัวที่กล่าวมา นักลงทุนจะคาดเดาได้ไม่ยากเลยว่าหุ้นกู้มี่ตนถืออยู่นั้นมีแนวโน้มจะออกมาเป็น Yield ในรูปแบบใด ทำให้คาดการณ์การลงทุนและระยะเวลาในการถือหุ้นกู้แต่ละตัวได้ไม่ยากเลย
Yield Curve กับการคาดการณ์เศรษฐกิจและการลงทุน
เราใช้ Yield Curve ของหุ้นกู้เพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลายประเภท เพราะผลตอบแทนของหุ้นกู้ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ย ที่กำหนดโดยรัฐบาลเพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ และเช่นเดียวกันมันย่อมสอดคล้องกับกลไกทางเศรษฐกิจที่ต้องถูกควบคุมให้เกิดสมดุล ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์อื่นๆ อัตราการขึ้นลงของผลตอบแทนจากสินทรัพย์เหล่านั้น จะขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยเสมอ
ในขณะเดียวกันเราสามารถใช้ Yield Curve ในการวางแผนใช้จ่าย หรือวางแผนสภาพคล่องทางการเงินได้ด้วย เพียร์ พาวเวอร์ ขอเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัด เช่น ถ้าเราจะซื้อบ้านในปีนี้ แต่พบว่าตราดอกเบี้ยบ้านต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายปีย้อนหลัง รวมทั้งภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปในทิศทางบวก ตามกลไกทางเศรษฐกิจ ธนาคารไม่สามารถตรึงดอกเบี้ยให้ต่ำแบบนี้ในระยะยาวได้ เพราะจะเกิดอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น นั่นหมายความมว่าในอีกไม่เกิน 1 - 2 ปีข้างหน้าดอกเบี้ยบ้านต้องเพิ่มสูงขึ้นมากแน่นอน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า Yield Curve มีประโยชน์ไม่น้อย เพราะทำให้เห็นภาพรวมเศรษฐกิจและทำนายการลงทุนในอนาคตได้เป็นอย่างดี การเข้าใจ Yield Curve จึงไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะกับนักลงทุนเท่านั้น แต่เป็นประโยชน์โดยรวมสำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนการใช้เงินทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย
_______________________________________________________________________
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว